Follow us on

รู้จักสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ และวิธีการเตรียมตัวสอบเข้า กับพี่คอปเตอร์ เฟรชชี่คณะแพทยศาสตร์ และการสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

วันที่โพสต์
“เป็นที่แรกในประเทศที่เปิดสอนในสาขานี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกได้ว่า เราจะได้เรียนแบบสองขั้วไปเลย ขั้วหนึ่งเป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อีกขั้วหนึ่งก็เป็นเกี่ยวกับการแพทย์”
“ที่เรียนหลัก ๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกันครับ โดยส่วนแรกจะเป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่นการจัดการข้อมูล การเขียนโปรแกรม หรือการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์  และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ เช่น การระบาดและการเกิดโรค”
– พี่คอปเตอร์ สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ –

น้อง ๆ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ คืออะไร ? แล้วเค้าเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ? วันนี้รุ่นพี่รีวิวเลยจะพาน้อง ๆ ไปพบกับพี่คอปเตอร์ เฟรชชี่ปี 1 จากคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่จะมารีวิวสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพที่กำลังมาแรงในตอนนี้ อีกทั้งยังแชร์วิธีการเตรียมตัวสอบเข้าของพี่คอปเตอร์อีกด้วยยย จัดหนักจัดเต็มขนาดนี้ จะพลาดได้ยังไง รีบไปดูกันเลยยยยย !!!

ช่วยแนะนำตัวให้น้อง ๆ ได้รู้จักหน่อย

สวัสดีครับ ชื่อคอปเตอร์นะครับ จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 

รีวิววิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ทำไมเราถึงอยากเข้าคณะและสาขานี้ มีวิธีค้นหาตัวเองยังไงบ้าง

เริ่มต้นเลย เราสนใจที่จะเรียนในคณะสายสุขภาพอยู่แล้ว เราเลยเริ่มลองหาคณะต่าง ๆ ดูแล้วเราก็มาหยุดกับที่สาขานี้ จุดแรกเลยที่เราสนใจคือที่ว่าชื่อหลักสูตร สำหรับเราเป็นชื่อที่แปลกหูมากไม่เคยได้ยินมาก่อน เราเลยลองศึกษากับสาขานี้ดู เราก็พบว่า เป็นสาขาที่น่าสนใจมาก เพราะว่าเป็นสาขาที่เปิดที่แรกและที่เดียวในไทย และ Data Science เป็นสาขาวิชาที่ยังเป็นที่ต้องการในตอนนี้ แล้วเราคิดว่าพวกเทคโนโลยีอะไรเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์มากในอนาคต บวกกับวิชาเรียนต่าง ๆ ที่ค่อนข้างน่าสนใจ คือเราได้เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย แถมเรายังได้เรียนเกี่ยวกับสุขภาพตามที่เราสนใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วอีก เราเลยตัดสินใจเลือกเข้าเรียนในสาขานี้ครับ

เรามีวิธีค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะต่าง ๆ ยังไงบ้าง ในช่วงที่เรา ม.6

เราจะเข้าไปดูตามเว็บไซต์หรือเพจการศึกษาต่าง ๆ ครับ เพราะว่าจะมีรายละเอียดข้อมูลการรับสมัครทั้งหมดรวบรวมไว้ รวมถึงมีคอนเทนต์อื่น ๆ ที่น่าสนใจเช่น การแนะแนวคณะ การรีวิวคณะที่เรียนจากรุ่นพี่ในสาขานั้น ๆ หรือว่าอีกช่องทางก็คือติดตามจาก Studygram ก็จะทำให้เราได้เห็นชีวิตการเรียนของพี่จริง ๆ

เราสอบเข้ามาด้วยรอบไหน แล้วต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง มีสัดส่วนคะแนนยังไง

เราเข้ามารอบ 3 นะครับ ก็จะใช้ GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% PAT1 20% และ PAT2 20% 

เรามีวิธีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบต่าง ๆ ยังไงบ้าง

เราเข้าไปดูในเว็บไซต์ของมหาลัยเลยครับ ทางมหาลัยจะลงข้อมูลเกณฑ์การรับสมัคร เกณฑ์คะแนนและจำนวนรับเข้าศึกษาไว้ครบเลย หรือว่าจะติดตามจากเว็บหรือเพจการศึกษาต่าง ๆ ก็ได้ จะมีการลงข้อมูลและสรุปให้เราเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงยังมีการรวบรวมข้อมูลของคะแนนสูงสุด – ต่ำสุดไว้ให้เราศึกษาและยังมีโปรแกรมคำนวนคะแนนให้เราได้ลองตั้งเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งสำหรับเราคิดว่าเป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ

อยากรู้ว่า เรามีวิธีการหรือเทคนิคการเตรียมตัวสอบยังไงบ้าง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

การเตรียมตัวของเราคือเราเริ่มที่วิชาคณิต อังกฤษ ฟิสิกส์ครับ เพราะว่าเป็นวิชาที่เราไม่ค่อยมั่นใจซักเท่าไหร่กับเป็นวิชาที่ต้องอาศัยการทำโจทย์เยอะ โดยเราเริ่มจากการเรียนเนื้อหาของแต่ละบทไปแล้วเราจะเว้นช่วงระหว่างบทในการทำข้อสอบของบทนั้น ๆ ก่อนเพื่อวัดว่า เราเข้าใจในบทนั้นมากน้อยขนาดไหน ถ้าถึงในระดับที่เราพอใจแล้วเราค่อยขยับไปเรียนบทถัดไป เพิ่มเติมในส่วนของอังกฤษ เราจะใช้การจำศัพท์ด้วยวันละประมาณ 10 – 20 คำ ต่อไปจะเป็นวิชาเคมีกับชีวะ เริ่มแรกเราอ่าน 2 วิชานี้เอง ก็คือใช้วิธีคล้าย ๆ กับ 3 วิชาแรก แต่เราก็ไม่มั่นใจเหมือนเดิม  เลยลงเรียนเป็นตะลุยโจทย์เพิ่ม ทำให้เราเพิ่มความมั่นใจและได้เห็นโจทย์หรือวิธีจำที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ต่อมาเป็นวิชาภาษาไทยกับสังคม เรามาอ่านเอาก่อนวันสอบเลย 555 (ทุกคนอย่าเอาเป็นแบบอย่างนะครับ) เรานั่งอ่านเฉลยโจทย์ย้อนหลังกับอ่านสรุปที่เพื่อนแชร์มาให้เท่านั้นเลย แต่เอาจริง ๆ ก็อยากให้ทุกคนอ่านมาเรื่อย ๆ ดีกว่าเพราะสังคมเป็นวิชาที่ออกค่อนข้างกว้าง เราไม่รู้เลยว่า ข้อสอบจะเล่นจุดไหน และก็วิชาสุดท้ายคือ GAT เชื่อมโยง สำหรับเราคิดว่าเป็นวิชาที่ไม่ยากมาก แต่ก็จะมีจุดหลอกมาทำให้เราสับสนอยู่เหมือนกัน แต่เราก็สามารถที่จะเรียนรู้จากการทำโจทย์ได้ ยิ่งทำเยอะเราก็จะเห็นความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เราพร้อมที่จะรับมือกับข้อสอบได้ในทุกแนว

รีวิววิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์3

ช่วยเล่าให้น้อง ๆ ฟังหน่อยว่า คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข สาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เค้าเรียนอะไรกันบ้าง

ที่เรียนหลัก ๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกันครับ โดยส่วนแรกจะเป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่นการจัดการข้อมูล การเขียนโปรแกรม หรือการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์  และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ เช่น การระบาดและการเกิดโรค กายวิภาคศาสตร์และระบบสุขภาพ ซึ่งเราจะนำเอาทั้ง 2 ส่วนนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์และต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

คิดว่าจุดเด่นของคณะและสาขาของเราคืออะไร

ต้องเป็นที่หลักสูตรของเราเลยครับ เพราะเป็นที่แรกในประเทศที่เปิดสอนในสาขานี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกได้ว่า เราจะได้เรียนแบบสองขั้วไปเลย ขั้วหนึ่งเป็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อีกขั้วหนึ่งก็เป็นเกี่ยวกับการแพทย์ อีกหนี่งจุดเด่นเลยก็คือเราจะได้เป็นนักศีกษาภายใต้ 2 มหาวิทยาลัยครับก็คือที่พระจอมเกล้าธนบุรีและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สามารถใช้สิทธิและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้เหมือนนักศึกษาปกติทั้ง 2 ที่และยังสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้กับทั้ง 2 ที่เลย

อยากรู้ว่า มีวิชาไหนที่เราประทับใจมากจนอยากเล่าให้ฟังมั้ย

ตอนนี้เราก็พึ่งเข้ามาเรียนก็อาจจะยังไม่เจอวิชาภาคมากนัก แต่ถ้าให้เลือกเราคิดว่า เป็นวิชา Concepts of Health and Health Care Systems เพราะเป็นวิชาที่เราไม่สามารถหาเรียนที่ไหนก่อนได้อย่างแน่นอน เป็นวิชาที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงทั้งระบบสุขภาพและระบบสาธารณสุข จุดแรกที่ประทับใจกับวิชานี้คือตรงที่เป็นวิชาที่จะมีอาจารย์รับเชิญมาสอนในแต่ละสัปดาห์ทำให้เราได้เราได้เรียนกับอาจารย์ที่มีความเฉพาะหรือมีประสบการณ์ในหัวข้อนั้น ๆ และอีกจุดคือ มีการจัด Field Trip ไปดูระบบการทำงานจริง ซึ่งทำให้เราได้มองเห็นภาพของระบบสาธารณสุขได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยปกติเราจะได้เดินทางไปศึกษาในโรงพยาบาลจริงเลย แต่ในปีนี้เนื่องจากโควิด 19 ทำให้ต้องจัดเป็นในรูปแบบออนไลน์

คณะและสาขานี้ จบไปแล้วเราสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง

สาขาของเราทำงานได้หลากหลายเลย เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน หน่วยงานด้านสาธารณสุข นักระบาดวิทยา นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบข้อมูล ผู้จัดการซอฟต์แวร์และข้อมูล หรือนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

คณะและสาขาของเรามีการปรับเรียนการสอนยังไงบ้างในช่วงนี้ที่ยังมีการระบาดของโควิด 19 อยู่

ด้วยการระบาดของโควิด 19 คณะของเราก็มีการปรับการเรียนการสอนเป็นในรูปแบบออนไลน์  สำหรับเราพวกวิชาคอมพิวเตอร์ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากเพราะว่าปกติเราก็จะเรียนและทำงานกันผ่านคอมอยู่แล้ว แต่ถ้าไปเรียนที่มหาลัยได้ก็จะดีมากเลยครับ

รีวิววิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์2

ช่วยฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจและอยากเข้าคณะนี้หน่อย

ก็สำหรับน้อง ๆ ทุกคนนะครับ พี่เชื่อว่า ทุกคนคงเหนื่อยและท้อกันบ้างแหละ พี่ก็จะขอเป็นกำลังใจให้น้องทุกคนสู้ ๆ นะครับ อย่าลืมที่จะพักผ่อนไม่ว่าจะเป็นนอนพักหรือออกไปหาอะไรทำที่จะสามารถฮีลใจและกายของตัวเองได้ อีกนิดเดียวครับ ฮึบ ๆๆ พี่เชื่อว่าน้องทุกคนทำได้ ขอเพียงตั้งใจและทำให้เต็มที่ที่สุด น้อง ๆ ทุกคนก็สามารถไปถึงเป้าหมายของตัวเองที่ตั้งไว้ได้ และสำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากมาเรียนในสาขาเดียวกับเราก็ขอให้น้อง ๆ ทำได้สำเร็จ พี่ ๆ และอาจารย์ทุกท่านรอต้อนรับน้อง ๆ อยู่ แล้วเจอกันนะครับ

และนี่คือทั้งหมดจากบทสัมภาษณ์สุด Exclusive ของพี่คอปเตอร์ เฟรชชี่ปี 1 คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คิดว่าบทสัมภาษณ์นี้คงทำให้น้อง ๆ ได้รู้จักคณะนี้และสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ในการเตรียมตัวสอบเข้าของพี่คอปเตอร์อีกด้วย สำหรับใครที่กำลังสนใจในคณะนี้และสาขานี้อยู่ ทำโจทย์วนไปแบบที่พี่คอปเตอร์แนะนำได้เลย อีกไม่กี่เดือนแล้ว สู้ ๆ นะน้อง ๆ ฮึบบบบ ๆๆๆ เป็นกำลังใจให้ทุกคนน้า <3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

#อัปเดต TCAS68 กสพท คืออะไร ต้องสอบอะไรบ้าง ? – TCASter

16,154 views

#อัปเดต TCAS68 ข้อสอบ TGAT/TPAT, A-Level คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS68

6,312 views

#อัปเดต TCAS68 ทำความรู้จัก mytcas คืออะไร? ทำไม DEK68 ทุกคนต้องลงทะเบียน

2,213 views

ทำความรู้จัก กยศ. กองทุนให้ยืมเพื่อการศึกษา คืออะไร กู้ยังไง มาดู! – TCASter

863 views

อัปเดต TCAS68 เกณฑ์ใหม่ นิติ มธ. หลังยกเลิกสอบวิชาเฉพาะ – TCASter

744 views

ม.กรุงเทพ ร่วมกับ Berkeley SkyDeck Fund  จัดกิจกรรม Hackathon 2024

4,008 views