Follow us on

รีวิวแบบเน้นๆ กับรุ่นพี่วิศวกรรมศาสตร์ หรือ TEPE ภาคไฟฟ้าการสื่อสาร (electrical communication)

วันที่โพสต์

“ชอบคำนวณเยอะ ๆ แบบนี้ มีภาคไหนที่ตรงบ้าง
พี่เขาก็บอกไฟฟ้าเลย คำนวนโหด คิดเลขยันตาย
พอพี่เขาพูดงั้น ในใจตังคิดว่าท้าทายดี ชอบ ก็เลยเลือกเข้าไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา “

“โครงการ TEPE มีทุนให้นักศึกษาเยอะมาก ทำให้การตัดสินใจอยากเรียนต่อที่นี่เพิ่มขึ้นไปอีก”

“ถ้าเป็นวิศวกรที่ชำนาญภาษาอังกฤษมาก ๆ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ไปทำงานหาประสบการณ์จากต่างประเทศได้อีกด้วย สำหรับเด็กที่อยากไปทำงานต่างประเทศ โครงการ TEP-TEPE ยังมีหลักสูตรเรียนที่ไทย 2 ปี เรียนที่ต่างประเทศอีก2 ปี (อังกฤษ,ออสเตรเลีย,เบลเยี่ยม) ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างconnection กับเพื่อนต่างชาติ”

วันนี้สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ชอบทั้งการคำนวณ และภาษา บอกได้ว่าห้ามพลาดกับบทความนี้ เพราะวันนี้เรามีรุ่นพี่ตัวท็อปของภาควิชาไฟฟ้าการสื่อสาร หรือ Electrical Communication ซึ่งเป็น 1 ในภาควิชาของวิศวกรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ หรือ TEPE นั่นเอง อย่ารอช้าไปอ่านกันเลย!!

  1.       ลองแนะนำตัวก่อนได้เลย

สวัสดีค่ะ พี่ชื่อสุธากมล ฐิตยานันท์ เรียกว่ากะตังก็ได้ เรียนอยู่ชั้นปีที่3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ หรือ TEPE ตอนนี้เรียนภาควิชา electrical communication หรือไฟฟ้าการสื่อสารค่ะ

  1. พี่กะตังรู้ตัวว่าอยากเข้าคณะนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนแรกก็ไม่รู้จะเป็นอะไร ตอนเลือกสายม.ปลาย ก็เลยเข้าสายวิทย์-คณิตมาก่อน พอเรียนไปเรียนมาจนถึงประมาณม.5 ก็รู้ตัวว่าชอบเรียกพวกวิชาคำนวน ชอบเลขกับฟิสิกส์มาก ๆ คิดว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์คงเป็นคณะฯ ที่ตอบโจทย์ทุกความชอบของตัวเองได้เลย

  1. อยากให้พี่กะตังลองเล่าว่าทำไมตอนนั้นถึงรู้ตัวว่าอยากเรียนคณะฯ นี้ แล้วทำไมถึงคิดว่าการตัดสินใจเลือกเรียนในครั้งนี้จะตอบโจทย์เราในอนาคตได้

เริ่มแรกเลย ก็ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาลัยต่าง ๆ ด้วยความที่เรียน EP มา ก็พยายามหามหาลัยที่มีการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะต่อยอดภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นไปอีก จนมาเจอโครงการ TEP-TEPE นี้แหละค่ะ เลยสนใจมาก ๆ ยิ่งโครงการ TEPE มีทุนให้นักศึกษาเยอะมาก ทำให้การตัดสินใจอยากเรียนต่อที่นี่เพิ่มขึ้นไปอีก ตังคิดว่าในอนาคตภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ในชีวิต ถ้าเราได้เรียนทุก ๆ อย่างเป็นภาษาอังกฤษ จะสร้างความคุ้นชิน และพัฒนาทักษะให้เราได้ดี วิศวกรเป็นอาชีพที่จำเป็นต่อโลกอยู่แล้ว ถ้าเป็นวิศวกรที่ชำนาญภาษาอังกฤษมาก ๆ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ไปทำงานหาประสบการณ์จากต่างประเทศได้อีกด้วย สำหรับเด็กที่อยากไปทำงานต่างประเทศ โครงการ TEP-TEPE ยังมีหลักสูตรเรียนที่ไทย 2 ปี เรียนที่ต่างประเทศอีก2 ปี (อังกฤษ,ออสเตรเลีย,เบลเยี่ยม) ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะสร้างconnection กับเพื่อนต่างชาติด้วยค่ะ

  1. พอรู้ตัวว่าอยากเข้าจริง ๆ ตอนนั้นพี่กะตังมีการเตรียมตัวยังไงบ้าง

อย่างที่บอกไปว่าตังเรียน EP มา เพราะฉะนั้น เพื่อน ๆ ในห้องก็จะมุ่งไปกับการสอบ SAT มากกว่าสอบของไทย การสอบ SAT ก็จะมี 2 แบบ คือ SAT ที่จะมีแค่เลขกับอังกฤษ และ SAT subject test ที่มีสอบวิชาสามัญทั่วไป ตอนปีที่ตังเข้า ตังใช้คะแนนเลขของ SAT เลข Level 2 ฟิสิกส์และเคมีของ SAT subject test และภาษาอังกฤษของ CU-TEP ยื่นเข้ารอบหนึ่ง 

  1. แล้วตอนนั้นการเตรียมตัวสอบ SAT ถือว่าหนักหน่วงมั้ย

ส่วนตัวตังว่าเนื้อหา และข้อสอบของ SAT ไม่ยากเท่าข้อสอบเข้ามหาลัยของไทย การเรียนในห้องเรียนธรรมดาก็เพียงพอแล้วกับการสอบ ตังไม่ได้เรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าเลย อาศัยการอ่านเองล้วน ๆ แค่แบ่งเวลาให้ดี พยายามตั้งใจเรียนในห้องในทุก ๆ วิชา จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยตอนอ่านหนังสือสอบเยอะ ๆ SAT มันจะมีหนังสือฮิต ๆ ที่เด็กเขาชอบซื้อมาอ่านกัน ตังก็ซื้อมาอ่านตาม ในหนังสืออธิบายไว้ดีมากเลย เอามาใช้ต่อตอนมหาลัยก็ยังได้ ในหนังสือมันจะมีแบบฝึกหัดกับเฉลยไว้ในเล่มอยู่แล้ว ตังหัดทำจากพวกนั้น ที่สำคัญในการสอบ SAT เลย ก็คือ เวลาสอบน้อยมาก ดังนั้นเวลาฝึกทำข้อสอบก็ต้องจับเวลาไปด้วย ถ้าข้อไหนไม่ได้ให้ข้ามไปเลย ต้องทำเร็ว และแม่นสุด ๆ

  1. หลังจากที่ได้ลองเข้ามาเรียนแล้ว ความรู้สึกก่อนเรียนกับหลังเรียนมีความต่างกันแค่ไหน

มันไม่สวยหรูเหมือนอย่างที่คิดไว้เลยค่ะ เนื้อหาตอนม.ปลาย คือ ง่ายมาก ตอนนั้นประมาทคิดว่ามหาลัยมันจะเท่าไรกัน ผลออกมาคือนั่งอ่านหนังสืองก ๆ เลยค่ะ เนื้อหาล้านแปดซึ่งอาจารย์สามารถเอามายัดภายในเทอมเดียวได้ อันนี้ต้องนับถืออาจารย์ด้วย การเรียนต่างจากตอนม.ปลายมาก ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักนึงเลย ตอนม.ปลายอ่านหนังสือสอบก่อนวันนึงก็ยังทัน แต่มหาลัยหนึ่งเดือนก็รู้สึกว่าไม่ค่อยทันเลยค่ะ แต่พอเรียนไปสักพักก็รู้สึกยิ่งชอบในตัววิชาเพราะมันได้เรียนเฉพาะทาง และตรงสายที่ชอบมากขึ้น ตอนเด็ก ๆ ตังไม่ชอบเรียนพวกภาษาไทย ประวัติศาสตร์ สังคมมาก ๆ พอมาเรียนวิศวะฯ แล้ว เขาไม่มีสอนวิชาพวกนั้น จากที่ต้องเอาเวลาไปอ่านวิชาที่ไม่ชอบ พอไม่ชอบก็ไม่อยากอ่านต่อ ทำให้เหนื่อยให้ท้อ ได้มาอ่านแต่วิชาที่ตัวเองถนัด มันรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกเลยค่ะ

  1. ภาคไฟฟ้าการสื่อสาร (electrical communication) เรียนเกี่ยวกับอะไร อยากให้ลองอธิบายให้น้อง ๆ ที่กำลังสนใจฟัง

ภาควิชาไฟฟ้า ตังเลือกเรียนในสาขา electrical communication แต่ตังจะเล่าการเรียนของตังตั้งแต่ปี1 ให้ฟังก่อน ตอนปี 1 ทางคณะฯ ยังไม่ได้ให้เลือกภาค ให้เรียนรวมกันไปก่อน และเราก็ได้เรียนวิชาหลากหลาย เพื่อให้เราหาตัวเองว่าเราอยากไปทางสายไหน ตอนแรกตังเข้ามา ตังอยากเรียนภาคอุตสาหการมาก ๆ แต่พอเรียนไปเรียนมา เจอเนื้อหาปี 1 เจอวิชาที่ชอบ ตังเลยไปถามพวกรุ่นพี่ว่า ตังชอบวิชานี้ ๆ ชอบคำนวณเยอะ ๆ แบบนี้ มีภาคไหนที่ตรงกับตังบ้าง พี่เขาก็บอกไฟฟ้าเลย คำนวนโหด คิดเลขยันตาย พอพี่เขาพูดงั้น ในใจตังคิดว่าท้าทายดี ชอบ ก็เลยเลือกเข้าไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา พอขึ้นปี 2 เขาก็ให้แยกเรียนกันแล้ว พอแยกเรียนก็มีวิชาที่เฉพาะทางมากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกชอบมาก ๆ วิชาของปี 2 จะเป็นพื้นฐานให้ใช้ต่อยอดภาคไฟในปีถัด ๆ ไป ดังนั้น วิชาปี 2 จึงสำคัญมาก พอขึ้นปี 3 เขาก็ให้เลือกแยกสายอีกทีคือมี power (ไฟฟ้ากำลัง) กับ communication (ไฟฟ้าสื่อสาร) แต่เทอม 1 ยังเป็นเรียนรวมอยู่ วิชาจะถูกแบ่งแยกชัดเจนว่าอันนี้เป็นวิชาของสายไหน เพื่อให้เด็กได้รู้ตัวเองเข้าไปอีกว่าชอบสายวิชาไหน ส่วนตัวตังชอบวิชาของสาย communication มาก ปี 3 เทอม 2 ก็เลือกมาเรียนสายนี้ สายคอมมูก็จะเรียนพวกการสื่อสาร สัญญาณต่าง ๆ มันส่งยังไง มันรับสัญญาณยังไง ตัวตัดสัญญาณรบกวนมันทำหน้าที่ยังไง มีกี่แบบ ทำไมเวลาเราคุยโทรศัพท์แล้วเสียงมันชัดจัง เวลาฟังเพลงแล้วเสียงหูฟังอันนี้ดีมาก ทำไมเวลาอยู่ในที่คนเยอะ ๆ สัญญาอินเตอร์เน็ตเรามักจะไม่ดีเลย สายคอมมูก็จะเรียนพวกแบบนี้ ส่วนสายกำลังก็จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับ motor generator สายนี้ตังขอพูดไม่เยอะเพราะตังก็เรียนแค่พื้นฐานมา ไม่ได้เรียนเฉพาะไปอย่างเพื่อนๆ แต่เท่าที่เรียนมา สายกำลังจะเป็นสายที่ได้เห็นภาพการทำงานของเครื่อง motor generator จริง ๆ ไม่เหมือนกับคอมมูที่ต้องจินตนาการสัญญาณมันเป็นแบบนี้นะ มันส่งผ่านอากาศเป็นแบบนี้นะ

  1. หลังจากที่ได้เรียน หรือได้ทำกิจกรรมกับคณะฯ นี้แล้ว พี่กะตังประทับใจอะไรในคณะฯ นี้บ้าง หรือคิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของคณะฯ นี้

กิจกรรมของทางคณะฯ มีเยอะมากก ตอนปี 1 คือ ตังกวาดทำกิจกรรมทุก ๆ งานจริง ๆ ตอนเข้ามาเจอกิจกรรมงานแรกก็คือ freshy game ตังทำในฝ่ายพาเหรด ตังชอบวาดรูป ชอบทาสี ฝ่ายพาเหรดก็มีอะไรให้ทำเยอะเลย ยิ่งกิจกรรมพวกนี้จะทำให้เจอกับภาคปกติ (ปกติ TEP-TEPE จะเรียนแยกกับภาคปกติเลยไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกันเท่าไร) และคณะๆอื่น ๆ ด้วย ตังเป็นคนชอบเข้าสังคมอยู่แล้ว พอทำงานแล้วได้เพื่อนใหม่ ๆ ตังก็ติดทำกิจกรรมตั้งแต่นั้นมา ไฮไลท์ที่ตังประทับใจมากก็คือการที่ตังได้เป็น MC ของ TEP-TEPE หน้าที่ MC ก็คือการเอ็นเตอร์เทนทุกคนในกิจกรรมต่าง ๆ ตังได้สมัครเข้าเป็น MC เมื่อตอนปี 1 ตอนเข้ามาเรียนได้สักพักนึงแล้ว เหตุผลที่ตังสมัคร MC เพราะตอนที่ยังเป็นน้องค่าย ตังเห็นพี่คนนึง เขาพูดเก่งมาก เล่นมุกแห้งก็ยังตลก มันทำให้ตังอยากเป็นเหมือนพี่เขา พอได้เป็นแล้วก็จะมีงานให้ทำเยอะมาก ทุกงานต้องมี MC ไม่งั้นงานนั้นจะไม่สามารถจัดขึ้นได้ ตังเลยได้ทำทุกงานจริง ๆ งานเอ็มซีทุกงานที่ทำส่วนใหญ่จะดำเนินงานเป็นภาษาไทย จนได้ไปทำงานหนึ่งชื่อว่า ISTS (International Seminar on Technology for Sustainability ) เป็นงานสัมมนาระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและต่างประเทศ คนร่วมงานส่วนใหญ่ก็เป็นต่างชาติ ทำให้การดำเนินงานต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถือเป็นการ challenge ในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองมาก ๆ สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานนี้ คือ การร้องเพลงสันทนาการเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้คนต่างชาติเข้าใจ แต่ทำไปทำมา ตังคิดว่าไม่เวิร์คเเน่ ๆ เกมนี้คนไม่น่าสนุกด้วยเเน่ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากกลับดีมาก คนต่างชาติชอบมาก ๆ มีแต่บอกว่าไม่เคยทำกิจกรรมแบบนี้เลย เพิ่งมาเคยเล่นครั้งแรก รู้สึกสนุกมาก ตอนนั้นตังคิดเลยว่าถ้าตังไม่เข้า TEP-TEPE ของธรรมศาสตร์เนี่ย ตังคงไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ได้ประสบการณ์และความสุขเยอะมาก ๆ ขนาดนี้เเน่ ๆ เลย พอตังทำงานเยอะเข้าเรื่อย ๆ ตังก็เริ่มเป็นแกนกิจกรรมของรุ่น จากที่ต้องลงมีทำงานเอง ก็กลายเป็นรุ่นพี่คอยให้คำปรึกษาช่วยงานกิจกรรมน้อง ๆ ไปไม่รู้ตัว วงการทำกิจกรรมของคณะนี้เข้าแล้วออกไม่ได้จริง ๆค่ะ

  1. ที่มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมเยอะไหม ตอนเข้ามาต้องเจอกิจกรรมอะไรบ้างตั้งแต่ปี 1 เลย

ตังก็พูดไปเยอะแล้วเนอะจากคำถามที่แล้ว คำถามนี้ตังจะมาเจาะเรียง timeline ของแต่ละกิจกรรมไปเลย เข้ามาปี 1 ก็จะเจอปฐมนิเทศที่เป็นงานที่ได้เจอเพื่อนงานแรกเลย ได้เห็นหน้าว่าคนในรุ่นเราหน้าตาเป็นยังงี้ 555 ในงานก็จะมีกิจกรรมให้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ มีชุมนุมต่าง ๆมาแนะนำโฆษณาชุมนุมตัวเอง พอจบงานแรกก็จะมีงานรับเพื่อนใหม่ของมหาลัย ที่เชิญศิลปินดัง ๆ มาเล่นคอนเสิร์ต แน่นอนงานนี้สงวนสิทธิ์แค่เด็กปี 1 เท่านั้น หลังจากงานนั้นก็จะมีงานค่ายรับเพื่อนใหม่ 2 ค่ายของคณะฯ ค่ายแรกจะเป็นค่ายกลิ้งเกียร์ของทั้งวิศวะฯ ของโครงการ TEP-TEPE ก็จะมีค่าย Hatch Up ในค่ายกิจกรรมก็จะไปในทางเดียวกัน คือ การให้ได้เจอเพื่อนใหม่ และเป็นการแนะนำคณะฯ ไปในตัว ต่อมาจะเป็นงาน freshy game กิจกรรมแข่งขันระหว่างคณะ ให้ฟีลเหมือนงานกีฬาสีของโรงเรียน แต่เป็นงานที่ทั้งมหาลัยเข้าร่วม สเกลงานมันจะใหญ่มาก ๆ เจอคนเยอะแบบเยอะมากกกก งานนี้มีหลายฝ่ายให้ทำเลย ไม่ถนัดงานศิลปะก็ไปแข่งกีฬา ไม่ชอบแข่งกีฬาก็มีฝ่ายสวัสดิการที่คอยดูแลนักกีฬาและทุกคนฝ่ายในงาน ใครชอบเรื่องความสวยความงามนี้ต้องไม่พลาดฝ่ายผู้นำเชียร์และคฑากร พองาน freshy game จบก็มีงาน freshy night ของคณะฯ ต่อเลย อันนี้จะเป็นงานประกวดดาวเดือนดินของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตอนรุ่นตังเป็นธีม Back to school ทุกคนที่มาร่วมก็ใส่ชุดนักเรียนย้อนวัยกันไป จากนั้นเราก็จะพักกิจกรรมไปแปบนึง เพื่อให้เด็กปรับตัวกับการเรียน ของโครงการ TEP-TEPE จะมีกิจกรรมพี่รหัสเเทรกไปในระหว่างเรียน เพราะกลัวน้อง ๆ เหงา เรียนอย่างเดียวมันน่าเบื่อเลยให้พี่รหัสของน้องแต่ละคนไปสร้างสีสัน ให้น้อง ๆ อยากตามหาว่าพี่รหัสเราคือใคร  แล้วพี่รหัสของน้องจะมาถูกเฉลยในค่ายที่ชื่อว่า family camp พอจบค่ายนี้ก็จะเป็นสอบมิดเทอมอันหนักหน่วง เวลาผ่านไปจนถึงประมาณท้ายปี ก็จะมีค่ายอาสาพัฒนาชุมชนผุดขึ้นมาอีก 2ค่ายให้น้อง ๆ ได้สมัครไป โดยค่ายแรก คือ ค่ายสร้างจะเป็นของภาคปกติและค่าย #Forshare ของโครงการ TEP-TEPE โดยจุดประสงค์ค่ายเราก็คือการไปพัฒนาชุมชนต่างจัดหวัดที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ค่ายสร้างก็จะไปสร้างตึก สร้างอาคาร เน้นสร้างเป็นส่วนใหญ่ ส่วนค่าย #Forshare จะเน้นไปในการสอน ทำกิจกรรมพัฒนาความรู้ให้น้อง ๆ แต่ก็ยังมีการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของโรงเรียนอีกด้วย ค่ายนี้จะไปช่วงประมาณปลายเดือนธันวาถึงต้นเดือนมกรา ช่วงปิดเทอมระหว่างเทอม 1 และเทอม 2 หลังจากเปิดเทอม 2 ไปจนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จะมีงาน Music in the garden ของโครงการ TEP-TEPE ที่จะเป็นกิจกรรมตลาดนัด มีวงดนตรีสดขึ้นมาเล่นคลอไปตลอดงาน โดยวงดนตรีเราจะเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจในเสียงดนตรีให้หอมวงมาเล่นในงานนี้ จบงานนี้งานต่อไปก็จะเป็นงานสัมมนาของโครงการ ที่จะให้คนในวงการทำงานคณะได้ไปสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันที่ต่างจังหวัด โดยงานนี้จะมุ่งไปในการให้คำแนะนำรุ่นน้องที่กำลังจะจัดค่าย Young sharp ที่เป็นค่ายที่น้อง ๆ ม.ปลาย ที่สนใจในคณะนี้มาลองได้เข้ามาทำความรู้จักคณะมากขึ้น โดยกิจกรรมก็มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับวิศวะฯ และการเรียนที่นี่ ของภาคปกติก็จะมีค่ายเหลาดินสอที่จะคล้ายกับ Young sharp ของโครงการ TEP-TEPE เหมือนกัน จบงานนี้ก็จะมีงาน Byenior เป็นงานอำลารุ่นพี่ปี 4 ที่กำลังจะเรียนจบในเร็ววัน เราก็จะไปสังสรรค์ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องให้สนิทขึ้นไปอีก จบงานนี้ก็จะมีงานเลี้ยงส่งอีกงาน คืองาน Farewell อันนี้เป็นงานที่จะส่งปี 2 ที่กำลังจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ปีที่ตังจัด ธีมงานจะเป็นธีมสีน้ำเงิน จัดกันที่โรงแรม ใครชอบแต่งหรืออยากแต่งชุดราตรีต้องไม่พลาดงานนี้ กิจกรรมทุกอย่างทุกรุ่นสามารถร่วมได้นะคะ แต่หน้าที่ก็จะต่างกันไป อย่างเช่น Hatch up camp น้องปี 1จะเป็นน้องค่าย ปี 2 เป็นคนจัด และปี 3 เป็นคนให้คำปรึกษา ปีตังโชคดีมาก ตังได้ทำกิจกรรมครบหมดทุกงานเลย ถ้าน้อง ๆ รุ่นใหม่ๆ อาจจะถูกงดการทำกิจกรรมบางอย่างเนื่องจากสถาณการณ์โควิดค่ะ

  1. สุดท้ายแล้ว พี่กะตังมีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจอยากเข้า โครงการ TEP -TEPE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. นี้ไหม

ถ้าใครที่สนใจเข้า TEP-TEPE  นี้ น้องคิดถูกเเล้วววววว ที่นี่ดีมาก เพื่อนพี่น้องน่ารัก อาจารย์ใจดี พี่ที่ห้องโครงการคุยงาน คุยสนุก มีอะไรปรึกษาได้หมดเลย ส่วนน้องที่ยังไม่รู้ตัวเอง อยากให้ลองเอา TEP-TEPE  นี่เก็บไว้ในดวงใจดูนะคะ ตังว่าเรียนที่นี่ไม่เครียดเลย เพราะมหาลัยและคณะฯ มีกิจกรรมให้น้อง ๆ ทำ หาประสบการณ์ ได้เพื่อนใหม่ได้เยอะ ตอนเข้ามาก็ไม่คิดนะว่าจะได้อะไรเยอะขนาดนี้ แต่พอมานั่งคิดดูดี ๆ ที่ตัวเป็นตังได้ในทุกวันนี้ก็มีส่วนมาจาก TEP-TEPE ทั้งนั้นเลย อยากให้น้อง ๆ มาเข้า TEP-TEPE  นี้กันเยอะ ๆ นะคะ อย่ากลัวว่าเรียนจะยาก ถ้าเราตั้งใจ อะไร ๆ เราก็ทำได้ค่ะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมคะแนนภาษาอังกฤษที่ใช้ในรอบพอร์ต – TCASter

446 views

เทียบคะแนน A-Level TCAS66 vs TCAS67 – TCASter

631 views

วิธีคำนวณคะแนนรอบ 3 ที่ #DEK68 ห้ามพลาด! – TCASter

718 views

5 ขั้นตอนใช้งาน TCASter App ฟีเจอร์ “ประเมินโอกาสสอบติด” – TCASter

700 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยศิลปากร – TCASter

1,002 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – TCASter

966 views