Follow us on

เจาะลึกสาขาวัสดุศาสตร์กับพี่ปอนด์ รุ่นพี่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันที่โพสต์
สำหรับสาขานี้เราจะได้เรียนคล้าย ๆ กับคณะวิศวกรรมวัสดุ
ซึ่งหมายถึงว่าเราจะทำงานเทียบเท่าวิศวะได้ในหลาย ๆ สาย คณะวิทย์วัสดุ เลยทำได้หลายแนว เช่น สายวิจัยในห้องแลป, สายที่ทำงานตามศูนย์วิจัยวัสดุต่าง ๆ หรือสายโรงงงานอุตสาหกรรม

จุดที่พิเศษมาก ๆ ของสาขานี้คือ การที่เราได้ทดลอง และศึกษาเกี่ยวกับสิ่งของรอบตัวเรา
เช่น เหล็กหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ในอุตสาหกรรม
จึงจำเป็นต้องใช้นักวัสดุในการปรับปรุและพัฒนาให้คุณภาพดีขึ้น
จึงทำให้เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
– พี่ปอนด์ สาขาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-

สายวิทย์ฯ ยกมือขึ้นน!! เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เคยได้ยินชื่อสาขาวัสดุศาสตร์ต้องมีสะดุดบ้างแหละ พอได้ยินอาจจะคิดว่าสาขานี้เขาเรียนเกี่ยวกับอะไรนะ? เรียนแล้วเอาไปทำอะไรด้วย? และที่สำคัญ…สาขาวัสดุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์อีกด้วย เกริ่นมาเยอะแล้วเราลองไปดูบทสัมภาษณ์จากรุ่นพี่คณะนี้กันเลยดีกว่า!!

อยากให้เริ่มแนะนำตัวก่อนเลย

สวัสดีครับ เราชื่อปอนด์นะครับ เราเรียนมัธยมจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา แล้วก็จบ ป.ตรี จากสาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Science) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ครับ

สาขาวัสดุศาสต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์1

ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นสาขาวัสดุศาสตร์ น่าจะยังเป็นสาขาที่ใหม่มากในไทย อะไรทำให้พี่ปอนด์ตัดสินใจยื่นสาขานี้

คือ ตอนนั้นเราชอบวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่จริงตอนแรกเราอยากเป็นนักบิน แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาสนใจคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ เพราะเราคิดว่ามันเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ในไทย เราเลยคิดว่าคงหางานได้ไม่ยาก แล้วก็การแข่งขันน่าจะยังไม่มาก และพอได้ลองศึกษาหลักสูตรว่าเรียนอะไรบ้าง ทำให้เราสนใจมาก เลยอยากลองศึกษาด้านนี้ดู

ได้ข่าวว่าพี่ปอนด์สอบรอบโควตา ตอนนั้นพี่ปอนด์มีวิธีการเตรียมตัวยังไงบ้าง รวมทั้งในเรื่องของการทำพอร์ตพี่ปอนด์มีเทคนิคในการทำให้น้อง ๆ รุ่นนี้เอาไปปรับใช้มั้ย

จริง ๆ สำหรับการสอบโควต้า แน่นอนเลยว่าต้องมีการสอบ การสัมภาษณ์ และ Portfolio เริ่มจากการเตรียมพอร์ตแล้วกัน เราก็อยากแนะนำน้อง ๆ ให้ใส่ทุกอย่างที่น้อง ๆ ทำจริง จะเป็นอะไรก็ได้ที่เราเคยทำ เช่น กิจกรรม, การแข่งขันต่าง ๆ ทั้งวิชาการ และสันทนาการ เวลาอาจารย์ถามเราจะได้ตอบได้อย่างมั่นใจ และก็พยายามทำให้ตัวอักษรน้อย ๆ แต่เข้าใจง่าย มันจะน่าอ่านมากขึ้น และทำให้อาจารย์ที่สัมภาษณ์สนใจในตัวเราให้มาก ๆ และการเตรียมตัวสัมภาษณ์อาจารย์จะดูการพูด การนำเสนอของเรา ดูว่าพูดรู้เรื่องมั้ย ดังนั้น เราต้องมั่นใจเวลาพูด พูดให้ฉะฉาน อย่างพี่ พี่จะฝึกไปก่อน เช่น เวลาคุยกับครู หรือกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเวลาไปคุยกับครู ลองฝึกพูดให้ฉะฉาน เราจะได้ชินกับบรรยากาศในห้องสัมภาษณ์มากขึ้น

แล้วในเรื่องของเทคนิคการเตรียมตัวสอบ ตอนนั้นพี่ปอนด์เตรียมตัวสอบยังไงบ้าง

ส่วนในเรื่องการสอบ พี่ก็จะมีเรียนพิเศษบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ส่วนตัวสำหรับพี่ พี่จะมาอ่านช่วงเย็น หลังเลิกเรียน เน้นทำความเข้าใจเฉพาะเนื้อหาพื้นฐาน ไม่เน้นท่องจำ ซึ่งแน่นอนว่าในห้องสอบอาจารย์จะต้องพลิกแพลงโจทย์มาให้เราแน่ ซึ่งถ้าพื้นฐานเราไม่เข้าใจ ก็จะทำไม่ได้แน่นอน สารภาพว่า จริง ๆ ตอนนั้นเราคิดว่ามันคงไม่ยากมากเท่าไหร่  แต่ข้อสอบจริงมันยากกว่าที่คิดมาก ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ อยากให้น้อง ๆ เตรียมตัวไปเยอะ ๆ ไม่ประมาท เพราะของเรามันอาจจะบังเอิญโชคดีก็ได้ TT  

แล้วตอนนั้นที่พี่ปอนด์เจอข้อสอบยาก พี่ปอนด์มีวิธีรับมือยังไงบ้าง

โห ตอนนั้นอย่างแรกคือต้องใจเย็น ๆ ทำเท่าที่เราทำได้ให้เต็มที่ ค่อย ๆ เขียนเท่าที่เรานึกออกให้มากที่สุด  ถ้าเจอโจทย์บางข้อที่ทำไม่ได้จริง ๆ เราก็ต้องข้ามไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทำเป็นข้อสุดท้ายอย่ากดดันตัวเอง แล้วทุกอย่างจะออกมาดีเองครับ

สาขาวัสดุศาสต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์2

ถามข้อมูลเรื่องการเตรียมตัวมาเยอะแล้ว อยากรู้เรื่องของข้อมูลสาขาบ้าง อยากให้พี่ปอนด์เล่าให้น้อง ๆ ที่กำลังอ่านฟังหน่อยว่า จริง ๆ สาขาวัสดุศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

สำหรับสาขานี้จริง ๆ ชื่อว่า สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 สาขาย่อย คือ

  1. สาขาวัสดุศาสตร์
  2. สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์

สำหรับสาขาวัสดุศาสตร์ที่เราเรียน ซึ่งหลัก ๆ ก็จะเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัสดุ เช่น โลหะ เซรามิก พอลิเมอร์ เป็นต้น หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินชื่อมาบ้าง แต่เมื่อเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เราจะต้องลงลึกมาก ๆ  ฟังดูเหมือนซับซ้อนนะ แต่เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้เข้ามาจะสนุกกับมัน จุดที่พิเศษมาก ๆ ของสาขานี้คือ การที่เราได้ทดลอง และศึกษาเกี่ยวกับสิ่งของรอบตัวเรา เช่น เหล็กหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องใช้นักวัสดุ ในการปรับปรุง และพัฒนาให้คุณภาพดีขึ้น จึงทำให้เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก 

อยากให้บอกข้อที่ควรรู้ก่อนเข้ามาเรียนสาขาวัสดุศาสตร์กับน้อง ๆ ที่กำลังสนใจนิดนึงว่ามีอะไรที่ควรเตรียมเป็นพิเศษมั้ย

จริง ๆ สำหรับในวิชาของสาขาอาจจะไม่ต้องเตรียมอะไรมาก เพราะว่าเป็นความรู้ใหม่ซะส่วนใหญ่ที่ต้องเตรียมจริง ๆ ก็อาจจะเป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่จำเป็น หรือถ้าเรามีความรู้รอบตัวเกี่ยวกับวัสดุได้จะยิ่งดีเลย มันจะทำให้เราเข้าใจตอนเข้าเรียนได้เร็วขึ้นครับ

แล้วสำหรับพี่ปอนด์ วิชาที่ยากที่สุด

คิดว่าน่าจะเป็น Phase diagram เพราะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสารทั้ง 3 สถานะ ที่ต้องมีหลาย ๆ ปัจจัยมาอยู่ในกราฟเดียว ซึ่งอาจจะต้องใช้พื้นฐาน และจินตนาการค่อนข้างเยอะในการทำความเข้าใจ แต่จริง ๆ คำว่ายากที่สุดมันไม่มีหรอก มีแต่วิชาที่เราไม่ถนัดที่สุด ดังนั้น เมื่อเรารู้ตัวว่าไม่ถนัดเรื่องไหน ก็ควรเข้าไปถามคนอื่น จะเป็นเพื่อนก็ได้ หรืออาจารย์ก็ได้ ค่อย ๆ เรียนรู้ไป เราก็จะผ่านมันไปได้ ฟังดูเหมือนพูดง่ายนะ5555 แต่จริง ๆ ก็ต้องใช้ความพยายามเยอะมากก ในชีวิตมหาวิทยาลัย ก็ต้องยอมรับว่าผ่านมาได้เพราะมีเพื่อนดี การมีเพื่อนที่เข้าใจ แล้วช่วยกันผ่านไปด้วยกันเป็นเรื่องที่ดีมาก

สาขาวัสดุศาสต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์3

พูดถึงเรื่องเพื่อนพอดี อยากให้พี่ปอนด์รีวิวสังคมในคณะหน่อยค่ะ ว่าเป็นสังคมที่นี่เป็นยังไงบ้าง 

 ถ้าพูดถึงสังคมเพื่อนในคณะ ก็ถือว่าดีมาก ๆ เลย อาจเป็นเพราะเป็นมหาลัยที่มีกิจกรรมเยอะ เลยทำให้รู้จักคนเยอะด้วย และที่ดีไปกว่านั้นคืออาจารย์และเพื่อนๆในสาขา เพราะสาขาเรามีจำนวนคนน้อย เลยทำให้สนิทกันทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ อาจารย์แนะนำได้ทุกอย่าง คุยได้ทุกเรื่องเลย เวลาสอนก็เข้าใจง่าย ถ้าเรารู้สึกว่าอาจารย์ก็เป็น Safe zone ของเราเหมือนกัน

ในส่วนของกิจกรรม ก็จะมีให้ความรู้ตลอด เช่น สัปดาห์วิทยาศาสตร์ภาคใต้ กิจกรรมอื่น ๆ  ที่มีเยอะพอสมควร แข่งขันกีฬา, ประกวดร้องเพลง, ประกวดดาว-เดือน เยอะแยะมากมาย ซึ่งถ้าน้อง ๆ ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้ก็จะได้ทั้งความสนุก และรู้จักเพื่อนๆเพิ่มขึ้นเยอะมาก 

ในส่วนของสายงาน ในสาขาวัสดุศาสตร์สามารถทำงานสายไหนได้บ้าง

สำหรับสาขานี้เราจะได้เรียนคล้าย ๆ กับคณะวิศวกรรมวัสดุ ซึ่งหมายถึงว่าเราจะทำงานเทียบเท่าวิศวะได้ ในหลายๆสาย คณะวิทย์วัสดุ เลยทำได้หลายแนว เช่น สายวิจัยในห้องแลป, สายที่ทำงานตามศูนย์วิจัยวัสดุต่างๆ หรือสายโรงงงานอุตสาหกรรม เหมือนเรา ตอนนี้เราทำงานอยู่ที่ บ. Enkei Thai เป็นอุตสาหกรรมผลิตล้อแม็กรถยนต์ ทำในตำแหน่ง Engineer ของ ห้องแลป รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการทดสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งหมด เช่น ความทนทาน, ความแข็งแรง และคุณสมบัติ ทางวัสดุทั้งหมด เป็นงานที่ทั้งท้าทายและก็แอบสนุกอยู่บ้าง  

สาขาวัสดุศาสต์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์5

มาถึงข้อสุดท้ายแล้วอยากให้พี่ปอนด์ฝากกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังอ่านอยู่หน่อย หรือจะขายของก็ได้นะคะ

 ก็อยากฝากให้ถึงน้อง ๆ ที่สนใจหรือชอบการทดลอง การได้ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์แปลก ๆ ลองเปิดใจเกี่ยวกับสาขาวัสดุ น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างมากมายที่รู้สึกว่าสนุก และน่าเรียนรู้อีกมาก ส่วนน้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะสาขาอะไร เราก็อยากฝากกำลังใจให้น้องๆทุกๆคน การเรียนมันเหนื่อย มันท้อ แต่ถ้าน้องคนไหนที่เข้ามาแล้วเลือกถูกทางที่ตัวเองชอบแล้วตั้งใจกับมัน เราเชื่อว่ายังไงน้องๆก็จะประสบความสำเร็จแน่นอนครับ สู้ๆ ฮึบบ 

และทั้งหมดนี้ คือบทสัมภาษณ์ของพี่ปอนด์ รุ่นพี่จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังสนใจคณะนี้อย่าลืมทำตามคำแนะนำของพี่ปอนด์นะ และสุดท้าย ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่กำลังหาโจทย์เพื่อฝึกทำข้อสอบ หรือกำลังหาคลังข้อสอบเก่า สามารถหาได้จาก เตรียมสอบ TCAS65 แล้วมาฝึกทำโจทย์เพื่อเข้าคณะที่ต้องการไปด้วยกันนะ สู้ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิธีการจัดอันดับ รอบ 3 TCAS เลือกยังไง? มาดูกัน!- TCASter

381 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 ม.สงขลานครินทร์ – TCASter

891 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มจพ. – TCASter

925 views

รวมคะแนนภาษาอังกฤษที่ใช้ในรอบพอร์ต – TCASter

473 views

เทียบคะแนน A-Level TCAS66 vs TCAS67 – TCASter

685 views

วิธีคำนวณคะแนนรอบ 3 ที่ #DEK68 ห้ามพลาด! – TCASter

780 views