Follow us on

มาทำความรู้จัก สาขาการกำหนดอาหาร และโภชนบำบัด กับรุ่นพี่วิว!

วันที่โพสต์

น้อง ๆ คนไหนสนใจในสายสุขภาพ แล้วชอบในเรื่องของอาหาร พี่ขอแนะนำสาขานี้เลย “ สาขาการกำหนดอาการ และโภชนบำบัด” น้อง ๆ คนไหนที่สนใจวันนี้ต้องห้ามพลาด!! เพราะวันนี้เราได้ตัวรุ่นพี่ที่จบจากสาขานี้โดยตรง ลองมาอ่านกันเลยดีกว่าว่าพี่เขาจะมาแชร์อะไรบ้าง เริ่มกันเลย!!

สวัสดีค่า เริ่มที่ลองแนะนำตัวก่อนได้เลย

สวัสดีค่า พี่ชื่อ พี่มิ้ง จากคณะวิทยาศาสตร์ เอกคหกรรมศาสตร์ สาขาการกำหนดอาหารและโภชนบำบัด มศว ค่ะ

.

เพิ่งรู้ว่าในเอกคหกรรม มีสาขาการกำหนดอาหาร และโภชนบำบัดด้วย

ก็แล้วแต่หลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ อย่างเมื่อก่อนของ มศว สาขาการกำหนดอาหาร และโภชนบำบัด จะอยู่ในเอกคหกรรมศาสตร์ แล้วไม่ใช่มีแค่สาขากำหนดอาหารฯ เท่านั้นนะคะ ยังมีอีก 2 สาขาด้วย คือ 1. สาขาอาหาร และโภชนาการ และ 2. สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มด้วย อธิบายง่าย ๆ คือ หลังจากที่เราเลือกเข้ามาในเอกคหกรรมศาสตร์แล้ว เราต้องเลือกสาขาในการเรียนด้วย แต่เท่าที่รู้มาตอนนี้ทางสาขาได้มีการเปลี่ยนหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจอาจจะต้องลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทางมหาวิทยาลัยโดยตรงค่ะ

การกำหนดอาหารและโภชนบำบัด

.

ถ้าย้อนกลับไปพี่มิ้งรู้ตัวว่าอยากเข้าคณะนี้ช่วงไหน แล้วทำไมตอนนั้นถึงคิดว่าคณะนี้แหละที่ฉันจะเข้า

เอาจริง ๆ ไม่เชิงรู้ตัวว่าอยากเรียนคณะนี้…แค่รู้ว่าตัวเองชอบเกี่ยวกับอาหาร  ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำ, การกิน หรือการดูจากแหล่งต่าง ๆ เลยคิดว่าถ้าชอบก็เรียนเกี่ยวกับด้านอาหารเลยแล้วกัน ประจวบเหมาะกับมีพี่มาช่วยแนะนำด้วยว่ามีคณะแบบนี้อยู่นะ เรียนเกี่ยวกับด้านอาหาร และโภชนาการ พอเราได้ลองคุยกับพี่เขา เราก็รู้สึกสนใจในคณะ และสาขานี้มากขึ้น ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเลือกหาข้อมูลเพิ่มเติม สุดท้ายก็ได้มาเรียนในคณะนี้ สมที่ตั้งใจไว้ค่ะ

.

แล้วพอรู้ตัวว่าอยากเข้าจริง ๆ นอกจากการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะแล้ว พี่มิ้งมีการเตรียมตัวยังไงบ้าง 

การเตรียมตัวน่าจะเหมือนกับเด็ก ม.ปลายทั่ว ๆ ไปเลย มีไปเรียนพิเศษเสริม ลงคอร์สติวต่าง ๆ ที่เราจะใช้สอบได้ แล้วก็ฝึกทำข้อสอบทำแบบนี้วนลูปที่แท้จริงค่ะ แต่เราไม่ได้ทุ่มเทกับการเรียนแบบหนักจนไม่ได้ใช้ชีวิตเลย ด้วยช่วงชีวิต ม.ปลาย ก็มีหลาย ๆ อย่างที่ให้เราได้ลองทำเนอะ เราก็เลือกที่จะแบ่งเวลาดี ๆ เท่านั้นเลย เรียนบ้าง เล่นบ้าง แอบโดดบ้างก็มีค่ะ 55555 (แต่อันสุดท้ายไม่แนะนำให้ทำตามค่าา)

.

อยากถามถึงเรื่องความรู้สึกก่อนเรียน และหลังเรียนบ้าง มีความแตกต่างกันมากไหม

ฮื่ม…ก่อนเรียนกับหลังเรียนรู้สึกว่าแตกต่างกันมาก อย่างในช่วงประถมถึงมัธยมเราก็ได้เรียนพวกวิชาสุขศึกษาฯ มาแล้ว ซึ่งเราก็จะรู้เกี่ยวกับอาหารแค่เบื้องต้นว่า อาหารมี 5 หมู่นะ เราควรกินให้ครบ 5 หมู่ ในแต่ละหมู่คืออะไร ทำหน้าที่ และให้ประโยชน์ด้านไหนบ้าง บอกเลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่เบื้องต้น เน้นว่าเบื้องต้นจริง ๆ หลังจากที่ได้เข้ามาเรียนแล้ว และเริ่มลงลึกไปถึงขั้นที่ว่าอาหารชนิดนี้ให้พลังงานรวมทั้งหมดเท่าไร สามารถแยกออกมาเป็นพลังงานที่มาจากคาร์โบไฮเดรต, โปรตีน และ ไขมันเท่าไหร่  รวมถึงมีการเรียนด้านโภชนบำบัดเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งเป็นการเรียนว่าโรคแต่ละชนิดควรกินอาหารแบบไหนบ้างนั่นเอง เรียกได้ว่าเรียนแบบเจาะลึกกันเลยทีเดียว

การกำหนดอาหารและโภชนบำบัด

.

โห…งั้นเรามีต่อกันเลย อยากให้พี่มิ้งลองเล่าถึงรายละเอียดว่าสาขานี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้างให้ฟังหน่อย

ขอแบ่งอธิบายเป็น 2 ส่วนจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ส่วนแรกเราจะมาพูดเกี่ยวกับด้านโภชนบำบัดก่อน อยากให้มองภาพว่าเป็นการเรียนเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมกับโรคนั้น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรค ผู้ป่วยจะได้ไม่กินอาหารที่ไปทำให้ร่างกายตัวเองแย่ลง เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ควรกินอาหารประเภทไหน และควรหลีกเลี่ยงการกินอะไรบ้าง  หากกินเข้าไปแล้วจะมีแร่ธาตุ หรือสารอาหารตัวไหนไปส่งผลให้เกิดอาการต่อโรคนั้นอย่างไรบ้าง และนอกจากตัวสารอาหารที่ต้องกำหนดแล้ว ยังต้องคิดด้วยว่าผู้ป่วยสามารถกินได้ปริมาณเท่าไหร่ ไปจนถึงคํานวณพลังงานที่ผู้ป่วยควรได้รับต่อวัน แล้วต้องแยกออกมาเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ว่าต้องทานอาหารแต่ละหมู่ในปริมาณเท่าไหร่ต่อ 1 วันด้วย  

และในส่วนที่ 2 คือ เป็นส่วนของที่ไม่เกี่ยวกับโภชนบำบัดโดยตรง จริง ๆ ในเอกก็จะได้เรียนทุก ๆ อย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารเลย ทั้งการหาเชื้อจุลินทรีย์ / แบคทีเรียในอาหาร , แล็บการทำอาหาร หรือปฏิบัติการขนมอบ เป็นต้น ซึ่งวิชาปฏิบัติการขนมอบนั้นเราจะเรียกกันว่า “แล็บเบเกอรี่’’  เป็นวิชาที่เราจะได้ลงมือทำขนมต่าง ๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนการทำ และการอบ ซึ่งขนมที่อบเสร็จแล้วเราก็จะนำมาเปรียบเทียบดูผลการทดลอง หลังจากนั้นเราก็สามารถนำขนมที่อบเสร็จมากินได้ หรือหากกินไม่หมดเราสามารถเตรียมกล่องมาใส่ขนมกลับไปกินที่บ้านได้อีก ถือว่าเป็นวิชาที่เรียนแล้วอิ่มทุกครั้งเลยค่ะ

.

นอกจากการเรียนแล้ว ที่นี่มีการจัดฝึกงานบ้างไหม แล้วถ้ามีพี่มิ้งได้ฝึกแบบไหนบ้าง อยากให้พี่มิ้งลองแชร์ประสบการณ์การฝึกงานให้น้อง ๆ ได้ฟัง

มีการฝึกงานค่ะ จะเป็นการฝึกช่วงปิดเทอมปี 3 และปี 4 สาเหตุที่จะต้องฝึก 2 ครั้งเพราะว่าจะต้องเก็บจำนวนชั่วโมงการฝึกงานให้ครบ 900 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีสิทธิ์ในการสอบใบประกอบวิชาชีพนักกำหนดอาหาร (CDT)

การฝึกงานจะฝึกอยู่โรงพยาบาล ในกลุ่มงานโภชนศาสตร์ งานที่ได้ทำก็จะมีให้คำปรึกษา / แนะนำการบริโภคอาหารให้กับผู้ป่วย, ตรวจเช็กถาดอาหารของผู้ป่วยออกก่อนจะนำส่ง, เตรียมวัตถุดิบ และคำนวณปริมาณอาหารปั่นทางสายยาง ,ออกหน่วยให้ความรู้โภชนาการตามบริษัทต่างๆ หรือ ออกหน่วยไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน เป็นต้นค่ะ งานที่ฝึกก็จะประมาณนี้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เราไปฝึกว่าจะมีงานประมาณไหนบ้าง แต่ละโรงพยาบาลก็จะไม่เหมือนกัน แต่ละที่ก็จะเจอเคสที่แตกต่างกันไป

.

แล้วในด้านของการทํางาน มีสายไหนบ้าง คล้ายกับการฝึกงานเลยไหม 

จริง ๆ ก็คล้ายเลยค่ะ แต่การทำงานจริงจะมีความหลากหลายมากขึ้น สามารถเลือกได้หลายทาง แต่ของสาขานี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักกำหนดอาหารนักโภชนาการตามโรงพยาบาล หรือตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหารเลย หรือบางคนก็เลือกเป็นครู หรืออาจารย์ก็ได้เหมือนกันค่ะ แต่อาจต้องไปหาข้อกำหนดในการสมัครเพิ่มเติม

การกำหนดอาหารและโภชนบำบัด

.

ขอกลับมาเรื่องตอนเรียนอีกครั้ง อยากรู้โปรเจคของพี่มิ้ง ตอนนั้นพี่มิ้งทำโปรเจคเกี่ยวกับอะไรบ้าง

โปรเจคของตัวเองที่ได้ทำไป คือ บราวนี่เห็ดค่ะ  ก่อนที่จะทำก็คิดว่าในปัจจุบันคนเริ่มหันมาบริโภคเบเกอรี่กันมากขึ้น  แล้วเบเกอรี่ส่วนผสมส่วนใหญ่ จะมีแต่แป้ง น้ำตาล แล้วก็ไขมัน ก็เลยคิดว่าอยากจะเพิ่มวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ลงไปในขนม และอีกอย่างจะได้เพิ่มเนื้อสัมผัสเวลากินบราวนี่ด้วย แล้วสาเหตุที่เลือกเห็ด เพราะ เห็ดต่าง ๆ สามารถหาซื้อได้ง่าย และยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย เลยคิดว่าจะนำเห็ดมาเป็นส่วนผสมในขนมบราวนี่ได้ นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจคนี้ค่ะ

.

จบเรื่องเรียนแล้ว มาคุยเรื่องกิจกรรมกันบ้าง รู้มาว่าที่ มศว มีกิจกรรมเยอะมาก อยากให้พี่มิ้งเล่าว่า ตั้งแต่เข้าปี 1 มา พี่มิ้งเจอกิจกรรมอะไรบ้าง เผื่อน้อง ๆ คนไหนที่อยากเข้าจะได้เตรียมตัวถูก

เยอะจริง ๆ ค่ะ ก็ถ้าเข้ามาเป็นเฟรชชี่ กิจกรรมแรกที่จะต้องเจอก็คือ การรับน้อง แต่ไม่ใช่การรับน้องแค่ครั้งเดียว เพราะการรับน้องในครั้งนี้เราจะโดนทั้งรับน้องเอก, รับน้องคณะ, และที่สำคัญของเฟรชชี่ มศว ที่สุดก็คือ ทุกคนจะได้ไปค่ายอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นการรับน้องทั้งมหาวิทยาลัยเลย โดยการรับน้องมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เราต้องไปที่องครักษ์ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของ มศว อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ รับน้องที่นี่มีกิจกรรมให้ทำเยอะมากก ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะความเป็นปี 1 เราก็จะมีพี่ ๆ ปีอื่น ๆ คอยดูแล รับรองว่าปลอดภัยแน่นอนค่ะ หลังจากนั้นก็จะมีกิจกรรมของคณะก็คือ การแข่งกีฬา  มีทั้งเชียร์ลีดเดอร์  แสตน ก็จะคล้าย ๆ ของมัธยมเลย  แต่ของตัวเองก็มีไปเข้าชมรมสันทนาการอยู่ช่วงหนึ่งด้วย ได้ร้อง เล่น เต้น สนุกสนานเฮฮามาก ก็ถือว่าเป็นการสร้างสังคมที่ดีอย่างหนึ่งเลยค่ะ

การกำหนดอาหารและโภชนบำบัด

.

ได้ข้อมูลแน่นมาก และแล้วก็เดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย อยากให้พี่มิ้งฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจคณะนี้สักหน่อย

ถึงน้องๆที่อยากเรียนสาขานี้นะคะ ถ้าน้อง ๆ ชอบเกี่ยวกับด้านอาหาร ด้านโภชนบำบัด ก็อยากให้น้อง ๆ ตั้งใจอ่านหนังสือทบทวนบ่อย ๆ ลองฝึกทำข้อสอบเกี่ยวกับวิชาที่จะต้องใช้ในการสอบ ฝึกฝนทำบ่อย ๆ จะได้ชินกับข้อสอบจริง อีกอย่างหนึ่งคือ อย่าลืมหาข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครเพิ่มเติม ถ้าน้อง ๆ คนไหนมีเป้าหมายแล้วก็อยากให้เจาะไปในเว็บไซต์ของที่นั้นโดยตรงเลย หรือถ้าน้อง ๆ คนไหนยังไม่รู้ก็ลองมาดูข้อมูลที่ TCASter App ได้ สุดท้ายพี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนนะคะ สู้ ๆ ค่าา

การกำหนดอาหารและโภชนบำบัด

เป็นยังไงกันบ้าง บอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีความน่าสนใจมาก ๆ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ได้ลองฟังบทสัมภาษณ์แล้วเกิดความสนใจในสาขานี้ ก็อย่าลืมหาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้เลย และถ้ากลัวพลาดข่าวการรับสมัครในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็อย่าลืมดาวน์โหลด TCASter App กันด้วยนะทุกคน

.

น้อง ๆ สามารถติดตามข่าวสารการสมัครสอบทุกรอบ

ในระบบ TCAS ได้ง่ายๆ เพียงแค่กดโหลด App

> IOS – http://bit.ly/TCASteriOS
> Android – http://bit.ly/TCASterAndroid

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กดวงรายเดือน! ดวงเดือนกันยายน 2567 #ฉบับวัยเรียน

1,520 views

แถลงการณ์ TCAS68 ล่าสุด! ที่ Dek68 และเด็กซิ่ว ต้องรู้มีอะไรสำคัญบ้าง

2,186 views

มาแล้ว! TCAS68 ม.ศิลปากร รอบพอร์ต เริ่ม 28 ต.ค. 67 – TCASter

4,199 views

สรุปประเด็น แถลงข่าว กสพท68 ปีล่าสุด มีอะไรเปลี่ยนบ้าง

1,959 views

#อัปเดต TCAS68 กสพท คืออะไร ต้องสอบอะไรบ้าง ? – TCASter

17,916 views

#อัปเดต TCAS68 ข้อสอบ TGAT/TPAT, A-Level คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS68

7,733 views