Follow us on

เจาะลึกหลักสูตรวิศวกรรม 2 ปริญญา เรียนที่ไทยและต่างประเทศ กับพี่วิน รุ่นพี่หลักสูตร TEP-Nottingham ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. (TSE)

วันที่โพสต์

“ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เพื่อเรียนอย่างเดียว
แต่ในเรื่องของการเรียนเราก็ต้องดีด้วย ดังนั้น
การวางแผน และการแบ่งเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”

“โครงการ TEP เป็นโครงการที่พี่ประทับใจมาก ๆ
และได้มอบประสบการณ์ที่ดีกับพี่ตลอดการเรียนทั้งกับที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ
The University of Nottingham”

Industrial Engineering หรือ วิศวกรรมอุตสาหการ
เป็นสาขาที่เรียนเป็นวิศวกรในแนวทางการบริหาร
คือ จะเข้าใจในเนื้อหาของทุก ๆ ภาคย่อยของวิศวกรรมนั่นเอง”

จากที่อ่านชื่อเรื่อง และข้อความด้านบนไปแล้ว…น้อง ๆ คงจะรู้แล้วว่าบทความในครั้งนี้เกี่ยวกับอะไร ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่กำลังสนใจหลักสูตร TEP  (Twinning Engineering Programmes) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE)  ต้องห้ามพลาดบทความนี้เลย!! วันนี้พี่พารุ่นพี่ของหลักสูตร TEP-Nottingham ในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มาสัมภาษณ์ เพื่อให้น้อง ๆ ได้เก็บข้อมูลของโครงการ และสาขาแบบเจาะลึกมากยิ่งขึ้น ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย!!

ก่อนเข้าเรื่องเรียนอยากให้ลองแนะนำตัวให้น้อง ๆ รู้จักกันหน่อย

สวัสดีครับ พี่ชื่อ บุญนิมิต  สามัตถิยดีกุล ชื่อเล่นวิน เรียนหลักสูตร TEP-Nottingham รุ่นที่ 21 ในภาควิชา วิศวกรรมอุตสาหการ หรือ Industrial Engineering นะครับ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น CEO หรือ ประธานกรรมการบริหาร ของบริษัท CT Logistics (Thailand) Co,. Ltd. บริษัทลูกในเครือของบริษัท Chartered Cargo Co,. Ltd. บริษัทที่พี่บริหารอยู่เป็นธุรกิจโลจิสติกระหว่างประเทศแบบ One Stop Service Logistics ให้บริหารการนำเข้าสินค้า และ จัดหา ให้กับลูกค้าทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ในการจัดซื้อเครื่องจักรต่างๆ จนถึง ธุรกิจระดับ SME ในการหาสินค้าราคาทุน เช่น ถ้าต้องการหาสินค้าที่มีขายอยู่แล้วในประเทศจีนและเพิ่มแบรนด์ของเราเพื่อนทำแบรนด์ของตนเองขายในไทย ทางบริษัทเรามีบริการหาของพร้อมเจรจาต่อราคา และ มีทีมขนส่งใน ทั้งประเทศจีน และประเทศไทย จัดสรรดูแลให้ด้วยประสบการณ์ของบริษัทมากว่า 20 ปีครับ

TEP-Nottingham
.

ตอนนั้นพี่วินรู้จักโครงการนี้ได้ยังไง แล้วรู้ตัวตอนไหนว่าตัวเองอยากเรียนต่อด้านนี้

              พี่รู้จักที่นี่ตอนม. 4  ตอนนั้นกำลังหาข้อมูลของคณะต่าง ๆ เพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ก็ถือว่าเตรียมตัวนานพอสมควรครับ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าอยากเข้าคณะนี้จริง ๆ ก็ตอน ม.5 ตอนนั้นคิดแล้วว่าต้องมาด้านวิศวกรรมแน่นอน และเห็นว่าหลักสูตร TEP ของโครงการ TEP-TEPE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. เป็นหลักสูตรที่น่าสนใจหลักสูตรหนึ่งเลย เพราะในหลักสูตรนี้ ทำให้เราได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ The University of Nottingham ประเทศอังกฤษด้วย

ทำไมตอนนั้นพี่วินถึงเลือกเรียนต่อทางด้านวิศวกรรม แล้วทำไมถึงเลือกหลักสูตรTEP ถ้าเทียบกับการเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ หรือการไปเรียนต่อต่างประเทศเลย

              จริง ๆ ตอนนั้นพี่ก็ยังลังเล เพราะพี่ก็มีความสนใจในด้านอื่น ๆ ด้วย นอกเหนือจากด้านวิศวกรรม เช่น ด้านบริหารธุรกิจ หรือด้านเศรษฐศาสตร์ แต่พอเริ่มหาข้อมูลอย่างจริงจัง เราก็เข้าใจตัวเองว่าในอนาคตเราอยากมาทางด้านวิศวกรรมมากกว่า คิดว่าเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตที่สุด ก็เลยเลือกเรียนคณะวิศวกรรม

ส่วนการเลือกหลักสูตร TEP แทนการเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น หรือการไปเรียนในต่างประเทศ เพราะ พี่ชอบในหลักสูตร TEP-NU ถือว่าเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์พี่มากที่สุด เพราะหลักสูตรนี้นักศึกษาจะได้เรียนทั้งที่ไทย และอังกฤษ ทำให้ได้เก็บประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการเรียน และสังคม รวมถึงได้มีเพื่อนที่เป็นทั้งคนไทย และต่างชาติด้วย

แล้วหลังจากที่รู้ตัวว่าอยากเข้าที่นี่จริง ๆ พี่วินมีการเตรียมตัวเข้าโครงการนี้ยังไงบ้าง อยากให้ลองแชร์ประสบการณ์ให้น้อง ๆ ฟัง

              การเตรียมตัวอย่างที่บอกเลย คือ พี่หาข้อมูลตั้งแต่ม. 4  เพื่อจะได้รู้ว่าอยากจะเข้าคณะแนวไหน หลังจากนั้นก็เริ่มเตรียมตัว เพราะยิ่งเราเตรียมตัวเร็ว เราก็จะยิ่งมีเวลาคิดเผื่อการเรียนสาขาอื่นที่อยากเรียนด้วย ตอนนั้นพี่มองถึงการเรียนต่อปริญญาโทเลย ว่าคณะที่เราสนใจสามารถต่อยอดในปริญญาโทในสาขาไหนได้บ้าง ยิ่งเตรียมตัวเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากเท่านั้น

ในส่วนของการเตรียมตัวยื่นคะแนน ขึ้นอยู่กับว่าน้องอยากยื่นเข้าคณะนี้ด้วยคะแนนอะไร เพราะทางคณะมีวิธีการยื่นคะแนนเข้าหลายแบบ ตอนนั้นพี่ใช้เกรดของโรงเรียนยื่นเลย เราแค่ตั้งใจเรียนรักษาเกรดเฉลี่ยให้ผ่านมาตรฐาน บวกกับคะแนน IELTS ด้วย แนะนำว่าลองหาข้อมูลก่อนได้ครับ

พอหลังจากที่พี่วินได้เข้ามาเรียนจริง ๆ ความรู้สึกก่อนเรียน กับความรู้สึกหลังเรียน มีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน

              จริง ๆ ตอนแรกไม่คิดว่าเนื้อหา และการสอบจะยากขนาดนั้น เรียกได้ว่าการเรียนของที่นี่มีความเข้มข้นมาก ๆ หลังจากเข้ามา 2 ปีแรกของหลักสูตร TEP ก็เจอการลงเรียน 8 วิชาต่อเทอมเลย เทียบแล้วรายวิชาอาจจะน้อยกว่าตอนมัธยม แต่บอกเลยว่าเรียนหนักกว่ามาก ชีวิตในมหาวิทยาลัยทำให้เรารู้ว่า การวางแผน และการแบ่งเวลาเป็นเรื่องสำคัญมากจริง ๆ เพราะในชีวิตในมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีแค่การเรียนอย่างเดียว ยังมีการทำกิจกรรม และงานต่าง ๆให้เราได้ลองทำ แต่ในส่วนของการเรียน เราก็ต้องทำให้ดีด้วยเช่นกัน อันนี้เป็นส่วนของการเรียนในประเทศไทย

ส่วนของการเรียนในประเทศอังกฤษพี่ถือว่าประทับใจมาก ๆ เพราะนอกจากเราจะได้ฝึกภาษา และการใช้ชีวิตแล้ว ในด้านการเรียน ทั้งเนื้อหา และโปรเจคถือว่ามีความ practical ทำให้เราสามารถแสดงความคิดได้อย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ เลยทีเดียว

TEP-Nottingham

มาในด้านของภาควิชา อยากรู้ว่าวิศวกรรมอุตสาหการ จริง ๆ ภาควิชานี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

น้องบางคนอาจจะยังไม่รู้จัก Industrial Engineering หรือ วิศวกรรมอุตสาหการ จะเป็นสาขาที่เรียนเป็นวิศวกรรมในแนวทางการบริหาร น้อง ๆ จะต้องเข้าใจเนื้อหาของวิศวกรรมในทุก ๆ ภาคย่อย รวมถึงการบริหารต่าง ๆ เช่น การเงิน การจัดการ การออกแบบกระบวนการทำงาน การวัดประสิทธิภาพ การพัฒนาต่าง ๆ หรือจะให้อธิบายง่าย ๆ คือ เราเรียนเพื่อสามารถควบคุมระบบ หรือฝ่ายต่าง ๆ ของโรงงานอีกทีนั้นเอง

ตอนเรียนในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มีการทำโปรเจคแบบไหนบ้าง อยากให้พี่วินลองเล่าโปรเจคของตัวเองให้น้อง ๆ ได้ฟัง

สำหรับโปรเจคที่ได้ทำ ในปี 3 พี่ได้ทำโปรเจคที่เกี่ยวกับการออกแบบ Two-Stroke Engine หรือเครื่องยนต์ที่ใช้ในมอเตอร์ไซค์ เครื่องตัดหญ้า หรือเรือขนาดเล็ก คือเขาจะมีโจทย์โดยให้เราออกแบบใหม่ทั้งหมด ให้สมมุติว่าถ้าเราเป็นวิศวกรจริง ๆ และได้รับงานนี้ให้พัฒนา เราจะมีการวางแผน หรือทำตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง โดยในแต่ละสัปดาห์ก็จะมีอาจารย์มาให้ Feedback และข้อแนะนำ

นอกจากนั้นยังมีโปรเจคกลุ่มที่ให้สร้างหุ่นยนต์มาแข่งกันเป็น Tournament ที่แต่ละทีมจะต้องทำหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อให้ลูก Ice Hockey ของฝั่งตัวเองตกลงหลุมกลางกระดานก่อนหุ่นยนต์ขออีกฝั่ง โดยจะมีทั้งออกแบบ และสร้างจริงใน   ช็อปเลย

ส่วนปีสุดท้ายพี่ทำโปรเจคเรื่อง กลยุทธ์ทางวิศวกรรม และการเงิน สำหรับธุรกิจในประเทศไทย เพื่อให้สามารถรอดในช่วงวิกฤษเศรฐกิจต่าง ๆ โดยเราต้องไปสัมภาษณ์ประธานกรรมการบริหารของบริษัททั้งมหาชน และบริษัทจำกัดเพื่อมาทำการวิจัยเชิงคุณภาพ และหลังจากนั้นก็สรุปเป็นคำแนะนำในเชิงกลยุทธ์ให้กับผู้บริหารระดับสูง และเจ้าของกิจการต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เปิดกว้างมาก ๆ ในช่วงทำโปรเจค

ในเรื่องของการฝึกงาน ทางภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการมีการฝึกงานไหม แล้วพี่วินได้ฝึกงานที่ไหนบ้าง

มีการฝึกงานครับ ตอนนั้นพี่เลือกฝึกกับ บริษัท ลอกซ์เลย์ จำกัด มหาชน ในแผนกวิศวกรรม เป็นบริษัทที่ทำในเรื่องของการประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้กับบริษัทต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ เราจะได้ฝึกในหลาย ๆ ส่วน โดยตอนนั้นบริษัทได้ขายโครงการ ติดตั้งระบบความปลอดภัย และระบบสายพานในสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ระบบสายพาน และรถไฮดรอลิกของบริษัทไปรษณีย์ไทย และระบบ Smart City ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนั้นพี่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานทั้งในส่วนการวางแผน การออกแบบ และเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ นัดเจอกับทาง Supplier ลงประมูลโครงการ และคุยรายละเอียดกับทางลูกค้า ถือว่าเป็นช่วงที่เราได้เก็บประสบการณ์ต่าง ๆ ด้านการทำงานได้มากเลยทีเดียว

TEP-Nottingham

ในด้านของการทำงาน หลังจบไปแล้วมีสายงานไหนรองรับบ้าง

              สำหรับงานในสายของวิศวกรรมอุตสาหการ สามารถทำได้หลากหลาย ยกตัวอย่างในสายของวิศวกรก็จะมี วิศวกรโรงงาน วิศวกรฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ วิศวกรความปลอดภัย วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิต วิศวกรระบบ วิศวกรฝ่ายขาย วิศวกรดูแล Supply Chain และ Logistics หรือถ้าเรามองไกลกว่านั้น อยากทำด้านการบริหาร เราก็มีโอกาสทำได้ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการโรงงาน หรือผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ เพราะ หลักสูตรของวิศวกรรมอุตสาหการมีการเรียนทั้งด้านวิศวกรรม และด้านการบริหาร นอกจากนี้ ในสายงานอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำงานในโรงงาน เราก็สามารถทำได้ เช่น เป็นที่ปรึกษา (Consultant) การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการลดต้นทุนในบริษัทต่าง ๆ วิศวกรวิเคราะห์ความเสี่ยงในสถาบันการเงิน (Financial Analyst) หรือจะทำงานรับราชการในกระทรวงต่าง ๆ หากอยากเรียนต่อก็สามารถประกอบอาชีพ ครู อาจารย์ นักวิจัย ได้ในอนาคต หรือสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ตามที่ต้องการเลย

TEP-Nottingham

ถามเรื่องเรียนไปเยอะแล้ว อยากรู้ว่าหลังจากที่ได้เรียน หรือทำกิจกรรม พี่วินประทับใจอะไรบ้างในหลักสูตร TEP ของโครงการ TEP-TEPE

พี่ประทับใจในหลักสูตร TEP มาก เพราะเอาจริง ๆ หลักสูตรนี้ ได้มอบประสบการณ์ทั้งเรื่องการเรียน และกิจกรรมให้พี่เยอะมาก ทั้งในไทย คือที่ธรรมศาสตร์ และยังมีที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ คือที่ The University of Nottingham ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอัน Top 100 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกอีก นับเป็นประสบการณ์ที่ทั้งสนุก และได้ความรู้แน่นมากนะ แล้วทั้งสองที่ก็ดูแลนักศึกษาดีมาก คอยช่วยเหลือ คอยแนะนำตลอด อย่างตอนที่พี่เข้ามาปีแรก ๆ จากการที่เราเป็นนักเรียนอยู่แล้วพอมาเป็นนักศึกษาก็ต้องมีการปรับตัวเรื่องสอบ ทางคณะก็มีการจัดห้องอ่านหนังสือให้ มีรุ่นพี่มาติวสอบให้ด้วย ก็เป็นอีกหนึ่งความประทับใจมาก ๆ ในหลักสูตร TEP ครับ

ในเรื่องของกิจกรรม ได้ข่าวว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกิจกรรมเยอะมาก แล้วพี่วินก็เป็นเด็กกิจกรรมด้วย

ใช่ครับ เยอะมากจริง ๆ ยิ่งหลักสูตร TEP ถือว่ากิจกรรมค่อนข้างแน่นเลย เพราะเราร่วมกิจกรรมทั้งที่ไทย และที่อังกฤษ ที่ไทยเราก็จะเจอกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 เลย เช่น การรับน้อง ค่ายก่อนเปิดเรียน ค่าย Family Camp ชมรมดนตรีในส่วนต่าง ๆ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลยก็จะมี งานฟุตบอลประเพณี จุฬา – ธรรมศาสตร์ อย่างตอนเข้าปีแรก พี่ก็ได้เป็นหนึ่งในประธานจัดงานกิจกรรมต่างๆของคณะ และในปีสองก็ได้มีโอกาสได้เป็น TU Ambassador ในงานฟุตบอลประเพณีฯ 72 ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่มีทั้งจัดงานโปรโมท เป็นตัวแทนของธรรมศาสตร์ในการไปออกรายการแลกิจกรรมต่างๆมากมายของ ส่วนที่ The University of Nottingham ก็จะมีทั้งกิจกรรมของ UoN Student Union ต่าง ๆ ตั้งแต่ Fresher Week และการเข้าร่วม Sport Club และ Society เยอะมากเลย แล้วยังไม่หมด เพราะ เราเป็นคนไทยใน Nottingham ก็มีไปร่วมกิจกรรมของสมาคมคนไทยในนั้นด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีแล้วก็สนุกมากครับ ซึ่งในปีสุดท้ายพี่ก็ได้มีโอกาสเป็น President ของ Thai Society Nottingham ซึ่งได้ร่วมกับนักเรียนคณะอื่นของเมือง Nottingham ในการจัดกิจกรรมสนุกๆมากมายให้กับคนไทยในเมืองรวมถึง ร่วมกับสมาคมคนไทยในเมืองอื่นจัดกิจกรรมร่วมมากมาย ถ้าน้องคนไหนอยากมาสายวิศวกรรมด้วย แล้วก็สายกิจกรรมด้วย พี่ก็อยากแนะนำหลักสูตร TEP ของโครงการ TEP-TEPE ครับเพราะได้รับประสบการณ์ที่ดีมากๆครับ

TEP-Nottingham

สุดท้ายแล้ว พี่วินมีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจหลักสูตรTEP ไหม

ส่วนตัวเลยพี่อยากบอกก่อนว่า หลักสูตรTEP เป็นหลักสูตรที่ดีมาก ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน พี่อยากให้น้อง ๆ ลองวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าหลักสูตรการเรียนต่าง ๆ ของที่นี่เหมาะกับน้อง ๆ รึเปล่า อยากให้ลองศึกษาดูทั้งใน Cirriculum ของภาคที่ตัวเองสนใจ รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ เพื่อที่จะไม่ให้น้องตัดสินใจพลาดสิ่งที่เหมาะกับตัวน้อง ๆ จริง ๆ ลองดูเป้าหมายของชีวิตตัวเองว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์เรามากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นอยากให้น้อง ๆ ลองทำ Life Map ในทุกช่วงอายุของน้อง ๆ จนถึงอายุ 80 เลย โดยให้ ละเอียด และ Specific ที่สุด คิดถึงเรื่องเงินเดือน ร่ายจ่ายต่าง ๆ ลองคิดว่าเราอยากประสบความสำเร็จตอนอายุเท่าไหร่ อยากโตในธุรกิจประเภทอะไร มันอาจจะฟังดูเยอะ แต่เชื่อพี่เถอะมันทำจริงๆ ไม่กี่นาที แต่จะมีผลกับเส้นทางของน้องเองไปตลอดชีวิต แล้วหลังจากนั้นน้อง ๆ ก็จะรู้ว่าคณะนี้เหมาะกับน้องจริง ๆ แค่ไหนนั่นเอง และถ้าคำตอบออกมาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ พี่ก็อยากแนะนำหลักสูตร TEP ของโครงการ TEP-TEPE เพราะพี่ว่าเป็นหลักสูตรที่ดีที่สุดแล้ว ลองอ่านจากบทความข้างบน น้อง ๆ ก็จะรู้ว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่พี่ประทับใจมากทั้งการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The University of Nottingham ก็ถ้าหากน้อง ๆ คนไหนสนใจ อย่าลืมมาสมัครแล้วเราจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันครับ

เป็นยังไงกันบ้างหลังจากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพี่วิน ถ้าน้องกำลังจะขึ้นม. 4 บอกเลยว่าการเตรียมตัวเร็วไม่ใช่เรื่องแปลก…ยิ่งเราเตรียมตัวเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้แผนที่เราวางมีความเป็นไปได้เท่านั้น ดูจากการวางแผนของพี่วินแล้ว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนที่รู้ตัวช้าก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนะ แค่น้อง ๆ ต้องมีการรับมือที่ถูกต้องเท่านั้นเอง ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจในการสมัครหลักสูตร TEP ของโครงการ TEP-TEPE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. (TSE) หรืออยากติดตามข่าวสารข้อมูล สามารถกดเข้าดูข้อมูลที่นี่ได้เลย TEP-TEPE หรือในตอนนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้มีการเปิดรับสมัครในรอบ 1 แล้ว ถ้าน้อง ๆ คนไหนสนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากที่นี่เลย “เปิดแล้ว! รอบพอร์ต (Portfolio) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TSE ปี 64” และสุดท้าย ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสาร หรือข้อมูลสำคัญของการรับสมัคร TCAS อย่าลืมดาวน์โหลด TCASter app ไว้ติดเครื่องล่ะ!!

สามารถติดตามข่าวสารการสมัครสอบทุกรอบ

ในระบบ TCAS ได้ง่ายๆ เพียงแค่กดโหลด App

> IOS – http://bit.ly/TCASteriOS
> Android – http://bit.ly/TCASterAndroid

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

699 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

2,358 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

2,596 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

91,881 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

5,571 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

4,057 views