Follow us on

ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับคณะครุศาสตร์ เอกสังคมศึกษา !!! กับพี่นุ่น รุ่นพี่ปี 1 สุดปัง จากครุ จุฬา

วันที่โพสต์

“เราก็จะเรียนกันตั้งแต่กระบวนการสอน การวัดผล ฯลฯ ไปจนกระทั่งการฝึกสอนในช่วงชั้นปีที่สี่ค่ะ โดยในรายวิชาก็จะให้นิสิตได้ลองฝึกการสอนดูจริง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน นิสิตก็จะได้เรียนวิชาที่จะสอนการทำวิจัยเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนิสิตที่ต้องการศึกษาต่อไปในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อให้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปค่ะ”
“จุดเด่นคือการที่นิสิตมีการฝึกการสอนและการได้ร่วมทำงานกับโรงเรียนและชุมชนเพื่อให้นิสิตได้ใกล้ชิดกับนักเรียนและเกิดการพัฒนาในตัวเองเพื่อเป็นครูที่ดีของสังคม”
– พี่นุ่น ครุ จุฬา เอกสังคมศึกษา –

สำหรับใครที่กำลังใจสนใจคณะครุศาสตร์อยู่ ห้ามพลาดบทสัมภาษณ์นี้เด็ดขาด !!! เพราะวันนี้รุ่นพี่รีวิวได้ดึงตัว พี่นุ่น รุ่นพี่ปี 1 สุดปัง จากครุ จุฬา มาตอบุกคำถามเกี่ยวกับคณะครุและเอกสังคมศึกษาแบบจุก ๆ อีกทั้งยังแชร์เทคนิคการสอบเข้าคณะนี้ของพี่นุ่นอีกด้วย โหหหหห พิเศษใส่ไข่ขนาดนี้ จะไม่อ่านได้ยังไง ?___? งั้นอย่ารอช้ากันดีกว่า ไปอ่านกันเลย Go Go !!!

แนะนำตัวได้เลย ชื่ออะไร ตอนนี้เรียนอยู่ที่ไหน

สวัสดีค่า นุ่นนะคะ จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ตอนนี้ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) วิชาเอกสังคมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ 

ตอนนั้นทำไมเราถึงอยากเข้าคณะนี้ มีวิธีการค้นหาตัวเองยังไงบ้าง

จริง ๆ ความคิดแรกที่เข้ามาในหัวตอนจะเลือกคณะคือ “เราอยากทำอะไรเพื่อสังคม” เพราะเรารู้สึกว่า ในสังคมยังมีส่วนที่ขาดตกบกพร่องต้องการการแก้ไขปรับเปลี่ยน และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาแก้ไขสังคมให้ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อจากเรา ดังนั้นเราเลยถามตัวเองก่อนว่าตัวเรามีคุณลักษณะอะไรบ้าง ส่วนแรกคือ การค้นหาทักษะของตัวเอง ในหลาย ๆ ครั้ง ตัวเราอาจจะมองไม่เห็นหรือไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง การให้เพื่อนหรือที่คนที่เราไว้ใจช่วยเปิดมุมมองผ่านการพูดคุย ก็เป็นอีกวิธีหนี่งที่ทำให้เราค้นหาความสามารถของตัวเองเจอค่ะ ตัวนุ่นเองก็ได้มุมมองจากเพื่อนจนเข้าใจและตกตะกอนได้ว่า ตัวเองเป็นคนชอบสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น (ฟังดูคำตอบเหมือนดาราแต่จริงนะคะ ฮา) ในส่วนที่สองคือ การค้นหาความชอบของตัวเอง เราเป็นคนที่เรียนวิทย์ – คณิตมาทั้ง ม.ต้น – ม.ปลาย เรียนแล้วก็เรียนได้แต่สุดท้ายเราก็ยังรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่า มันไม่มีความสุข เรามีความสุขในการเรียนวิชาอื่นมากกว่านั่นก็คือ วิชาสังคมนั่นเองค่ะ ดังนั้นเราเลยรู้ว่า การเรียนต่อป.ตรี สายวิทย์ นี่ไม่ใช่ทางของเราแน่ ๆ เพราะเรารู้ตัวอยู่แล้ว ถ้าคนไหนยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบวิชาอะไร จริง ๆ ลองพิจารณาเบื้องต้นดูก่อนได้นะคะว่า เราถนัด – ไม่ถนัดวิชาไหน แล้วในวิชาที่ถนัดเมื่อแยกย่อยออกมาในแต่ละบทเรียนแล้วมีเรื่องไหนที่รู้สึกทำไม่ได้หรือไม่ชอบเป็นพิเศษไหม ลิสต์ออกมาเลยนะคะ ข้อมูลตรงนี้สามารถเอามาใช้ชั่งน้ำหนักในใจของเรากับคณะที่จะเลือกเข้าได้ว่า ถ้าคณะนี้ต้องเรียนวิชานี้กับเรื่องนี้ ๆ เราจะโอเคกับมันหรือเปล่า วิธีนี้เป็นวิธีที่เพื่อนของเราใช้แล้วรู้สึกว่า มันน่าจะมีประโยชน์เลยอยากจะแบ่งปันกับทุกคนค่ะ ส่วนสุดท้ายเป็นการค้นหาตัวเองค่ะว่าเราชอบการทำงานแบบไหน แล้วเรามีแพชชั่นกับอะไรมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ตัวเราเองอยากทำงานเกี่ยวกับการศึกษาหรืองานที่เกี่ยวกับการบริหารราชการบ้านเมือง ทำงานในระบบราชการได้ โอเคกับงานที่เลิกตรงเวลาเข้าตรงเวลา (ถึงแม้ว่าเมื่อถึงเวลาจริง ๆ งานของครูค่อนข้างที่จะ overload ก็เถอะนะคะ ฮา) เงื่อนไขการทำงานอยู่ในเกณฑ์ที่เรารับไหว อะไรแบบนี้ก็สามารถอ่านคร่าว ๆ ได้บนอินเตอร์เน็ตหรือสอบถามผู้ประกอบอาชีพนั้น ๆ โดยตรงก็ได้ค่ะ 

อยากรู้ว่า ช่วงที่เราม.6 เรามีวิธีค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละคณะยังไงบ้าง

ก่อนอื่นเลยเราลิสต์ก่อนว่าเราอยากเข้าคณะอะไร จากนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ เนื้อหาวิชาที่เรียนกับลักษณะการเรียนนะคะ ในส่วนเนื้อหารายวิชา เราสามารถหาดูได้จากเอกสารหลักสูตรของแต่ละคณะ – มหาวิทยาลัยที่เราสนใจเลยค่ะ ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะบอกว่า ในแต่ละปีเราต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง ซึ่งก็จะทำให้เราทำความเข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาที่เราจะเรียนได้พอสมควรค่ะ ของเราคือ เราก็เข้าไปดูในเอกสารหลักสูตรของคณะครุศาสตร์ที่ซึ่งจะรวมหลักสูตรของทุกสาขาเอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจได้นะคะ กรณีที่อยากเข้าครุศาสตร์แต่ไม่รู้จะเรียนวิชาเอกอะไรดี ในส่วนที่สองคือ ลักษณะการเรียน อันนี้ก็บนเว็บไซต์ทั่วไปเลยค่ะ ส่วนใหญ่หลาย ๆ คณะก็จะมีการรีวิวไว้อยู่แล้ว ส่วนตัวเราเองก็หาอ่านบน TCASter บ้าง หรือ Dek-D, Pantip เป็นต้นค่ะ

เราสอบเข้ามาด้วยรอบไหน ใช้คะแนนอะไรบ้าง

เราเข้ามาด้วยรอบ 3 Admission รูปแบบที่ 1 คือจะใช้คะแนน GAT 20% , Pat5 30% , วิชาสามัญสังคมศึกษา 25% และภาษาอังกฤษ 25% ค่ะ 

ในช่วงที่เราม.6 เรามีวิธีค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบต่าง ๆ ยังไงบ้าง

สำหรับเราคือใช้วิธีการกดติดตามเพจเกี่ยวกับการศึกษาอะไรแบบนี้ไว้ค่ะ เพราะบางทีเราอาจจะตามข่าวด้วยตัวเองไม่ทัน เพจเหล่านี้ค่อนข้างช่วยเหลือได้เป็นอย่างดีทีเดียวค่ะ หรือสำหรับใครที่เป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์โดยปกติแล้วเมื่อมหาวิทยาลัยไหนหรือทปอ. ประกาศอะไรเกี่ยวกับกำหนดการสอบออกมาบางครั้งก็จะขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ทางนั้นก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราใช้ติดตามเช่นกันค่ะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประกาศสำคัญ ถ้าเป็นเรื่องคณะที่เราสนใจ แนะนำว่าตามข่าวด้วยตัวเองจะแน่นอนกว่านั่นเองค่ะ

ช่วยแนะนำเทคนิคหรือวิธีการเตรียมตัวสอบของเราให้น้อง ๆ ฟังหน่อย

การเตรียมตัวนี่คือเราไม่ได้เรียนพิเศษเลยค่ะตอนม. ปลาย ดังนั้นส่วนใหญ่เทคนิคก็จะเป็นการอ่านเอง ฝึกเองเสียส่วนใหญ่นะคะ สำหรับ GAT พาร์ทเชื่อมโยงเราฝึกเอาจากการทำข้อสอบบ่อย ๆ แต่ก่อนทำข้อสอบก็ดูคลิปสอนวิธีการทำเชื่อมโยงในยูทูปช่องอ.ขลุ่ย จนพอจับทางข้อสอบได้บ้างแล้วค่อยตะลุยโจทย์จริงค่ะ เราย้อนกลับไปทำข้อสอบเก่า ส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่ในอินเทอร์เน็ตลองหาดูได้นะคะ ตอนแรกจะทำแบบไม่จับเวลา เราจะทำชุดละสองครั้งเพราะมันก็จำไม่ได้หรอกนะคะว่าครั้งแรกตอบอะไรไป (ฮา) ครั้งที่สองค่อยเริ่มจับเวลาโดยข้อสอบจะมีสองข้อ พยายามทำให้ได้ข้อละ 45 นาทีค่ะ การทำแบบนี้จะทำให้เราชินมือกับการทำข้อสอบให้เร็วค่ะ ส่วน GAT ภาษาอังกฤษ เราซ้อมมือกับหนังสือโจทย์แกทเล่มสีน้ำตาลแล้วก็ท่องศัพท์ที่มีฟรีทุกที่เลยค่ะ (จำได้บ้างไม่ได้บ้างแต่การท่องศัพท์เป็นตัวช่วยที่ดีมากนะคะ !)

Pat 5 อันนี้เราไม่ได้อ่านไปเลยค่ะ ไม่ได้ทำข้อสอบเก่าด้วย เราอาศัยการลงโครงการสนามสอบจำลองแล้วไปลองนั่งทำข้อสอบดูเลยค่ะ แนวข้อสอบจะค่อนข้างคล้ายกันในรูปแบบของลักษณะโจทย์ คือจะมีพาร์ทจริยธรรม จรรยาบรรณครู จับใจความ ปัญหาเชาว์ โจทย์คณิตศาสตร์ระดับมัธยมต้น และแบบรูปมิติสัมพันธ์ค่ะ  ซึ่งเราใช้การเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรอบจำลองมาปรับแก้ในรอบจริงค่ะ จากข้อผิดพลาดของเราเองคือเราทำพาร์ทเชาว์ไม่ทัน ในรอบจริงเราเลยเริ่มทำพาร์ทเชาว์ก่อนเพราะเป็นพาร์ทที่ค่อนข้างง่ายถ้าทำแบบมีสติและมีเวลาทำ จะเป็นตัวช่วยเพิ่มคะแนนได้ค่ะ

วิชาสามัญสังคม ส่วนใหญ่พาร์ทหน้าที่พลเมืองเราจำเอาจากที่เคยเรียนในห้องค่ะ ในส่วนพาร์ทอื่น ๆ เราอาศัยอ่านจากหนังสือสรุปสังคมม.ปลายเล่มใหญ่ ๆ แต่พาร์ทประวัติศาสตร์เด็กไม่ได้เรียนพิเศษแบบเรานี่ค่อนข้างตึ้บค่ะ ออกรอบโลกมาก ยากสุด ๆ 555555555 แต่สำหรับใครที่อยากเตรียมตัวในวิชานี้เราแนะนำให้เน้นการอ่านพาร์ทศาสนา กฎหมาย กับเศรษฐศาสตร์มาให้แม่น ๆ เลยนะคะ จะช่วยเพิ่มคะแนนได้เยอะมาก ข้อสอบออกค่อนข้างตายตัวค่ะ

วิชาสามัญภาษาอังกฤษเราใช้วิธีการเตรียมตัวแบบเดียวกับที่เตรียมแกทภาษาอังกฤษค่ะ เตรียมครั้งเดียวใช้สองงาน

อยากรู้ว่า ครุ จุฬา สาขามัธยมศึกษา เอกสังคมศึกษา เค้าเรียนอะไรกันบ้าง

ครุศาสตร์ วิชาเอกสังคมศึกษา เราย่อมต้องเรียนทุกอย่างในหมวดสังคม ถ้าใครชอบวิชาเหล่านี้ก็มาถูกทางแล้วค่ะ ในแต่ละชั้นปีจะมีวิชาบังคับที่จะเรียนตัวเบื้องต้นของแต่ละกลุ่มสาระในหมวดสังคมศึกษา ตัวอย่างเช่น วิชากฎหมายเบื้องต้น วิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาเบื้องต้น วิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เป็นต้นค่ะ โดยนอกเหนือจากวิชาบังคับเอกแล้ว ยังสามารถเรียนวิชาเลือกได้ตามความสนใจของนิสิต ซึ่งเราเรียนกันหลากหลายมากเลยค่ะ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ศาสนา ฯลฯ ซึ่งในวิชาเรียนเหล่านั้นเราก็จะต้องไปเรียนร่วมกับต่างคณะ เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ เป็นต้นค่ะ (เป็นที่แซวกันว่าเด็กเอกสังคมแทบจะไม่ได้อยู่ที่คณะตัวเองเลยค่ะ ตะลอนไปหลายคณะมาก ฮา)

นอกจากนี้ยังมีวิชาการสอนที่เป็นหัวใจสำคัญในการเรียนครุศาสตร์ค่ะ เราก็จะเรียนกันตั้งแต่กระบวนการสอน การวัดผล ฯลฯ ไปจนกระทั่งการฝึกสอนในช่วงชั้นปีที่สี่ค่ะ โดยในรายวิชาก็จะให้นิสิตได้ลองฝึกการสอนดูจริง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน นิสิตก็จะได้เรียนวิชาที่จะสอนการทำวิจัยเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนิสิตที่ต้องการศึกษาต่อไปในระดับที่สูงขึ้น และเพื่อให้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปค่ะ

คิดว่าจุดเด่นของคณะและสาขาของเราคืออะไร

อย่างที่ได้ชื่อว่า ครุศาสตร์ จุดเด่นคือการที่นิสิตมีการฝึกการสอนและการได้ร่วมทำงานกับโรงเรียนและชุมชนเพื่อให้นิสิตได้ใกล้ชิดกับนักเรียนและเกิดการพัฒนาในตัวเองเพื่อเป็นครูที่ดีของสังคมต่อไป นี่คือสิ่งที่ทำให้คณะเราไม่เหมือนกับคณะอื่นถึงแม้ว่าจะเรียนวิชาการตัวเดียวกันมาก็ตามค่ะ ทั้งนี้อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าครุศาสตร์เด่นมากในใจเราคือ ความหลากหลายเลยค่ะ 55555555 คณะเรามีหลายสาขามาก ได้แก่ สาขามัธยมที่จะแบ่งออกเป็นสายวิทย์ (หมวดวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) และสายศิลป์ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและสังคมศึกษา) หรือจะเป็นฝั่งสาขาศิลปะ ดนตรี พลศึกษา เทคโนโลยี ธุรกิจศึกษา หรืออีกแขนงหนึ่งไปเลยก็เป็น สาขาปฐมวัย การศึกษานอกระบบ และจิตวิทยาค่ะ เห็นได้ชัดว่าคณะครุศาสตร์มีสาขาและวิชาเอกแยกย่อยเยอะมากทีเดียว ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัดและความสนใจที่ตัวเองมีได้ค่ะ

มีวิชาไหนของคณะสาขาของเราที่เราชอบมากจนอยากเล่าให้ฟังมั้ย

เท่าที่เรียนตอนนี้ มีวิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาเบื้องต้นเลยค่ะที่ทำให้เราประทับใจสุด ๆ ค่อนข้างเป็นวิชาที่เปิดโลกทัศน์ของเรามาก ๆ ทำให้ได้เห็นว่าเรายังโง่เขลาแค่ไหนในโลกที่กว้างใหญ่กับมวลความรู้อันมหาศาล วิชานี้ตอบโจทย์มากสำหรับคนที่ชอบตั้งคำถามเชิงสังคม เช่น เหตุใดโลกฝั่งตะวันตกจึงมีวิทยาการ/ความศิวิไลซ์มากกว่าฝั่งตะวันออก แล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? คำตอบเหล่านี้หาได้จากวิชานี้เลยค่ะ ซึ่งในพาร์ทแรกจะเป็นการศึกษาแบบมองภาพกว้าง พาเจาะมุมมองเกี่ยวกับชนชั้น กลุ่มทางสังคม หรือปฎิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านทฤษฎีของนักคิดต่าง ๆ วิชานี้ไม่ได้สอนให้เรามองโลกในภาพกว้างเชิงสังคมเท่านั้น แต่ยังพาเรามองทะลุผ่านตัวตนของเรา ศึกษาพฤติกรรมจากข้างใน เช่นเรื่อง Self หรือ Gender เพื่อให้เราเข้าใจสังคมและความเป็นมนุษย์เพิ่มมากขึ้นนั่นเองค่ะ

คณะและสาขานี้ จบไปแล้วสมารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง

หลัก ๆ เลยคือเป็นครูได้ค่ะ 5555555 หรือทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ แต่สำหรับใครไม่อยากอยู่ในระบบราชการก็สามารถที่จะไปศึกษาต่อเพื่อมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ค่ะ ในอีกกรณีหนึ่งคือเป็นนักวิชาการ นักวิจัยก็เป็นอีกหนทางสำหรับคนที่ชื่นชอบงานศึกษาค้นคว้านะคะ

ในปัจจุบันที่ยังมีการระบาดของโควิด 19 อยู่ คณะและสาขาของเรามีวิธีปรับการเรียนการสอนยังไงบ้าง

ที่คณะปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ทั้งหมดค่ะ แม้แต่วิชาเอกสายวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการทำแลปอยู่บ้างก็ปรับเป็นออนไลน์ทั้งหมดค่ะ ในส่วนวิชาเอกสังคมของเราวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาบรรยายเสียทั้งหมดนะคะ ดังนั้นการเรียนการสอนเลยจัดเป็นออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องออนไซต์ในช่วงการระบาดค่ะ (ถึงแม้นิสิตเองก็อยากไปเรียนออนไซต์อย่างมากก็ตาม)

ช่วยฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้าและกำลังสนใจคณะนี้อยู่หน่อย

ยินดีด้วยสำหรับคนที่ค้นหาตัวเองจนเจอและเลือกคณะนี้นะคะ ถ้าเป็นคนที่ชอบการสอน การถ่ายทอดความรู้ แน่นอนว่าคุณคิดถูกแล้วค่ะ สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง พูดไม่ค่อยรู้เรื่องหรืออะไรก็ตามแต่ที่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการเป็นครู แค่คุณยังมีใจรักในการสอน ยังอยากถ่ายทอดความรู้ที่ตัวเองมีให้กับนักเรียนทั้งหลาย หรือคุณอยากเข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขสิ่งบกพร่องมากมายที่คุณมองเห็นในระบบการศึกษา ปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นถือเป็นเรื่องเล็กเลยค่ะ เมื่อเข้ามาแล้วสิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้จะช่วยแก้ไขปัญหานั้นให้คุณได้อย่างแน่นอน ขอเพียงคุณมีใจรัก พร้อมสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในฐานะครูผู้สอน เท่านั้นก็เพียงพอแล้วและเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดค่ะ ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเข้าสาขาอะไร ขอให้คุณโชคดี แล้วจะรอเจอคุณที่คณะนะคะ 😉

จบกันไปแล้วววว กับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษใส่ไข่ของพี่นุ่น รุ่นพี่ปี 1 สุดปัง จากครุ จุฬา เชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้คงตอบทุกคำถามของน้อง ๆ ที่กำลังใจสนใจในคณะนี้และสาขานี้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นทั้งรีวิวคณะครุและสาขาสังคมศึกษาและเคล็ดลับในการเตรียมตัวสอบฉบับพี่นุ่นอีกด้วย เรียกได้ว่าจุก ๆๆๆ สำหรับใครที่อยากเข้าคณะนี้และสาขานี้ อ่านหนังสือและทำโจทย์วนไปแบบที่พี่นุ่นบอกเลย เพราะว่า Practice makes Perfect !!!! ขอให้น้อง ๆ ทุกคนสมหวังกับคณะที่ตัวเองอยากเข้าน้า เป็นกำลังใจให้ทุกคนจ้า <3 <3 <3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

706 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

2,398 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

2,625 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

91,943 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

5,636 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

4,083 views