Follow us on

เทคนิคอ่านหนังสือสไตล์ฟรังๆ ฟรัง นรีกุล

วันที่โพสต์

สวัสดีครับ วันนี้พี่ Buddy TCASter พาพี่สาวน่ารักสดใส มาชวนให้น้องๆ มีแรงใจแรงกายตั้งใจเรียนอ่านหนังสือ ซึ่งก็คือ พี่ฟรัง ฟรัง นรีกุล นั่นเอง จากผลงานนักแสดงเรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 ในบทของ ‘ออย’ ที่พี่ฟรังทำได้ดีจนหลายๆ คนอินจนเกลียดไปตามๆ กัน สู่การเป็นนิสิตแพทย์จุฬาฯ ซึ่งทำให้เธอได้กลายเป็นเน็ตไอดอลด้านการเรียนอย่างเต็มตัว หลายๆ คนคงสงสัยว่า โห! พี่ฟรัง ทั้งทำงาน ทั้งเรียนหนังสือ ทั้งเตรียมสอบ พี่ทำได้ยังไงกันนะ  

พี่ฟรังได้ตอบน้องๆ ไว้หมดแล้วครับ ใน Youtube channel ของพี่ฟรังเองที่มีชื่อว่า LaohaiFrung หรือ เล่าให้ฟรังนั่นเอง แต่วันนี้พี่ TCASter จะสรุปให้น้องๆ ถึงวิธีการอ่านหนังสือที่เป็นเทคนิคของพี่ฟรัง เพื่อให้น้องๆ สามารถนำไปปรับใช้ในสไตล์ของตัวเองได้ทันที จะมีวิธีใดบ้าง เราไปดูกันเลยครับ

1. มีสมาธิ

“บางคนชอบอ่านช่วงเช้า บางคนชอบอ่านในที่มีเพลง ให้เลือกตามสไตล์ที่ตัวเองชอบ”

การอ่านสำคัญที่สมาธิของเรา การเกิดสมาธินั้นบางทีก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเองด้วย อย่างบางคนจะชอบสถานที่เงียบๆ บางคนชอบที่จะอ่านกับเพื่อน ชอบอ่านคนเดียว สำหรับพี่ฟรังนั้น พี่ฟรังจะชอบอ่านคนเดียวก่อน เพราะจะรู้สึกกดดันตัวเองเวลาอ่านกับเพื่อน ให้เลือกเอาสถานที่เราชอบ เลือกเอาวิธีทีที่ใช้ได้กับเรา 

และบางคนอาจจะชอบฟังเพลง ก็ดูว่าเพลงไหนที่ทำให้เราโฟกัสกับการอ่านหนังสือได้

ช่วงเวลาที่อ่านหนังสือก็สำคัญ บางคนอ่านช่วงเช้าแล้วมีสมาธิมากๆ ก็ให้จัดเวลาอ่านหนังสือให้อยู่ในช่วงเช้า บางคนมีสมาธิตอนดึกๆ ก็ให้เอาวิชาหนักๆ ไปไว้อ่านช่วงดึกๆ แทน

2. ทำสรุป

“บางทีเราหลอกตัวเองว่าเข้าใจแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เรายังไม่เข้าใจเลย เราจึงต้องทำสรุป”

วิธีทำสรุปของพี่ฟรัง พี่ฟรังจะอ่านคร่าวๆ ก่อน 1 รอบ แล้วจึงทำสรุป การทำสรุปจะทำให้เราเห็นมากขึ้น ว่าจริงๆ แล้ว เรายังไม่เข้าใจตรงไหน บางทีเราอ่านอย่างเดียวเราคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่จริงๆ แล้วยังไม่เข้าใจ อีกทั้งพอเวลาผ่านไป สรุปก็จะทำให้เราใจชื้นหน่อย ว่าเรื่องนี้หัวข้อนี้ เราเคยทำสรุปมาแล้วนะ ถึงแม้มีลืมๆ ไปบ้าง แต่ก็จะง่ายกว่าที่จะกลับมาอ่านทั้งเล่มหรือทั้งบท แค่กลับมาอ่านที่เราสรุปไว้ก็เพียงพอแล้ว

3. อ่านบ่อยๆ

“อยากจำได้ยาว อยากจำได้นาน ต้อง Retrieve ข้อมูล”

หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Retrieve (การเอากลับคืนมา) การอ่านบ่อยๆ จะทำให้เราจำได้ดี อะไรที่ลืมไปแล้ว เมื่อเราอ่านอีกครั้งเราก็จะได้กลับคืนมา และจำได้นานมากกว่าเดิม

4. นอน

“ฟรังจะไม่ฝืน ฟรังจะไม่ทน ถ้าง่วงก็คือนอน”

พี่ฟรังเป็นคนที่ทนการง่วงไม่ได้ ถ้าง่วงก็ต้องนอน จะไม่ฝืน เพราะถ้าฝืนอ่านต่อไป ก็อาจเป็นการเสียเวลา เพราะอ่านไปก็อาจจำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าง่วง ให้นอน และในตอนกลางวันหากง่วงก็ให้งีบหลับไป 15 – 20 นาที เพื่อรีเฟรชตัวเองใหม่อีกครั้ง เราจะมีสมาธิและพร้อมอ่านหนังสือต่อ

5. ดื่มน้ำ

“มีน้ำอยู่ใกล้ตัวตลอด และคอยจิบบ่อยๆ เพื่อให้สมองสดชื่น”

น้ำขวดใหญ่ๆ จะคอยตั้งอยู่บนโต๊ะพี่ฟรังตลอด เพื่อให้คอยดื่มอยู่เสมอ เป็นการรีเฟรชอีกทางหนึ่ง

6. อ่านสม่ำเสมอ

“ฟรังไม่ชอบอ่านตอนไฟลนใกล้สอบ จึงอ่านชิวๆ เรื่อยๆ ดีกว่า”

เพราะการอ่านสม่ำเสมอทำให้พี่ฟรังมีเวลานอน ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบความกดดันใกล้สอบ เพราะทั้งเหนื่อย และต้องอดหลับอดนอน จึงพยายามหาเวลาให้ตัวเองได้อ่านอยู่ตลอด คิดไว้เสมอว่าจะต้องเริ่มอ่านก่อน จะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป

7. หา Passion

“บางที passion อาจเป็นอะไรง่ายๆ เห็นภาพ และจับต้องได้ อย่างชามุกของพี่ฟรัง”

อย่างสุดท้าย สำหรับบางคนอาจจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น ทำเพื่อพ่อแม่ ทำเพื่ออนาคตของตัวเอง ทำเพื่อช่วยมนุษยชาติ แต่สำหรับพี่ฟรังอาจเป็น เพื่อชานมไข่มุก 1 แก้ว

เราลองหาอะไรที่จะผลักดันให้เรามีแรงอ่านหนังสือ บางทีอาจเป็นอะไรที่ง่ายๆ อย่างชานมของพี่ฟรัง หรือเป็นอะไรที่ไม่ว่าอย่างไร เราก็จะทำให้ได้เพื่อสิ่งนี้ เช่น ชาบู

เป็นอย่างไรบ้างครับกับวิธีอ่านหนังสือสไตล์ฟรังๆ ทั้ง 7 วิธีนี้ พี่ฟรังบอกไว้ว่า พี่ฟรังก็ไม่ได้ทำทั้งหมดทีเดียวนะ แต่ก็เป็นวิธีเท่าที่พี่ฟรังจะนึกออก ทำสลับๆ ไป ขึ้นอยู่กับเวลาโอกาส ซึ่งพี่ TCASter ขอสนับสนุนว่า วิธีทั้ง 7 ของพี่ฟรัง สำคัญจริงๆ อยากให้น้องๆ ทำกันให้ได้ โดยเฉพาะรีบเตรียมตัวอ่านหนังสือกันให้เร็วขึ้น ไม่ไปไฟลนก้นช่วงใกล้สอบนะครับ

น้องๆ สามารถติดตามช่องพี่ฟรังได้ที่ laohaiFrung

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

653 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

2,211 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

2,477 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

91,602 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

5,286 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

3,928 views