หลายครั้งที่ชีวิตของเราได้เข้าสู่ช่วงอายุในระดับต่าง ๆ และในแต่ละช่วงอายุก็จะเริ่มมีการแบ่งแยกสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น จากตอนแรกที่ต้องอยู่ที่บ้าน ก็เริ่มเข้าเรียนอนุบาล ประถม มัธยม และก้าวเข้าสู่รั่วมหาวิทยาลัย…ในตอนนี้น้อง ๆ หลายคนอาจกำลังเจอกับช่วงมัธยมที่กำลังจะหมดไป และช่วงของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะเข้ามา!! น้อง ๆ เคยสงสัยไหมว่า สองช่วงนี้มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง และน้อง ๆ จะต้องเตรียมตัวรับมือยังไง วันนี้พี่ได้รวบรวมความแตกต่างของช่วงมัธยม และช่วงมหาวิทยาลัย เพื่อให้น้อง ๆ สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น ลองมาดูกันเลย!
- ตารางเรียน
– ช่วงของมัธยมเมื่อน้อง ๆ ไปรายงานตัวแบ่งห้องเรียน คุณครูก็จะแจกตารางเรียนให้เรียบร้อย เพื่อให้น้อง ๆ ได้เตรียมตัวจัดตารางเรียนมาให้ถูกต้องในวันเปิดเทอม บางโรงเรียนอาจต้องไปรับสมุด หรือหนังสือก่อนเปิดเทอมด้วย
– ช่วงมหาวิทยาลัย จะมีวันให้น้อง ๆ ได้ลงทะเบียนวิชาเรียน ซึ่งจะแบ่งเป็นวิชาบังคับ และวิชาเลือก น้อง ๆ อาจต้องไปดูข้อมูลการลงทะเบียนเรียนก่อน ว่าแต่ละวิชามีรหัสประจำตัวอะไรบ้าง น้อง ๆ สามารถถามรุ่นพี่ หรืออาจารย์ก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย อย่าลืมศึกษาให้ดีก่อนล่ะ!! เพราะแต่ละวิชาไม่สามารถมีที่ให้เพียงพอต่อความต้องการของนิสิตหรือนักศึกษาทั้งหมด อาจเกิดการแบ่งชิงเกิดขึ้นได้ทุกวิชา เตือนแล้วนะ!! - จำนวนวิชาเรียน
– มัธยมบางโรงเรียน คาบเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 7 – 9 คาบ หรือบางโรงเรียนอาจมีการอัดวิชาเรียนเยอะถึง 10 คาบในบางวัน เวลาในแต่ละคาบก็ขึ้นอยู่กับหน่วยกิตของแต่ละวิชา ซึ่งจะอยู่ที่ 1 – 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการวางตารางของโรงเรียน และสายการเรียน
– มหาวิทยาลัย ในเทอมแรกอาจมีเฉพาะวิชาบังคับ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย การเรียนในแต่ละวันส่วนใหญ่จะไม่เกิน 3 วิชา ชั่วโมงในการเรียนจะอยู่ที่วิชาละ 1 – 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับหน่วยกิต และการวางของแต่ละวิชา ในบางกรณีเมื่อต้องลงวิชาเรียนเอง น้อง ๆ จะต้องออกแบบตารางเรียนเอง โดยต้องจัดเวลาแต่ละวิชาที่น้อง ๆ เลือกลงทะเบียบให้ไม่ชนกัน - การเรียน
– มัธยม การเรียนแต่ละวิชาจะมีหนังสือประจำวิชา ทำให้น้อง ๆ ต้องพกมาเรียนในแต่ละวัน คุณครูจะมีสื่อการสอนมาอธิบายขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละคน พร้อมกับหนังสือ อาจเพิ่มการบ้านโดยการทำลงสมุด หรือใบงานต่าง ๆ ที่ต้องส่งท้ายคาบหรือวันต่อไป
– มหาวิทยาลัย บางวิชาส่วนใหญ่จะให้โหลดเอกสารการเรียนได้ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ หรือตามหาได้ที่ร้านถ่ายเอกสารประจำมหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำวิชาอาจนำไปฝากไว้กับคนถ่ายเอกสาร ส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะมีหนังสือให้ การเรียนส่วนใหญ่เป็นแบบเลคเชอร์ - คะแนน
– มัธยม โรงเรียนส่วนใหญ่จะแบ่งสัดส่วนของคะแนนเก็บจะมากกว่าคะแนนสอบ คะแนนเก็บจะอยู่ที่สัดส่วนการแบ่งงานของคุณครู รวมถึงการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทุกอย่างสามารถเป็นคะแนนเก็บที่จะทำให้น้อง ๆ มีเกรดที่ดีขึ้น
– มหาวิทยาลัย สัดส่วนของคะแนนสอบจะมากกว่าคะแนนเก็บ หรือบางรายวิชาแทบไม่มีคะแนนเก็บเลย ซึ่งเป็นการสอบที่โหดมาก ๆ อาจารย์หลาย ๆ คนแทบจะไม่มานั่งเช็กชื่อให้เสียเวลา ใครเรียนก็ได้ ใครไม่เรียนก็ไม่บังคับ ทุกอย่างตัดสินที่คะแนนสอบ ซึ่งถ้าสอบไม่ผ่านก็ต้องเรียนใหม่ บางกรณีเกรดไม่ถึงอาจโดนรีไทร์เลยก็ได้นะ - อุุปกรณ์ในการเรียน
– มัธยม นอกจากปากกาแดง / น้ำเงิน ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด ลิควิด สมุด และหนังสือของแต่ละวิชา รวม ๆ แล้วเยอะมาก ทำให้กระเป๋าเรียนของน้อง ๆ มีขนาดที่ใหญ่ และน้ำหนักก็ไม่ใช่เล่น ๆ เลยเมื่อรวมสมุด หนังสือ และเครื่องเขียนเข้าไป
– มหาวิทยาลัยนั้น น้อง ๆ บางคนใช้ปากกา 1 แท่ง สมุด 1 เล่ม หรือในบางกรณีอาจพกปากกาสีไว้จดเลคเชอร์ก็ได้ เพื่อน ๆ บางคนอาจใช้แล็ปท็อป หรือแท็บเล็ต ในการจดงานหรือเซฟเอกสารในการเรียนมาแทนการปริ้นเอกสารนั่นเอง - การแต่งกาย
– มัธยม เสื้อผ้าหน้าผมต้องถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน ห้ามทำสีผม ถุงเท้า รองเท้าต้องถูกระเบียบ บางโรงเรียนอาจมีการบังคับให้กระเป๋าของโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
– มหาวิทยาลัย ช่วงเฟรชชี่ อาจต้องการกฎระเบียบอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย และคณะที่น้อง ๆ เลือกเรียน แต่เมื่อถึงเวลาการปลดระเบียบ น้อง ๆ สามารถเปลี่ยนการแต่งกาย รวมถึงการทำสีผมที่ไม่มีใครมาวางกฏระเบียบน้อง ๆ ได้ แต่อย่าลืมนึกถึงความเหมาะสมของสถานที่ด้วยละกัน อย่างไรก็ตามบางคณะอาจจะมีมีการวางกฎระเบียบไว้อย่างชัดเจน น้อง ๆ ก็อาจจะต้องปฏิบัติตามกันหน่อย - การสอบ
– มัธยม การสอบของโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีการแบ่งบทอย่างชัดเจน บางกรณีอาจมีการสอบเก็บคะแนนบทย่อย ๆ ก่อน แล้วพอถึงการสอบใหญ่ น้อง ๆ ก็ไม่ต้องจำบทที่สอบไปแล้ว ซึ่งเป็นการแบ่งเบาการอ่านหนังสือได้มากกว่า โดยรูปแบบการสอบอาจมีทั้งปรนัย และอัตนัย บางรายวิชาคุณครูอาจช่วยน้อง ๆ ถึงการบอกแนวข้อสอบให้น้อง ๆ เน้นอ่านตรงนี้ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเก็บคะแนนสอบได้มากขึ้นนั่นเอง
– มหาวิทยาลัย การสอบในมหาวิทยาลัยจัดว่าเป็นการสอบที่ต้องอาศัยความขยันในการอ่านที่มากขึ้นกว่าช่วงมัธยม เนื่องจากการสอบของมหาวิทยาลัยจะไม่มาแบ่งบทย่อย ๆ แต่จะสอบเป็นบทใหญ่ ๆ หลาย ๆ บท ทำให้น้อง ๆ หลายคนพลาดการปรับตัวในการอ่านหนังสือ อาจารย์บางคนแทบจะไม่บอกแนวข้อสอบเลย บางกรณีจะบอกแค่บทไหนออกกี่ข้อเท่านั้น และในบางกรณีจำนวนข้อสอบอาจจะน้อย แต่เป็นข้อสอบแบบอัตนัยทั้งหมด ทำให้น้อง ๆ บางคนทำข้อสอบไม่ทันก็มี ส่งกระดาษเปล่าก็มี น้อง ๆ บางคนอาจคิดว่าช่วงมัธยมแทบจะไม่ได้อ่านเลยก็สอบได้ แต่หลักการนี้ใช้กับช่วงมหาวิทยาลัยไม่ได้ พี่รับประกัน!!
สรุปง่าย ๆ คือในช่วงของมัธยมจะมีการวางกรอบที่ชัดเจนกว่า สังคมมีขนาดเล็กกว่า มีคุณครูคอยช่วยเหลือแจกแจงงาน และการเรียนอย่างชัดเจน ในส่วนของมหาวิทยาลัยเมื่อก้าวเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ความเป็นอิสระที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น ต้องวางแผนทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้หลาย ๆ คนต้องรีบปรับตัวนั่ันเอง