Follow us on

รุ่นพี่รีวิว คณะวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ) ม.เกษตรศาสตร์ 4 ปี – TCASter

วันที่โพสต์

ข้อมูล ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2566

Zamploy & N.sxvetxng.b TCASter


รีวิวคณะวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ) สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ ม.เกษตรศาสตร์ 4 ปี

ถึงเวลาของสายซอฟต์แวร์และความรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งสาขาที่น้อง ๆ อยากรู้มาไว้ที่นี่แล้ว มาดูกันว่าสาขานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับอะไร แล้วระหว่างเรียนมีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง พร้อมทั้งเทคนิคให้น้อง ๆ ว่าอยากเข้าต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง มาทำความรู้จักกับสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ผ่านบทความนี้กันค่ะ

.

แนะนำตัว
สวัสดีค่ะ เราชื่อ “เซฟตัง” นะคะ อยู่ปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก่อนอื่นเลย เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันสาขาที่เราเรียนจะเรียกสั้น ๆ ว่า “SKE” นะคะ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ขออนุญาตแทนชื่อสาขาวิชาด้วยคำว่า “SKE” นะคะ

.

.

ทําไมถึงเลือกเรียนสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้
เพราะในตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราชอบการเขียนโค้ด และเรารู้สึกว่าเราอาจจะทำได้ดีในด้านนี้ บวกกับในปัจจุบันเทคโนโลยีค่อนข้างจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามาก เราเลยรู้สึกว่าการเป็น Developer อาจจะเป็นสายงานที่หลาย ๆ บริษัทต้องการตัว (เงินค่อนข้างดีเลยนั่นแหละนะ 😂) อันที่จริงตอนม.ปลายเรามีหลายคณะมากที่คิดว่าอยากเข้า แต่สุดท้ายแล้วพอเราดูจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมารวมไปถึงความชอบส่วนตัวของเรา มันเลยทำให้เราตัดสินใจมาเข้าเรียนสายนี้ได้ไม่ยาก

.

มีการหาข้อมูลในการเข้าคณะยังไงบ้าง ?
ในตอนนั้นเราค้นหาข้อมูลจาก Google โดยตรงเกี่ยวกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เลยว่า คณะหรือสาขาวิชาแนว ๆ นี้มีที่ไหนน่าสนใจบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มากกว่า จนมาเจอ SKE เราเลยค้นหาต่อด้วยการเข้าไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสาขาวิชานี้บนหน้าเว็บไซต์ของโครงการ IUP (International Undergraduate Program) ซึ่งเป็นโครงการวิศวกรรมศาสตร์ ภาคนานาชาติของ มก.

.

มีการเตรียมตัวเข้ารอบพอร์ตตอนนั้นยังไงบ้าง?
ส่วนตัวเราเข้ารอบพอร์ต ช่วง ม.ปลาย ครูที่โรงเรียนเราพาไปแข่งเกี่ยวกับการเขียนโค้ดทุกปีซึ่งนั่นก็เป็นส่วนที่ทำให้เราได้ประสบการณ์แล้วก็พอร์ตกลับมาด้วย นอกจากนั้นเราก็มีไปเข้าค่ายต่าง ๆ กิจกรรมต่าง ๆ หรือ Open House ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัว นอกจากนี้ก็อาจจะต้องดูเรื่องเกรดเฉลี่ย แล้วก็เอกสารที่คณะหรือสาขาวิชานั้นต้องการด้วย

– ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหนึ่งนะคะ คือด้วยความที่เราเข้ารอบพอร์ตใช่ไหมคะ อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมตัวเลยหลังจากทำการยื่นพอร์ตไปแล้ว คือการเตรียมตัวสัมภาษณ์ค่ะ ด้วยความที่ SKE เป็นภาคนานาชาติเนอะ การสอบสัมภาษณ์ก็อาจจะต้องสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าใครที่อยากเข้าสาขานี้ก็อาจจะต้องเตรียมเรื่องภาษาเป็นพิเศษนะคะ 😁

.

คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ? 
ถ้าให้พูดตรง ๆ สาขานี้เรียนตามชื่อเลยค่ะ 5555555 ขึ้นชื่อว่าซอฟต์แวร์แน่นอนว่าเราเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นหลักเลยค่ะ เราได้เรียนการเขียนโค้ดแบบจริงจังตั้งแต่เทอมแรกเลย ซึ่งภาษาที่ใช้เขียนในปีแรกนั้นก็จะเป็นภาษาไพธอน (Python) ซึ่งส่วนนี้ก็อาจจะขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนและหลักสูตรในปีนั้น ๆ ด้วยนะคะ และหลังจากจบปีแรกแล้วหลังจากนั้นภาษาที่ใช้เขียนก็จะขึ้นอยู่กับวิชาที่เรียนและอาจารย์ผู้สอนด้วยค่ะ แอบกระซิบนิดนึงว่า ณ ปัจจุบันภาษาที่เราได้เรียนและเขียนมี Python, Java, C++ และ Assembly มีเขียน HTML, CSS ด้วย

– นอกจากการเรียนเขียนโค้ดแล้วเรายังได้เรียนเกี่ยวกับอัลกอริธึมพื้นฐาน (Basic Algorithms), หลักการการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development), หลักการการจัดการโปรเจกต์ (Project Management), วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Computer Science) ฯลฯ นอกจากทางด้านซอฟต์แวร์แล้วก็จะมีด้าน Knowledge ที่เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการจัดการ Knowledge ที่เรามีอีกด้วย

.

สิ่งที่น่าสนใจของคณะนี้ ?
ส่วนตัวเราแล้ว เรารู้สึกว่าความน่าสนใจของสาขานี้คือ เราได้เขียนโค้ดและได้ลองทำจริง ได้พัฒนาฝีมือของตัวเองเรื่อย ๆ จากสิ่งที่เราเรียน เพราะบางครั้งนอกจากเนื้อหาในห้องเรียนแล้ว เราก็อาจจะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเองด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับการพัฒนา Skill Set ในสายงานนี้

– นอกจากเรื่องของการเรียนแล้ว เรื่องกิจกรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อดีสำหรับหลาย ๆ คน และอาจจะเป็นข้อเสียสำหรับบางคนเช่นกัน คือโดยปกติแล้วเราจะมีกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันกับคนในสาขาค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ และพี่ ๆ ในสาขาเดียวกัน ทั้งพี่ที่เรียนอยู่ปีสูงกว่าและพี่ ๆ ศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว ขอดีคือเราจะมี Connection เยอะมาก ในบางกิจกรรมที่ไปเจอรุ่นพี่ บางคนก็อาจจะได้ที่ฝึกงานจากพี่ ๆ ที่เขาทำงานอยู่ชวนไปทำนี่แหละ 😁

.

มีการฝึกงานไหม ? การฝึกงานแบ่งเป็นสายงานไหนได้บ้าง ?
ตามหลักสูตรแล้ว วิชาฝึกงานจะมีตอนปี 4 เทอม 1 ซึ่งสายงานที่ฝึกนี่ก็มีได้หลายสายมาก โดยนอกจากการฝึกงานตามวิชาฝึกงานแล้ว ในช่วงปิดเทอมใหญ่อาจจะเป็นช่วงปี 1 ขึ้นปี 2 หรือช่วงปี 2 ขึ้นปี 3 ถ้าน้อง ๆ อยากหาประสบการณ์ เราก็สามารถไปสมัครเป็น Internship ตามบริษัทต่าง ๆ ที่เขารับก็ได้นะคะ อย่างส่วนตัวพี่เองช่วงปิดเทอมปี 2 ขึ้นปี 3 พี่ก็ไปสมัครเป็น Software Engineer Internship ที่บริษัท Tech แห่งหนึ่ง ซึ่งมันถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากและนอกจากเราจะได้ประสบการณ์แล้วเรายังได้เงินเดือนในฐานะ Internship คนหนึ่งด้วยนะ 😉

.

จบมาทำอาชีพอะไรได้บ้าง ? 
ยังยืนยันคำเดิมว่าสาขาที่เราเรียนสามารถทำงานได้หลายอาชีพจริง ๆ ค่ะ ตัวอย่างเช่น Web Developer, Mobile App Developer, Game Developer, Full Stack, Backend, Frontend, Data Scientist, Project Manager, UX / UI Designer และอีกหลาย ๆ อาชีพเรียกได้ว่าเรียนสาขานี้เราไปได้หลายสายงานมากแล้วแต่จะเลือกเลย ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่ในสายงาน Tech เลยค่ะ

.

สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ถ้าอยากเข้าคณะนี้ต้องเตรียมตัวเจออะไรบ้าง ?
อาจจะต้องเตรียมตัวเรื่องการเขียนโปรแกรมพื้นฐานมาสักเล็กน้อยค่ะ รวมไปถึงเรื่องภาษาด้วย เพราะ SKE เป็นภาคนานาชาติเนอะ แน่นอนว่าการเรียนการสอนต่าง ๆ ก็จะเป็นภาษาอังกฤษ สื่อการสอนทุกอย่างก็จะเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย และในบางครั้งน้อง ๆ อาจจะได้เพื่อนที่เป็นคนต่างชาติเข้ามาเรียนด้วย ซึ่งอาจจะเป็นนิสิตแลกเปลี่ยนหรือสมัครเข้ามาเป็นนิสิตตามหลักสูตรเลยก็ได้

.

ความรู้สึกหลังจากที่ได้มาเรียนที่นี่ ?
อันที่จริงเราค่อนข้างจะกังวลในตอนแรกนะ เพราะภาษาอังกฤษเราในตอนนั้นก็ไม่ได้ดีมาก กลัวจะฟังอาจารย์หรือพูดกับคนอื่น ๆ ไม่รู้เรื่อง แต่จริง ๆ แล้วคืออาจารย์ที่นี่ใจดีมากกกกกก ถ้าเราสงสัยตรงไหนก็สามารถถามได้ตลอดเลย อาจารย์เข้าถึงค่อนข้างง่ายและเป็นกันเองกับนิสิตมาก ๆ 

– เรื่องเพื่อน ๆ หรือพี่น้องร่วมสาขาทุกคนก็ Friendly มาก ๆ อย่างส่วนตัวเราเองก็มักจะไปถามแนวข้อสอบของแต่ละวิชากับรุ่นพี่บ่อย ๆ บางครั้งพี่เขาก็ส่งสรุปที่มี หรือแนวข้อสอบเก่า ๆ ที่พี่เขามีมาให้เลย ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยล่ะนะ

.

.

ให้กำลังใจน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้ 🙂
สู้ ๆ นะคะน้อง ๆ ขอให้โชคดีกับสิ่งที่น้อง ๆ ทำอยู่ อย่าลืมพักผ่อนออกไปเดินเล่นหรือทำสิ่งที่ชอบบ้างนะคะ ใครที่ยังลังเลว่าจะเข้าที่ไหนดีก็อย่าเพิ่งกดดันตัวเองขนาดนั้นนะคะ อะไรที่ใช่เดี๋ยวมันก็เข้ามาหาเราเอง (ง่อววววววว)

.

 In the end, we only regret the chances we didn’t take.

( เซฟตัง – นภัสกร บุญเกิด)

สำหรับใครที่สนใจข้อมูลดี ๆ แบบนี้อีกก็อย่าลืมติดตามผ่านเว็บไซต์ TCASter รวมถึงใครที่ต้องการทราบข้อมูลหรือคอนเทนต์น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถติดตามผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ของ TCASter ได้เลย

Facebook, Youtube, Instagram, Twitter, Tiktok

สามารถติดตามข่าวสารการสมัครสอบทุกรอบในระบบ TCAS ได้ง่าย ๆ เพียงแค่กดโหลด App

iOS, Android

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยบูรพา – TCASter

905 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มจธ. – TCASter

917 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ – TCASter

945 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – TCASter

976 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ – TCASter

975 views

GPAX ขั้นต่ำ TCAS67 รอบ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น – TCASter

982 views