Follow us on

เรียนนิเทศเรียนไปเป็นดาราจริงหรือ ? หาคำตอบกับ “พี่ไผ่” รุ่นพี่สุดปัง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

วันที่โพสต์
“สำหรับในคณะเรารู้สึกว่ามีสิ่งนึงที่โดดเด่นมาก ๆ คือทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองมาก ๆ
หมายถึงมีสไตล์ มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง และมันหลากหลายมากก ทำให้เราเจอคนหลายแบบ
เพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายแบบ แต่ทุกคนค่อนข้าง support กันดีมาก”

“ไผ่เชื่อจริง ๆ ว่าจะอีกสิบปี ร้อยปี คนก็ยังต้องการสื่อบันเทิง ถึงคนจะดูหนังโรงน้อยลง ดูรายการน้อยลง
แต่คนดูสตรีมมิ่งก็มากขึ้น ยูทูป ติ้กต่อก อะไรพวกนี้มันอาจจะเข้ามาแทนสื่อแบบเก่าไป
แต่ไม่มีทางเลยที่มนุษย์จะใช้ชีวิตโดยปราศจากความบันเทิง
และคนที่สร้างสื่อเหล่านั้นก็คือพวกเราที่เรียนนิเทศ”
– พี่ไผ่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-

เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของคณะนิเทศศาสตร์อยู่ไม่มากก็น้อย  ไม่ว่าจะเป็น เรื่องกิจกรรม ความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง หรือเรื่องความสนุกต่าง ๆ  ในคณะ หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่า เรียนนิเทศแล้วตกงานจริงมั้ย!? จบนิเทศต้องทำงานในวงการบันเทิงรึป่าว!? วันนี้พี่ ๆ ทีมงาน TCASter จะพาน้อง ๆ มาหาคำตอบกับรุ่นพี่สายตรงจากนิเทศจุฬาฯ อย่ารอช้า! ไปดูกันเลย!

แนะนำตัวสั้น ๆ ให้น้อง ๆ รู้จักหน่อย

สวัสดีค่าา เราชื่อไผ่น้า ตอนนี้ไผ่กำลังจะขึ้นปีสองที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เพิ่งเลือกภาค ABC (Advertising and Brand Communication) หรือการโฆษณาและสื่อสารตราสินค้าไปคับ

พี่ไผ่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ1

พี่ไผ่รู้ตัวตอนไหนว่าอยากเข้าคณะนี้ แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่เราสนใจสายนี้

จริง ๆ แล้วไผ่เพิ่งมารู้ตัวช่วงม.5 นี่เองแหละว่าอยากเข้านิเทศ คือก่อนหน้านั้นไผ่อยากเข้าอักษรมาก่อน แต่พอมาม.ปลายเรามีโอกาสได้เป็นนักเรียน Gifted English ซึ่งมันก็จะเรียนพวกการอ่าน วิเคราะห์อะไรต่าง ๆ ด้วย แล้วพอเรียนคือเราก็เอนจอยมาก ๆ เลยนะ แต่พอเราถามตัวเองว่าเราอยากเรียนอะไรแบบนี้ไปตลอด 4 ปี ทั้งวัน ทุกวัน แล้วก็เอามันมาทำเป็นอาชีพจริง ๆ เหรอ ไผ่ก็ตอบตัวเองว่าคงไม่ขนาดนั้น จุดที่ทำให้เราสนใจนิเทศขึ้นมาก็เพราะไผ่มีโอกาสได้ทำหนังสั้นในงานโรงเรียนค่ะ ตอนนั้นก็ทำกับเพื่อน ๆ แล้วเรารู้สึกสนุกมาก มีความสุขมาก รู้สึกว่าสามารถไปถ่ายแต่เช้าและกลับมาตัดต่อได้ต่อ เลยทำให้อยากเข้านิเทศขึ้นมากค่ะ 

 

ตอนนั้นพี่ไผ่ต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง แล้วมีวิธีเตรียมตัวยังไงบ้าง ลองแชร์ให้น้อง ๆหน่อย

ตอนนั้นไผ่ใช้ Pat 7.1 กับ Gat เพราะเราเข้ารอบ 3 แล้วด้วยความที่จริง ๆ ตอนม.6 ไผ่ก็ยังคงทำกิจกรรมและแอบยุ่งมาก ๆ เลยรู้สึกว่าทุก ๆ วินาทีที่ว่างมันสำคัญมาก และด้วยความที่เวลาว่างของไผ่มันไม่แน่นอน ไผ่เลยเน้นอ่านเองมากกว่าเรียนพิเศษ แต่ก็เรียนไม่เยอะมาก เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่มีเวลามาก อย่างช่วงปิดเทอมไผ่อ่านหนังสือหนักมาก ๆ เพราะเรารู้ว่าเทอมสองที่เพื่อน ๆ มีเวลาอ่านกัน เราจะต้องเอาเวลาไปเตรียมงานโรงเรียนอีกเยอะมาก

วิธีการอ่านหนังสือของไผ่ คือ ระยะแรกไผ่จะอ่านเนื้อหาให้หมดก่อนสักรอบหนึ่ง ย้ำเนื้อหาส่วนที่เราไม่ถนัดหลาย ๆ รอบ ไผ่จะ schedule ตัวเองไว้ว่าก่อนเริ่มอ่านในแต่ละวัน ไผ่ต้องมาดูเรื่องนี้ ๆ ที่เราไม่แม่นก่อน แล้วก็เริ่มอ่านต่อตามแพลน  คือ ไผ่จะเขียนแพลนทุกเช้า เขียนว่าวันนี้เราจะอ่านถึงตรงไหน เรื่องอะไรบ้าง ถ้าได้มากกว่านั้นก็เป็นถือว่ากำไร ระยะต่อมาก็คือการทำโจทย์ ซึ่งไผ่ค่อนข้างให้เวลากับส่วนนี้มากกว่า ทั้งหนังสือโจทย์ ข้อสอบเก่า ทำให้หมดดดด ระหว่างทำไผ่ก็จะมาร์คข้อที่รู้สึกว่าน่าสนใจเอาไว้ด้วย โดยที่อาจจะเป็นข้อที่เราทำถูกก็ได้ แต่รู้สึกว่า tricky อะไรแบบนั้น แล้วพอหลังตรวจเสร็จ ไผ่จะกลับมาดูข้อผิดกับข้อที่มาร์คไว้ แล้วจดคำอธิบายข้อเหล่านั้นไว้ค่ะ

พอถึงช่วงโค้งสุดท้ายที่รู้สึกว่าเริ่มไม่มีอะไรจะอ่าน ก็จะเอาสมุดที่จดข้อผิดนี่แหละค่ะมานั่งอ่านอีกทีให้ไม่พลาดด แล้วอีกอย่างก็คือเรื่องการให้ความสำคัญกับวิชาที่เราจะใช้สอบ อย่างส่วนตัวไผ่ค่อนข้างถนัดภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แต่ค่อนข้างกังวลกับภาษาฝรั่งเศส เวลาในการอ่านหนังสือก็เลยจะเทให้ฝรั่งเศสซะเป็นส่วนใหญ่ค่ะ แต่ยังไงทุกคนก็ลองดูตามความเหมาะสมของตัวเองนะ อีกอย่างคืออยากแนะนำแอพ quizlet มากก มันช่วยให้จำศัพท์ได้ดีมาก ๆ  คือมันเป็น flash card แล้วก็มีเกมจับคู่ เกมเติมคำ อะไรแบบนี้จากศัพท์ที่เราใส่ไป ไผ่จะเล่นช่วงว่าง ๆ เช่นตอนอยู่บนรถไฟฟ้า ตอนนั่งรอนู่นนี่ อะไรแบบนี้ค่ะ

พี่ไผ่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ2

หลายคนมีความเข้าใจว่านิเทศ คือ เรียนเพื่อเป็นหน้ากล้องซะส่วนใหญ่ อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่าจริง ๆ นิเทศมีเรียนอะไรบ้าง 

หลายคนอาจจะมีภาพจำกับคณะนิเทศว่าเป็นคณะที่เรียนแค่การผลิตสื่อ เป็นคนอยู่ในสตูดิโอรายการ กองถ่ายหนัง หรืออะไรทำนองนั้น ยอมรับว่าไผ่เองในตอนแรกก็คิดแค่นั้นเหมือนกันค่ะ (อาจจะเพราะตอนแรกเราสนใจจะเรียนสาขา Film หรือภาพยนตร์และภาพนิ่งด้วย ภาพที่เราเห็นคณะถึงเป็นแบบนั้น)

แต่พอเข้ามาจริง ๆ แล้ว มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคณะนิเทศเท่านั้นเอง ที่จริงแล้ว นิเทศศาสตร์เป็นการเรียนเกี่ยวกับ “ทุก ๆ วิธีในการสื่อสาร” เรียนตั้งแต่การสื่อสารโดยการพูด บุคลิกภาพ การสื่อสารผ่านแสดง โดยเป็นสิ่งที่ใช้ตัวเราเองเป็นสื่อ และการสื่อสารโดยใช้สื่อต่าง ๆ ทั้งการเขียนแบบใช้บทความ เรื่องสั้น ข่าว สารคดี หนังสือพิมพ์เป็นสื่อกลาง การสร้างสื่อภาพและเสียง อย่างรายการ ภาพยนตร์ หรือภาพนิ่งที่เราเห็นกัน ไปจนถึงการสื่อสารสำหรับองค์กร อย่างการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารในองค์กร และการสื่อสารตราสินค้า ดูเยอะไหมนะ 55555

พอเข้ามาปีหนึ่ง เราก็จะได้เรียนวิชาพื้นฐานของการสื่อสารแต่ละแบบที่ไผ่เขียนไปด้านบนเลย ทั้งการพูด การเขียน การผลิตสื่อภาพและเสียง แล้วก็จะมีเรียนวิชาเกี่ยวกับจริยธรรมในการเป็นสื่อ และประวัติของการสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งถือว่าสำคัญมาก ๆ สำหรับการทำงานในวงการสื่อ และเพราะการสื่อสารมีหลากหลายรูปแบบมาก ๆ และมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันด้วย ในคณะของเราเลยมีแบ่งเป็น 7 สาขา ที่เรียนเจาะลึกการสื่อสารแต่ละแบบที่แตกต่างกันไปเลยค่ะ 

แล้วอย่างนี้เราเลือกภาคตอนปีไหนนะ แล้วตอนนี้พี่ไผ่เรียนภาคอะไร มีความน่าสนใจยังไงบ้าง 

เราจะได้เลือกสาขากันตอนขึ้นปี 2 หลังจากที่เรียนวิชาพื้นฐานของทุก ๆ สาขาไปแล้ว ซึ่งอย่างที่บอกว่าตอนแรกไผ่สนใจ Film แต่สุดท้ายพอมาเรียนจริง ๆ กลับเลือก ABC ไป เพราะว่าพอเราได้เรียน ได้ทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ไป แล้วมาตกตะกอนกับตัวเองอีกที เรารู้สึกว่าภาคนี้ตอบโจทย์เรามากกว่า ไผ่ยังไม่ได้เริ่มเรียนในภาคนะะ

แต่วิชาของภาคส่วนใหญ่ก็จะเรียนทุกอย่างเลยในการสื่อสารตัวแบรนด์ จะมีวิชาในฝั่ง Marketing ที่เรียนในเรื่องการวิเคราะห์ผู้บริโภค การวางแผนการตลาดของสินค้าหรือตัวแบรนด์ การสำรวจตลาดและเก็บข้อมูล และวิธีการในการสื่อสารองค์กรในแบบต่าง ๆ

ฝั่ง Creative ที่เรียนเรื่องการสร้างงานออกมาที่ตอบโจทย์การสื่อสารตราสินค้า ทั้งแคมเปญ สโลแกน งานอาร์ตเวิร์ค และหนังโฆษณาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไผ่สนใจทั้งหมดเลยยย แค่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเรียนในนิเทศ 55555

ดังนั้นอยากให้ทุกคนลบภาพจำเดิม ๆ ว่านิเทศต้องทำงานแค่ในกองถ่าย สตูดิโอ หรือเป็นดาราไปได้เลยย เพราะจริง ๆ เรามีอะไรให้เลือกเรียนหลากหลายมากก!

 

ถ้านึกถึงคณะนิเทศ พี่ไผ่นึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก

พูดถึงนิเทศก็ต้องนึกถึงกิจกรรมไหมนะะ 55555 ซึ่งใช่แล้วว เราว่ามันเป็นจุดเด่นมาก ๆ จริง ๆ ของคณะเรา ด้วยกิจกรรมที่มีมาตลอดเวลา มีอะไรใหม่ ๆ ให้คนในขณะเข้าร่วมเยอะมาก ๆ ตลอดทั้งปีเลย ช่วงที่เป็นเฟรชชี่ใหม่ ๆ ก็คือมีกิจกรรมให้เข้าร่วมตลอด แต่ก็ไม่ได้มีบังคับนะะ ถ้าไม่อยากเข้าก็ไม่เป็นไรเลย

เรารู้สึกว่ามีหลาย ๆ อย่างที่เปิดโอกาสให้คนในคณะมีส่วนร่วมเยอะมาก ๆ อย่างล่าสุดก็มีการเปิดรับผลงานอะไรก็ได้ ของใครก็ได้ในคณะ เพื่อเอามาจัดเป็นนิทรรศการให้ทุกคนได้ดูกัน (แอบขาย ติดตามได้ที่ ig: nitade.exhibition) และคือมันจะมี “มวล” ของคณะที่เป็นจุดเด่น 5555 เหมือนบรรยากาศ vibe ในคณะ ความกระตือรือร้น ความที่อยู่ ๆ ใครอยากทำอะไรก็ทำ เช่นเปิดเพลงแล้วเดินแบบที่ใต้ถุน พร้อมกองเชียร์กรี๊ดข้างรันเวย์ แต่ข้าง ๆ มีคนเล่นสเก็ตบอร์ด อีกมุมนึงร้องเพลงเล่นกีต้าร์ อีกมุมนึงหมากรุก เป็นมวลของนิเทศจริง ๆ 5555 

พี่ไผ่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ2

พูดถึง “มวล”คณะแล้ว อยากให้พีไผ่ขยายความซะหน่อยว่าสังคมในคณะเป็นยังไง

สำหรับในคณะเรารู้สึกว่ามีสิ่งนึงที่โดดเด่นมาก ๆ คือทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองมาก ๆ หมายถึงมีสไตล์ มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง และมันหลากหลายมากก ทำให้เราเจอคนหลายแบบ เพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายแบบ แต่ทุกคนค่อนข้าง support กันดีมากกก อย่างที่เราบอกไปว่ามันจะมีกิจกรรมลากหลายมากมาเรื่อย ๆ เลย แล้วคนในคณะก็จะชวน ๆ กันไปทำตลอด ทั้งงานในคณะนอกคณะเลย คนในคณะก็จะมี  bound ที่เข้มแข็งมากประมาณนึงเลย อีกอย่างคือเรารู้สึกว่านิเทศก็คือสังคมนึงที่มีคนหลายแบบ ดังนั้นไม่ต้องกังวลเลยว่าถ้าเราไม่ได้เป็นคน extrovert หรือเข้าสังคมเก่งจะอยู่ในคณะเสียงดังแบบนิเทศได้ไหม เราคิดว่าทุกคนจะเจอกลุ่มคนที่เข้ากันได้แน่นอนน

 

หลาย ๆ คนบอกว่าเรียนนิเทศแล้วตกงาน อันนี้พี่ไผ่คิดว่าไง

อืมมม ไผ่คิดว่าเรียนคณะอะไรไปก็มีสิทธิ์ตกงานได้ทั้งนั้น และในทางกลับกัน ถ้าเรามีความสามารถในสิ่งที่เราทำ ไผ่ก็คิดว่ายังไงเราก็จะหางานได้อยู่ดีนั่นแหละะ นิเทศก็เหมือนกัน ไผ่คิดว่าหลายครั้งเราอาจจะไม่ได้เอาจุดเด่นของคณะเราออกมาใช้มากพอ อย่างสาขาที่ไผ่เรียน เค้าก็บอกกันว่าเรียนเหมือนบัญชีผสมกับมัณฑนศิลป์ แต่น้อยกว่า สู้เค้าไม่ได้หรอก ถ้าไปสาย data ก็สู้วิศวะไม่ได้อะไรแบบนั้น แต่ไผ่มองว่าที่เราได้เปรียบคือเรื่องการสื่อสารนี่แหละค่ะ เหมือนเราเรียนเชิงลึกในจุดที่ผู้ส่งสารกับผู้รับสารมาเจอกันพอดี ซึ่งคือจุดที่สำคัญมาก ๆ ในการที่เราจะสื่อสารตัวสินค้าของเราออกไป ถ้าเราวิเคราะห์ข้อมูล หรือทำอาร์ตเวิร์คมาดีมาก ๆ แต่ส่งต่อความหมายที่แท้จริงไปไม่ได้ก็คงไม่มีความหมาย ซึ่งไผ่มองว่านิเทศเติมเต็มตรงนั้นให้กับงานได้ค่ะ

ส่วนในสายอื่น ๆ ไผ่เชื่อจริง ๆ ว่าจะอีกสิบปี ร้อยปี คนก็ยังต้องการสื่อบันเทิง ถึงคนจะดูหนังโรงน้อยลง ดูรายการน้อยลง แต่คนดูสตรีมมิ่งก็มากขึ้น ยูทูป ติ้กต่อก อะไรพวกนี้มันอาจจะเข้ามาแทนสื่อแบบเก่าไป แต่ไม่มีทางเลยค่ะที่มนุษย์จะใช้ชีวิตโดยปราศจากความบันเทิง และคนที่สร้างสื่อเหล่านั้นก็คือพวกเราที่เรียนนิเทศ ดังนั้นไผ่คิดว่าจริง ๆ คณะเราสามารถสร้างอะไรได้มากจริง ๆ สิ่งสำคัญอยู่ที่เราหาความโดดเด่นของเราให้เจอและใช้มันค่ะ

 

แล้วนิเทศเรียนไปจะทำงานสายไหนได้บ้าง 

จริง ๆ ก็จะแล้วแต่สาขาที่เราเรียนเลยย อย่างที่เราอธิบายไปแล้วว่านิเทศแต่ละสาขาจะเรียนแตกต่างกันไปในแต่ละแขนง เราก็สามารถทำอาชีพได้ตามสิ่งที่เราเรียนเลย แต่ในความจริงหลายคนก็ไม่ได้ทำงานตรงสาขาก็มีมากมาย 5555

อาชีพที่ทำได้ถ้าเป็นคนที่เรียนสาขาเกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์หรือรายการต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะทำงาน Production เป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ เขียนบท หน้าที่ในกองถ่ายต่าง ๆ หรือช่างภาพ ต่อมาอีกสายนึงก็จะเป็นสายข่าวสายเขียน ก็จะทำงานพวกบรรณาธิการ นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ เขียนบทความเอย หรือจะเป็นพวก Content Creator ก็ได้ ถ้าเป็นในฝั่งโฆษณา ก็จะเป็นอาชีพที่ทำงานในแวดวงนั้น พวกอาชีพวางแผนการโฆษณา วางแผนการใช้สื่อ หรือทำสาย Marketing วิเคราะห์ตลาด หรือ Creative คิดแคมเปญงี้ไปเลยก็ได้เหมือนกัน แล้วก็อีกอย่างคืออาชีพนักประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะทำงานเรื่องการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร งานสายพูดก็ทำได้ เช่นพวกพิธีกรรายการ MC งานอีเวนต์ต่าง ๆ หรืออาชีพอย่างนักแสดง จะจอเงินจอแก้ว หรือว่าละครเวทีก็ได้เหมือนกันน จะเห็นว่าจริง ๆ นิเทศทำงานได้หลากหลายมาก ๆ เลยย แบบอยู่ที่เราสนใจจะเรียนและศึกษา เพราะมันเปิดกว้างมาก ๆ

พี่ไผ่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ4

สุดท้ายแล้วพี่ไผ่มีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจมั้ย

ไผ่ฝากเรื่องการค้นหาตัวเองแล้วกัน ไผ่ว่ามันสำคัญมาก ๆ เพราะเราคิดว่าหลายคนอาจจะสนใจนิเทศเพราะรู้ตัวว่าไม่ชอบคณะอื่น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าชอบอะไรในนิเทศจริง ๆ หรือเปล่า ไผ่คิดว่ามันไม่เป็นไรหรอกนะที่เราอาจจะยังไม่รู้ในตอนนี้ พอเข้ามาเราจะยังมีโอกาสในการลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้อีกเยอะมากกกกกก การเรียนมหาวิทยาลัยคือคนละเรื่องกับการเรียนมัธยมเลยเแหละ มันทำให้เรารู้ตัวเองมากกว่าจริง ๆ แต่ยังไงก็ตาม ไผ่ก็อยากให้ทุกคนลองคิดกับตัวเองอย่างรอบคอบ ว่าเราจะมีความสุขกับอะไรที่สุดและเลือกอะไรที่จะไม่เสียดายนะ

ในตอนนี้หลายคนอาจจะกังวล ไม่ว่าจะเลือกคณะ เรื่องสอบเข้า หรืออะไรก็ตาม ไผ่คิดว่าทุกคนทำได้อยู่แล้ว!!! อยากให้ทุกคนเต็มที่กับทุก ๆ อย่างที่จะทำ พอเรามองย้อนกลับมา ถึงผลอาจจะออกมาไม่ตรงกับที่อยาก แต่ก็จะได้รู้สึกว่าเราสุด ๆ แล้ว ถ้าย้อนกลับไปคงทำมากกว่านั้นไม่ไหว และอย่าดูถูกความสามารถตัวเองง พอเราไปเจอสังคมใหม่ เราจะรู้สึกกดดันตัวเองเป็นธรรมดา ว่าทำไมคนนู้นคนนี้เรียนเก่งจัง คะแนนดีจัง หาทำเยอะจัง แต่อย่าด้อยคุณค่าในตัวเองเด็ดขาด!!! ทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองเก่ง ไผ่รู้ว่าเป็นแบบนั้น สู้ ๆ กับทุกอย่างนะทุกคนน

และทั้งหมดนี้ คือบทสัมภาษณ์ของพี่ไผ่ รุ่นพี่จากนิเทศจุฬา ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่อยากเข้าคณะนี้ พี่เชื่อว่าถ้าอ่านบทความของพี่ไผ่ น้อง ๆ ต้องอะไรกลับไปเยอะมากแน่นอน และถ้าน้อง ๆ คนไหนที่อยากเริ่มจากการหาตัวตนของตัวเองแบบที่พี่ไผ่บอก สามารถเริ่มต้นตอนนี้ได้เลย! ค้นหาตัวเองฉบับวัยเรียน หรือน้อง ๆ คนไหนที่กำลังจะเริ่มฝึกทำโจทย์ สามารถหาโจทย์เก่า ๆ ในการฝึกทำข้อสอบได้จาก เตรียมสอบ TCAS65 แล้วมาฝึกทำโจทย์เพื่อเข้าคณะที่ต้องการไปด้วยกันนะ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทียบคะแนน A-Level TCAS66 vs TCAS67 – TCASter

378 views

วิธีคำนวณคะแนนรอบ 3 ที่ #DEK68 ห้ามพลาด! – TCASter

471 views

5 ขั้นตอนใช้งาน TCASter App ฟีเจอร์ “ประเมินโอกาสสอบติด” – TCASter

546 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยศิลปากร – TCASter

935 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – TCASter

911 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยบูรพา – TCASter

1,009 views