Follow us on

ทำความรู้จักกับเอกภาษาไทยแบบปัง ๆ กับพี่ออมสิน รุ่นพี่ปี 1 จากคณะศิลปศาสตร์ มหิดล

วันที่โพสต์
“เป็นการเรียนเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ ทั่วไปที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเราทุกคนมีการสื่อสารกับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะใช้อย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม ความรู้ที่ได้มาตรงนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้จริงในการทำงานในอนาคตได้ค่ะ”
“วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ประยุกต์และนำมาบูรณาการเพื่อเราสามารถนำไปใช้ได้ค่ะ เช่นวิชาการสื่อสารเชิงธุรกิจ ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน ภาษาไทยเพื่อการนำเที่ยว และพวกวิชาการพูดในแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนเรียนวิชาของคณะนิเทศศาสตร์ผสมอยู่ด้วยค่ะ ซึ่งมันมีความหลากหลายมาก ๆ”
– พี่ออมสิน ศิลปศาสตร์ มหิดล –

กลับมาอีกครั้งกับรุ่นพี่รีวิวววว <3 วันนี้เอาใจสายศิลป์กันบ้าง เพราะว่าวันนี้รุ่นพี่รีวิวได้พาพี่ออมสิน พี่ปี 1 จากคณะศิลปศาสตร์ มหิดล มาแนะนำเอกภาษาไทยแบบปัง ๆ ให้น้อง ๆ ได้รู้จักคณะและสาขานี้มากเพิ่มขึ้น พร้อมวิธีการเตรียมตัวสอบเข้าคณะนี้ของพี่ออมสิน ที่บอกได้เลยว่า ห้ามพลาดเด็ดขาด !!!! เกริ่นมาขนาดนี้ น้อง ๆ คงอดใจไม่ไหวที่จะอ่านแล้ว ถ้าอย่างงั้นก็ไปอ่านกันเลย !!!

แนะนำตัวสั้นๆ ให้น้อง ๆ ได้รู้จักหน่อย ชื่ออะไร ตอนนี้เรียนอยู่ที่ไหน

สวัสดีค่า พี่ชื่อ ออมสิน จบมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ค่ะ ตอนนี้เรียนอยู่ที่คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ค่า

ทำไมพี่ออมสินถึงอยากเข้าคณะนี้ แล้วพี่ออมสินมีวิธีการหาตัวเองยังไงบ้าง ช่วยแชร์ให้น้อง ๆ ฟังหน่อย

ตัวของออมเองปกติตอนมัธยมเป็นคนชอบเรียนวิชาภาษาไทยอยู่แล้ว แล้วก็มีโอกาสได้แข่งทักษะเกี่ยวกับด้านนี้หลาย ๆ อย่าง แล้วตัวเองก็อยู่ในชุมนุมประชาสัมพันธ์ด้วยค่ะ ก็ได้ใช้ทักษะทางด้านภาษาไทยเยอะมาก ตอนนั้นเราก็สับสนนะคะว่า เราชอบในภาษาไทยจริงไหมหรือแค่ชิน แต่สุดท้ายก็พบว่า เมื่อเราเทียบกับการที่เราเรียนหลาย ๆ วิชา ไม่ว่าจะเป็นพวกวิชาวิทยาศาสตร์หรือคณิต ตอนเรียนเราไม่ได้มีความสุขหรือเอนจอยไปกับมันเลย ลองหาข้อสอบที่จะเข้าพวกคณะวิทย์ทำ เราก็หมดไฟมาก ไม่เคยตั้งใจเลย แต่พอเรียนพวกวิชาภาษาเราก็รู้สึกมีความสุขมากกว่า ตอนไปแข่งก็เอออยากจะได้โอกาสตรงนั้นแล้วเราก็พยายามเต็มที่ตลอด มีงานพิธีกรหรือกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับทักษะภาษาไทยเราก็สนใจที่จะทำมาตลอด เราก็เลยปักไว้เลยว่า คงต้องคณะเป็นสายภาษา เพราะเราอยากทำงานเกี่ยวกับด้านการสอนภาษา ไม่ก็สายสื่อสารมวลชนด้วย ตอนก่อนจะยื่นก็ดูไว้หลายคณะเหมือนกันค่ะ พวกครุศาสตร์  มนุษยศาสตร์ วารสาร แต่สุดท้ายแล้ว คณะศิลปศาสตร์ ก็คงจะตอบโจทย์ในสิ่งที่เราอยากจะเรียนรู้มากที่สุดเลยเลือกคณะนี้ค่ะ เพราะเราสนใจเกี่ยวกับทักษะการสื่อสารของภาษาไทย แล้ววิชาที่เรียนในคณะนี้เป็นการศึกษาที่กว้างมากเลยค่ะ จะยิ่งทำให้เราเห็นตัวตนของเราชัดขึ้นว่า เราชอบอะไรหรืออยากจะทำงานอะไร

อยากรู้ว่า ในช่วงที่เรา ม.6 เรามีวิธีการหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะต่าง ๆ ยังไง

อย่างแรกคือ เราต้องรู้ก่อนค่ะว่าเรามีความสนใจในด้านไหนอยากทำงานด้านอะไร แล้วความสนใจของเรานั้นอยู่ในคณะอะไรบ้าง เราก็ศึกษาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเลยค่ะ อ่านกระทู้ของรุ่นพี่ที่เรียนว่าแต่ละคณะเรียนแบบไหนจบมาแล้วทำอะไร พอเราเลือกคณะได้ เราก็มาเสิร์ชหาข้อมูลต่อเลยค่ะ ว่ามหาลัยไหนมีคณะนี้บ้าง มีเกณฑ์อะไรในรอบไหน หลักสูตรเป็นอย่างไร ก็จะมีเว็บไซต์และ แอปพลิเคชันต่าง ๆ คอยรวบรวมข้อมูลให้เราค่ะ กับออมเองก็มีถามรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่โรงเรียนด้วยค่ะ 

พี่ออมสินสอบเข้ามาด้วยรอบไหน มีสัดส่วนคะแนนยังไงบ้าง

เข้ามาด้วยรอบ 1 ค่าเป็นรอบ Portfolio คะแนนที่ใช้ก็คือ GPAX (เกรดเฉลี่ยรวม) มากกว่าหรือเท่ากับ 3.00 GPA ของวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 3.00 ทั้ง 3 วิชา แล้วก็ต้องมีหลักฐานแสดงความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย ระดับเขต ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับชาติ (อย่างน้อย1รางวัล) และสอบสัมภาษณ์ ค่ะ

แล้วเรามีวิธีการหาข้อมูลเรื่องการสอบต่าง ๆ ยังไงบ้าง ในช่วงที่เรา ม.6 

อย่างแรกคือ ต้องทราบก่อนค่ะว่าเราจะเข้าคณะอะไรในรอบไหน เพราะแต่ละรอบก็ใช้สัดส่วนของคะแนนแตกต่างกันและวิชาที่สอบก็แตกต่างกัน แล้วตัวเราเหมาะที่จะเข้ารอบไหน แต่ละวิชานั้นสอบช่วงไหน เปิดให้สมัครวันไหนเราก็ต้องคอยติดตามเพจหรือเว็บไซต์ที่ลงพวก TCAS หรือเพจทางมหาวิทยาลัยไว้ค่ะ  อย่างของออมคือ ออมมีผลงานตรงกับเกณฑ์ในรอบที่ 1 อยู่แล้วเลยเลือกรอบนี้ค่ะ หลังจากนั้นออมก็หาดูวิธีในการทำ Portfolio ต่าง ๆ ในเว็บไซต์หรือเพจค่ะ แล้วมาปรับให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด (แต่ออมเองก็ลงสอบพวก GAT PAT วิชาสามัญด้วยค่ะ ถึงเราจะตั้งใจยื่นรอบแรกก็ตาม แต่ก็ควรสมัครไว้ด้วยนะคะเผื่อเป็นแผนสำรองหากเกิดไม่ติดรอบแรกหรือเราเปลี่ยนใจไปสมัครในรอบต่อไปต่อค่ะ)

พี่ออมสินมีเคล็ดลับหรือเทคนิคในการเตรียมตัวสอบยังไงบ้าง

สิ่งแรกที่อยากจะบอกเลยก็คือ ยิ่งเรารู้ตัวเร็วว่า อยากทำงานสายไหนหรือเข้าคณะที่อยากเข้าได้ไวแล้ว เรายิ่งจะได้เปรียบค่ะ เพราะเราจะมีเวลาในการเตรียมตัวได้มากกว่า และควรศึกษาเกณฑ์ต่าง ๆ ของแต่ละคณะไว้เนิ่น ๆ เพราะว่าเราจะได้อ่านสอบวิชาที่ได้ใช้สอบจริง ๆ ได้ถูกจุดและไวค่ะ เราก็โฟกัสตรงวิชานั้นไปเลย ก็หาข้อสอบเก่า ๆ ทำไปเรื่อย ๆ จะได้ชินค่ะ แต่ถ้าอยากยื่นรอบพอร์ตเหมือนเรา ก็เมื่อรู้เกณฑ์แล้วเราก็เตรียมตัวหาผลงานไว้เลยค่ะ ถ้าขาดเหลือตรงไหนจะได้มีเวลาเตรียมตัวทำหรือเตรียมผลงานได้ทันค่ะ เพราะยิ่งรู้เร็วก็เป็นผลดีต่อเราในการสะสมผลงานในด้านนั้นค่ะ แล้วเราก็ลองหาวิธีทำพอร์ตเเล้วเตรียมออกแบบไว้เลยค่ะ จะได้ไม่กดดันในการทำพอร์ต แล้วตอนที่ออมยื่นพอร์ตก็ยื่นไปหลายที่ค่ะ ก็อิงใช้ไฟล์พอร์ตไฟล์เดิม แล้วมาเปลี่ยนสีเปลี่ยนแบบให้ตรงกับเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยค่ะ ก็จะช่วยประหยัดเวลาในการทำได้ค่ะ แล้วก็เตรียมตัวลิสต์คำถามในรอบสอบสัมภาษณ์ไว้รอค่ะ ลองหาในอินเตอร์เน็ตหรือถามรุ่นพี่ดูแล้วก็ลองซ้อมสอบสัมภาษณ์ค่ะจะได้ไม่ลน

คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย มหิดล เค้าเรียนอะไรบ้าง อยากให้เล่าให้ฟังหน่อย

ถ้าวิชาบังคับของคณะก็จะมีเรียนเกี่ยวกับ ทักษะการเรียนรู้สาระสนเทศต่าง ๆ ปรัชญา อารยธรรมประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน การฟังพูดอ่านเขียน แล้วก็มีวิชาเรียนรวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วยนะคะในปี 1 ส่วนวิชาเอกมีเรียนเกี่ยวกับภาษาไทยเข้มข้นเลยค่ะ หลักของภาษา สัทศาสตร์ การใช้ภาษาในรูปแบบต่าง ๆ คติชน วรรณกรรม วรรณคดี เรียนเกี่ยวกับด้านสื่อสารมวลชน แล้วก็ภาษาไทยเพื่อการประยุกต์ในแขนงต่าง ๆ อีกมากเลยค่ะ พอเราขึ้นปี 2 ก็สามารถเลือกวิชาโทได้ด้วยค่ะ ทางคณะก็มีวิชาโทภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา การละคร ภาษาอังกฤษ (สำหรับเด็กเอกไทย) และโทภาษาไทย (สำหรับเด็กเอกอังกฤษ) ค่ะ เราก็จะได้เรียนวิชาโทที่เราเลือกได้ลึกขึ้นค่ะ แล้วก็สามารถเลือกวิชาเสรีที่เราอยากจะลงเพิ่มเติมเองได้ด้วยค่ะ

ในความคิดของพี่ออมสินคิดว่า จุดเด่นของคณะและสาขาของเราคืออะไร

จุดเด่นของคณะนี้คือ เรียกว่า เป็นการเรียนเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ ทั่วไปที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเราทุกคนมีการสื่อสารกับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะใช้อย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม ความรู้ที่ได้มาตรงนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้จริงในการทำงานในอนาคตได้ค่ะ ส่วนคณะและสาขานี้ของมหาวิทยาลัยมหิดลจะมีความแตกต่างจากที่อื่นและเป็นจุดเด่นก็คือ วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ประยุกต์และนำมาบูรณาการเพื่อเราสามารถนำไปใช้ได้ค่ะ เช่นวิชาการสื่อสารเชิงธุรกิจ ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน ภาษาไทยเพื่อการนำเที่ยว และพวกวิชาการพูดในแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนเรียนวิชาของคณะนิเทศศาสตร์ผสมอยู่ด้วยค่ะ ซึ่งมันมีความหลากหลายมาก ๆ และมีวิชาโทให้เราเลือกได้หลายแขนงได้ตามความสนใจของเราค่ะ

มีวิชาไหนที่พี่ออมสินประทับใจมาก ๆ มั้ย อยากให้แชร์ให้น้อง ๆ ฟังหน่อย

ตอนนี้ชอบวิชา อาหารกับวัฒนธรรม (Food and Culture)  ค่ะ จะเรียนเกี่ยวกับคติชน ความเชื่อและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันเลยค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจมองข้ามได้ว่าทำไมอาหารชนิดนี้ถึงชื่อว่าแบบนี้เพราะอาจจะมีตำนานหรือความเชื่อในอดีตถึงชื่อนี้หน้าตาอาหารเลยเป็นแบบนี้ มันทำให้เรามองเห็นสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ผ่านข้อมูลอาหารได้ค่ะ แล้วก็สามารถนำองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์เรื่องราวของอาหารเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ค่ะ เป็นวิชาที่น่าสนใจและแปลกใหม่มากสำหรับออมค่ะ

อยากรู้ว่า คณะและสาขานี้ จบไปแล้วเราสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง

แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆค่ะ คือ

1.กลุ่มนักวิชาการและการสอน : นักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์ ติวเตอร์ ผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ

2.กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านการสื่อสารและอาชีพอิสระ : เลขานุการ นักประชาสัมพันธ์ นักสื่อสารการตลาด

3.กลุ่มสื่อและนักสร้างสรรค์เนื้อหา : นักเขียน นักพูด ผู้ประกาศ นักข่าว บรรณาธิการ นักสร้างสรรค์เนื้อหา

จะเห็นได้ว่าเรียนคณะนี้ไปได้หมดทุกอาชีพเลยค่ะ อยู่ที่เราจะนำทักษะความรู้ที่เราได้เรียนมานำมาต่อยอดได้อย่างไรค่ะ

อยากให้แชร์ประสบการณ์ให้น้อง ๆ ฟังหน่อยว่า ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโรคโควิด 19 อยู่ คณะและสาขาของเรา มีการปรับการเรียนการสอนยังไงบ้าง

ช่วงนี้ออมก็เรียนออนไลน์ 100% เลยค่ะ เนื่องจากว่าสถานการณ์การระบาดยังหนักอยู่ แต่ก็เรียนไม่หนักมากค่ะ สามารถแบ่งเวลาทำงานเวลาเรียนเวลาพักผ่อนได้ค่ะ แต่ถ้าสมมติสถานการณ์ดีขึ้นทางคณะก็จะปรับเรียนเป็นแบบผสมผสานให้ในเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ด้วยค่ะ

สุดท้ายนี้ อยากให้ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะและสาขานี้หน่อย

สุดท้ายแล้วก็อยากจะบอกว่า บางคนอาจจะเพิ่งรู้ว่าทางมหาวิทยาลัยมหิดลมีคณะสายภาษาอยู่ด้วย ตอนนี้ทางคณะก็เปิดสอนอยู่ทั้งหมด 3 สาขาวิชาเอกนะคะ คือ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาน้องใหม่ คือ สาขาวิชาภาษาจีน (หลักสูตรนานาชาติ) ถ้าสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์คณะ https://la.mahidol.ac.th/education/ นะคะ ตึกคณะสวยงามมากน่าเรียนสุด ๆ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยมหิดลก็ร่มรื่น เพื่อน ๆ รุ่นพี่และอาจารย์ทุกท่านก็เป็นกันเองและน่ารักใจดีกันหมดเลย และถ้าใครสนใจในสาขาไทยก็อยากจะบอกน้อง ๆ ว่า ไม่ต้องลังเลที่จะเลือก ถ้าหากชอบแล้วก็ให้มุ่งมั่นเข้าเรียนตามสิ่งที่เราสนใจไว้ เพราะสุดท้ายเเล้วเราก็เป็นผู้เรียนเอง เมื่อตั้งใจแล้วก็หาข้อมูลในการสอบเข้าและศึกษาข้อมูลว่า ต้องใช้คะแนนสอบตัวไหนบ้างหรือรอบพอร์ตมีเกณฑ์อย่างไร แล้วก็เตรียมตัวเตรียมใจในการสอบเข้าให้เต็มที่นะคะ เราจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจและเสียดายทีหลังว่าเราทำไม่ดีพอ  แล้วสุดท้าย ๆ จริงก็อยากจะบอกว่าพี่เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนะคะ รู้ว่าเหนื่อยแต่ขอให้อดทน ความสำเร็จตามที่หวังของเรารออยู่ เป็นกำลังใจให้นะคะ

ทั้งหมดนี้คือบทสัมภาษณ์ของพี่ออมสิน พี่ปี 1 จากคณะศิลปะศาสตร์ มหิดล คิดว่าบทความนี้คงทำให้น้อง ๆ ได้รู้จักเอกภาษาไทยของคณะนี้อย่างมากขึ้นแน่นอน คอนเฟิร์ม !!! และสำหรับน้อง ๆ คนไหนที่มีความสนใจที่จะเข้าคณะและสาขานี้แบบพี่ออมสินล่ะก็ รีบเตรียมและสะสมผลงานรอได้เลย !!! เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนนะ ถ้ารู้สึกเหนื่อยก็พักบ้างนะ สู้ ๆ <3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

362 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

1,490 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

1,934 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

90,466 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

4,240 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

3,552 views