Follow us on

รุ่นพี่รีวิว คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – TCASter

วันที่โพสต์
รีวิวคณะจิตวิทยา จุฬา

ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2566

Xinytarnn & Mind TCASter


ทำความรู้จักกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกหนึ่งคณะในดวงใจของใครหลาย ๆ คน ที่ชอบเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคล การให้คำปรึกษา จะเป็นคณะอะไรไปไม่ได้ นอกจากคณะจิตวิทยา น้อง ๆ หลายคนคงจะอยากรู้กันแล้วว่า คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเรียนอะไรกันบ้างนะ แล้วการสอบเข้าต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง วันนี้พี่จะพาน้อง ๆ ไปรู้จักคณะนี้มากขึ้นผ่านบทความรุ่นพี่รีวิวคณะกันเลย

.

แนะนำตัว
สวัสดีค่า พี่ชื่อ มาย นะคะ เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 กำลังขึ้นปี 4 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

ทําไมถึงเลือกเรียนคณะจิตวิทยา ? 
ที่พี่เลือกเรียนคณะนี้เพราะต้องยอมรับตรง ๆ ว่า ตอนจะเข้ามหาลัยพี่ไม่ได้อยากเข้าคณะไหนเป็นพิเศษ เรารู้สึกว่าก็ไม่ได้อยากเรียนไปทางวิทย์เลย หรือก็ไม่ได้อยากไปทางศิลป์เลย จนมาเจอคณะจิตวิทยาเลยรู้สึกว่าน่าสนใจดี เพราะเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ทั้งวิทย์และศิลป์ และยังเป็นสิ่งที่พี่ยังไม่เคยเรียนหรือเคยเจอตอนมัธยมด้วย เลยสนใจที่จะเรียนคณะนี้ค่ะ

.

มีการหาข้อมูลในการเข้าคณะยังไงบ้าง ?
– พี่หาข้อมูลคณะผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเลยว่ามีหลักสูตรการเรียนเป็นยังไงบ้าง บวกกับถามรุ่นพี่หรือคนรู้จักที่เรียนคณะนี้อยู่ว่าเป็นยังไงบ้าง แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบกันค่ะ

.

มีการเตรียมสอบยังไงบ้าง ? 
อย่างแรกเลยคือพี่หาเกณฑ์การสอบของคณะนี้ในแต่ละมหาลัย เราก็ใช้แอป TCASter ในการเปรียบเทียบแต่ละมหาลัย เพราะมันย่อยข้อมูลง่าย พอเรารู้แล้วว่าเราต้องใช้เกณฑ์อะไรบ้าง (ณ ตอนนั้นพี่เลือกเข้ารอบ 3 ซึ่งใช้ gat pat1 pat2 ) พี่ก็โฟกัสการอ่านหนังสือไปที่วิชาภาษาอังกฤษกับวิชาคณิตศาสตร์ เพราะรู้ตัวว่าเราไม่เก่งวิทย์เลยใช้ pat2 ไม่ได้ พอเราเลือกวิชาที่ต้องโฟกัสได้แล้ว เราก็เต็มที่กับการอ่านหนังสือและการฝึกทำโจทย์ ตอนนั้นเราไม่ได้เรียนพิเศษเยอะเลยถ้าเทียบกับคนอื่น เพราะรู้ความถนัดของตัวเองแล้ว พี่เลยเลือกโฟกัสได้ถูกจุด และการทำโจทย์เป็นสิ่งสำคัญมาก อันนี้ต่อให้เราเก็บเนื้อหาไม่ทันก็เลือกที่จะฝึกทำโจทย์ก่อน

.

คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ? 
คณะนี้จะเรียนหลัก ๆ เกี่ยวกับการทำความเข้าใจมนุษย์ ในช่วงปี 1 ปี 2 จะเรียนทฤษฎีพื้นฐานของจิตวิทยา พอขึ้น ปี 3 จะได้เริ่มเรียนวิชาที่ลงลึกของสาขานั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งคณะจิตวิทยาที่จุฬา จะมีรายวิชาที่เปิดสอนอยู่ 4 สาขา คือ

.

    1.จิตวิทยาการปรึกษา : สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับทักษะที่ต้องใช้ในการเป็นนักจิตปรึกษา (counselor) วิชาที่เราเคยได้เรียนคือวิชา Helping Process Counseling จะเรียนเกี่ยวกับกระบวนการช่วยเหลือเชิงจิตวิทยาการปรึกษา ได้ฝึก skill การเป็นนักจิตปรึกษาที่ดี ได้ลอง role play ปฏิบัติจริง ๆ ในชั้นเรียน ต้องย้ำว่าการเรียนสาขานี้ ตัวเราจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้นโดยการรับฟังความรู้สึก ค้นหาสาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน แต่การตัดสินใจว่าจะทำตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้รับการปรึกษา

    2.จิตวิทยาสังคม : สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกของคนเรา ที่ได้รับอิทธิพลจากคนอื่น ๆ รอบตัวเรา โดยสามารถเลือกศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ได้หลากหลาย เช่นความสัมพันธ์ของคู่รัก, การทำงานร่วมกันในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ, เทคนิคการโน้มน้าวใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแวดวงโฆษณาและการตลาดได้ ไปจนถึงการศึกษาเรื่องความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ 

    3.จิตวิทยาพัฒนาการ : สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ในครรภ์มารดา วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา  ทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม

    4.จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ : สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับการใช้จิตวิทยาในบริบทของการทำงาน ตั้งแต่การการสรรหาคนเข้ามาในบริษัท การพัฒนาศักยภาพของพนักงาน จนไปถึงการจะทำยังไงให้พนักงานรู้สึกผูกพันและมีส่วนร่วมกับองค์กร

.

**ที่จุฬาจะไม่มีสาขาจิตวิทยาคลินิคเป็นพิเศษ แต่จะมีรายวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคทางจิตวิทยาอยู่บ้าง เช่น โรคซึมเศร้า, โรคไบโพลาร์, โรคจิตเภท

.

สิ่งที่น่าสนใจของคณะนี้ ?
สิ่งที่น่าสนใจของคณะจิตวิทยาที่จุฬา คือจะไม่มีการบังคับให้เลือกสาขา เราสามารถเลือกที่จะเรียนวิชาของสาขาไหน กี่ตัวก็ได้ตามความสนใจของเรา ทำให้เราสามารถที่จะลองเรียนเพื่อหาสาขาที่ตรงกับความชอบหรือความถนัดของเราได้

.

มีการฝึกงานไหม ? การฝึกงานแบ่งเป็นสายงานไหนได้บ้าง ?
มีการบังคับฝึกงานตอนช่วงปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4 ตามที่ได้เล่าไปว่าจิตวิทยาที่จุฬาไม่ได้มีการบังคับสาขาเรียน การฝึกงานจึงไม่ได้บังคับสาขาเช่นกัน เราสามารถเลือกไปฝึกสาขาไหนก็ได้ ส่วนมากตามที่เห็นเพื่อนกับรุ่นพี่ไปฝึกก็จะแบ่งสายงานได้คร่าว ๆ ได้แก่

.

  1. สาย HR ทั้งการ Recruit และ การพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงสาย HR consult ด้วยเช่นกัน
  2. สายโรงพยาบาล จะไปฝึกฝ่ายจิตเวชหรือดูแลเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก การฟื้นฟูผู้ป่วยทางด้านจิตใจ
  3. สายอื่น ๆ เช่น การตลาด, UX/UI, การพัฒนาคอร์สเรียน

.

จบมาทำอาชีพอะไรได้บ้าง ? 
อาชีพที่สามารถทำได้ ก็จะแบ่งเป็นตามสาขาที่เรียนเลย

.

     1.จิตวิทยาการปรึกษา :  นักจิตปรึกษา (Counselor) *จำเป็นต้องเรียนต่อปริญญาโทเพื่อได้ใบประกอบวิชาชีพ

     2.จิตวิทยาสังคม : นักวิจัย, นักวิจัยทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค, ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและการสร้างมาตรวัด นอกจากนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆได้ เช่น การสอบปากคำผู้ต้องหา การชี้ตัวผู้ต้องหา การวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม

     3.จิตวิทยาพัฒนาการ : สามารถทำงานตามช่วงวัยที่สนใจได้ เช่น วัยเด็กและวัยรุ่น สามารถเลือกทำงานบำบัดเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาในโรงพยาบาล, การกระตุ้นพัฒนาการเด็กในคลินิคหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเป็นตัวกลางระหว่างอาชญากรที่เป็นเด็กและวัยรุ่นกับตำรวจและศาล 

     4.จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ : HR (HRM,HRD,HRR), HR Consultant

.

สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ถ้าอยากเข้าคณะนี้ต้องเตรียมตัวเจออะไรบ้าง ?
การเรียนคณะนี้จำเป็นต้องมีทักษะภาษาอังกฤษประมานหนึ่ง เพราะคณะเราเป็นคณะที่ทำวิจัยเยอะมาก ๆ ต้องมีการอ่านวิจัยเก่า ๆ ซึ่งงานวิจัยส่วนมากก็จะเป็นของต่างประเทศ นอกจากนี้คณะเราจำเป็นต้องเรียนสถิติเพื่อใช้ในการสรุปผลวิจัย จึงจำเป็นต้องมีการเรียน coding โดยใช้โปรแกรม R แต่จะไม่มีการสอบเขียน code จะใช้ในการทำแบบฝึกหัดมากกว่า และสุดท้าย อยากจะเตือนน้อง ๆ สายศิลป์ว่า คณะจิตวิทยาจำเป็นต้องมีการเรียนวิชาชีววิทยาอยู่ ทั้งเรื่องของระบบของร่างกายโดยเฉพาะเรื่องของสมอง ซึ่งบางวิชามีการตัดเกรดร่วมกับคณะสายวิทย์ เช่น สหเวช และ ทันตะ

.

ความรู้สึกหลังจากที่ได้มาเรียนที่นี่ ?
หลังจากที่เข้ามาเรียนที่นี่ พี่รู้สึกชอบและคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกแล้ว ได้เรียนวิชาที่น่าสนใจหลายตัว และสิ่งสำคัญที่สุดที่พี่ได้จากการเรียนคณะจิตวิทยาคือการเข้าใจตัวเอง ได้ soft skill อะไรหลายๆ อย่างจากที่นี่ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของจิตวิทยา จุฬาก็ดีมาก ๆๆๆ อาจารย์ใจดีและเข้าใจนิสิตจริง ๆ แทบจะเป็นคณะที่ชิวที่สุดในจุฬาแล้ว ไม่บังคับแต่งชุดนิสิต ไม่บังคับทำกิจกรรม  ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม และคณะนี้เป็นคณะเล็กๆ รุ่นนึงมีไม่เกิน 80 คน ทำให้ทุกคนในรุ่นรู้จักกันหมด มีอะไรก็ปรึกษาเพื่อน รุ่นพี่ หรืออาจารย์ได้ 

– คณะจิตวิทยา จุฬาจะอยู่จุฬาฝั่งเล็ก ใกล้กับ MBK และโซนสวนหลวง บรรทัดทอง เพราะฉะนั้นเรื่องของกินไม่ต้องห่วง และการเดินทางก็ติดกับ BTS สนามกีฬาแห่งชาติ สามารถนั่งมาลงและเดินทะลุเข้ามาในสนามกีฬาได้เลย

.

รีวิวคณะจิตวิทยา จุฬา

.

ให้กำลังใจน้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะนี้ 🙂
อยากเป็นกำลังใจให้กับน้อง ๆ ทุกคนนะคะ พี่เข้าใจว่าช่วงเวลาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เครียดและกดดันมาก แต่พี่เชื่อว่าถ้าเรามีการวางแผนที่ดีและมีความตั้งใจมากพอ เราสามารถทำได้แน่นอนค่ะ และก็อย่าลืมดูแลตัวเองทั้งทางด้านร่างกายแล้วก็จิตใจนะคะ ยังไงไว้เจอกันที่คณะค่า 🙂

.

The body archive what the mind believe.

( มาย ภาวิดา พินเดช )

สำหรับใครที่สนใจข้อมูลดี ๆ แบบนี้อีกก็อย่าลืมติดตามผ่านเว็บไซต์ TCASter รวมถึงใครที่ต้องการทราบข้อมูลหรือคอนเทนต์น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถติดตามผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ของ TCASter ได้เลย

Facebook, Youtube, Instagram, Twitter, Tiktok

สามารถติดตามข่าวสารการสมัครสอบทุกรอบในระบบ TCAS ได้ง่าย ๆ เพียงแค่กดโหลด App

iOS, Android

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กดวงรายเดือน! ดวงเดือนกันยายน 2567 #ฉบับวัยเรียน

1,322 views

แถลงการณ์ TCAS68 ล่าสุด! ที่ Dek68 และเด็กซิ่ว ต้องรู้มีอะไรสำคัญบ้าง

2,123 views

มาแล้ว! TCAS68 ม.ศิลปากร รอบพอร์ต เริ่ม 28 ต.ค. 67 – TCASter

4,003 views

สรุปประเด็น แถลงข่าว กสพท68 ปีล่าสุด มีอะไรเปลี่ยนบ้าง

1,826 views

#อัปเดต TCAS68 กสพท คืออะไร ต้องสอบอะไรบ้าง ? – TCASter

17,815 views

#อัปเดต TCAS68 ข้อสอบ TGAT/TPAT, A-Level คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS68

7,670 views