ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566
Xinytarnn & Thanagag TCASter
ทำความรู้จักคณะวิศวะฯ อุตสาหการ จุฬา
น้อง ๆ คนไหนกำลังสนใจอยากเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลาดไม่ได้! กับบทความรุ่นพี่รีวิวคณะวิศวะฯ จุฬา เพราะว่าวันนี้พี่มีบทสัมภาษณ์สุด Exclusive จากพี่แก๊ก (ธนกฤต สุรัตนชัยบุญเลิศ) จาก วิศวะฯ อุตสาหการ จุฬา ใครพร้อมแล้วไปดูกันเลยย
.
แนะนำตัว
– สวัสดีครับ พี่ชื่อ แก๊ก นะครับ ตอนนี้เรียนอยู่ปี 3 วิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ
.
ทําไมถึงเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ?
– ที่พี่เลือกเรียนคณะนี้ก็เพราะว่าคณะนี้เน้นเรียนในวิชาที่พี่ชอบ นั่นก็คือ วิชาคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ครับ เลยคิดว่าน่าจะมีความสุขถ้าได้มาเรียนในคณะวิศวะฯ อีกอย่างคือวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะที่มีชื่อเสียงและสามารถจบไปประกอบอาชีพที่มั่นคงและต่อยอดได้ในการทำงานได้ อีกอย่างคือ พ่อพี่เองก็เป็นวิศวะเหมือนกัน แต่ว่าเรียนจบวิศวะฯ เครื่องกลแล้วก็ทำงานอยู่ในโรงงานแถวมาบตาพุด ระยอง เพราะงี้เลยได้เห็นเวลาพ่อทำงานและมีโอกาสได้ช่วยงานอยู่บ้าง เช่น ซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่บ้าน เปลี่ยนและซ่อมหลอดไฟ พอได้ทำอะไรแบบนี้เลยมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ เวลาทำงานน่าจะให้ความรู้สึกเหมือนตัวเองได้ทำในสิ่งอยากทำและไม่ได้มองว่าเป็นการถูกบังคับให้ทำงาน
.
มีการหาข้อมูลในการเข้าคณะยังไงบ้าง ?
– ปกติพี่ก็จะหาข้อมูลและขอคำปรึกษาจากคนใกล้ ๆ รอบตัวก่อนครับ ทั้งคุณพ่อ คุณครู และพี่ ๆ ที่เรียนคณะวิศวะอยู่ ว่าตอนเรียนต้องเจออะไรบ้าง เรียนจบแล้วสามารถไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ก็มีการหาข้อมูลในเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์, เว็บไซต์ TCASter เป็นต้นครับ
.
มีการเตรียมสอบยังไงบ้าง ?
– ตอนนั้นเมื่อช่วงม.6 พี่ก็เป็นเด็กคนนึงที่ตั้งใจจะเข้ามารอบพอร์ต แต่พี่ก็ได้ลองไปสอบมาด้วยเหมือนกัน
รอบพอร์ต : ส่วนตัวพี่เก็บผลงานมาเรื่อย ๆ อยู่แล้วตั้งแต่ม.4 เพราะชอบไปเข้าค่ายวิชาการ แข่งโครงงานต่าง ๆ ได้ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอด เลยพอมีผลงานที่เอาไปใส่ในพอร์ต แล้วก็ยื่นติดที่ วิศวะฯ จุฬาครับ
รอบสอบ : หลังจากที่ติดรอบพอร์ตแล้ว พี่ก็ว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไร55555 เลยตัดสินใจอ่านหนังสือสอบกับเพื่อนที่โรงเรียน ตอนนั้นจำได้ว่ามีเวลาเตรียมตัวอยู่ประมาณ 3 เดือนก่อนสอบ ซึ่งวิชาที่ต้องอ่านก็จะมีความถนัดทั่วไป + อังกฤษ (GAT ไทย และ GAT Eng), คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์ + ความถนัดทางวิศวะ (PAT 3) + เคมี ด้วยความที่พี่เรียนในโรงเรียนที่เน้นสายวิทย์-คณิตอยู่แล้ว เลยพอมีพื้นฐานความรู้อยู่บ้าง ถึงแม้ว่าจะมีเวลาอ่านไม่เยอะแต่ก็ดีที่คะแนนเกินขั้นต่ำของวิศวะฯ จุฬาได้ครับ
.
คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ?
– เข้ามาเรียนที่วิศวะฯ จุฬาภาครวม ในช่วงปีแรกจะยังมีเวลาให้ได้ค้นหาตัวเองก่อนว่าอยากที่จะเข้าสาขาอะไร ซึ่งผ่านวิชาที่จะได้เรียนแบบหลากหลาย ตั้งแต่ Physics, Calculus, Python, Materials และ Drawing เป็นต้น หลังจากนั้นก่อนขึ้น ปี 2 ก็จะต้องมีการยื่นเกรดที่เราได้จากตอนปี 1 เพื่อยื่นเข้าสาขาที่เราต้องการ ซึ่งส่วนตัวพี่ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษเลย55555 แต่เห็นมีเพื่อนรีวิวว่าภาคอุตสาหการคะแนนสูงอันดับต้น ๆ มีแต่คนเก่ง ๆ อยากเข้า บวกกับได้เรียนเกี่ยวกับการบริหาร การจัดการต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับตัวเองเลยเลือกเข้ามาในภาควิชาอุตสาหการครับ
สิ่งที่น่าสนใจของคณะนี้ ?
– คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะที่มีผู้คนมากมายและมีความรู้หลากหลายอย่างมาก ๆ ไม่ว่าจะด้านไหนก็จะมีคนที่เรานึกถึงได้ในทันที ทั้งด้านวิชาการ, Finance, Cryptocurrency หรือแม้กระทั่งเรื่องดนตรี – กีฬา แต่ว่าสิ่งที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือ วิชาที่เรียนค่อนข้างยาก โดยเฉพาะตอนสอบ ความหนัก/เบาในการเรียนก็ขึ้นกับสาขานั้น ๆ ถ้าเป็นภาควิชาอุตสาหการจะเรียนไม่หนักมากแต่จะหนักในช่วงของการสอบ เพราะข้อสอบยากสุด ๆ แต่ก็ยังมีบางคนได้ A ล้วนด้วยนะ อีกอย่างคือการเรียนภาควิชาอุตสาหการที่จุฬาจะไม่เหมือนกับที่อื่น เพราะที่นี่ได้สอดแทรกแนวความคิดทางด้านธุรกิจให้ด้วย ทำให้เราสามารถไปต่อยอดในอนาคตได้หลายทางมาก ๆ
.
มีการฝึกงานไหม ? การฝึกงานแบ่งเป็นสายงานไหนได้บ้าง ?
– ที่คณะวิศวะฯ จุฬาปกติมีการฝึกงานในหลักสูตรคือ ช่วง Summer ปี 3 ขึ้นปี 4 แต่ตอนนี้พี่กำลังขึ้นปี 3 แต่ก็อยากหาอะไรทำเลยมายื่นฝึกงานเองที่ TCASter และได้มาลองทำตำแหน่ง Business development ที่นี่ ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจเยอะมาก ๆ
– การฝึกงานปกติของคณะวิศวะฯ จุฬาสามารถทำได้หลายทางมาก ๆ เช่น
สายโรงงาน คือ ได้ไปฝึกการจัดการในโรงงานต่าง ๆ ดูว่าวัสดุที่ใช้คุ้มค่ามั้ย การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนในการลงทุนหนึ่ง ๆ เป็นต้น
สายธุรกิจ คือ ตำแหน่งที่พี่มาฝึกอยู่ตอนนี้ ได้ลองมาวิเคราะห์สถานการณ์และโอกาสทางธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าประชุมเพื่อดีลธุรกิจกับองค์กรอื่น ๆ เป็นต้น
สายการเงิน คือ ได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน การจัดการทางด้านการเงินต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปทำที่ธนาคาร เป็นต้น
.
จบมาทำอาชีพอะไรได้บ้าง ?
– ในองค์กรต่าง ๆ ก็สามารถทำได้หลายตำแหน่งและหลากหลายด้านตามที่เล่าไปในส่วนของการฝึกงาน มีตำแหน่งที่น่าสนใจเยอะ เช่น Project Management, Business Development, Data Analysis และ Account Management เป็นต้น
– ตัวอย่างสายงานที่ทำได้หลังจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาอุตสาหการ
- วิศวกรอุตสาหการ : สามารถทำงานเป็นวิศวกรในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การผลิตและการจัดการกระบวนการผลิต การวางแผนการผลิตและการควบคุมคุณภาพ การพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการจัดการโรงงานและโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม
- นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ : สามารถทำงานในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาวัสดุใหม่ การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้สินค้าและกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ผู้ประกอบการ : สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจและก่อตั้งบริษัทได้ เช่น การผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การจัดการโครงการใหญ่ หรือการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรม
.
สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ถ้าอยากเข้าคณะนี้ต้องเตรียมตัวเจออะไรบ้าง ?
– ถ้าน้อง ๆ สนใจเข้าคณะวิศวะฯ อุตสาหการ น้องจะได้เจอกับวิชาที่หลากหลายเพราะภาคอุตสาหการได้เรียนเป็น Generalist หรือก็คือคนที่ต้องเข้าใจในทุก ๆ ด้าน แต่จะไม่ได้รู้ detail อะไรเยอะมากนัก เหมือนกับภาคไฟฟ้าหรือภาคคอมพิวเตอร์ที่เป็น Specialist ดังนั้นบางคนที่อาจจะไม่ได้ชอบบางวิชา เช่น วิชาเขียนโค้ด วิชาท่องจำวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เทอร์โมไดนามิกส์ และวงจรไฟฟ้า อาจไม่ชอบนัก ส่วนวิชาที่ยากตอนปี 2 สำหรับพี่เลย คือวิชา Operation Research ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการหาจุดคุ้มทุนในการลงทุนต่าง ๆ และต้องใช้ logic (ตรรกะ) เยอะมาก ๆ เลยอยากบอกน้อง ๆ ทุกคนที่จะเข้าคณะนี้ให้ตั้งใจเรียนและทำโจทย์เยอะ ๆ นะคร้าบบบ
.
ความรู้สึกหลังจากที่ได้มาเรียนที่นี่ ?
– สภาพแวดล้อมที่นี่เป็นสังคมที่ทำให้เราเป็นคนหา(อะไร)ทำตลอดเวลา เพราะเพื่อน ๆ ก็จะเป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้และต้องการประสบการณ์อยู่ตลอด เช่น ไปแข่งเคสธุรกิจ, ฝึกงานตั้งแต่ปี 2 หรือทำกิจกรรมค่ายอาสาที่ต่างจังหวัดบ่อย ๆ ไปฝึกทำอาหารให้คนจำนวนมากทาน ได้ไปสร้างอาคาร วาดรูประบายสีกำแพงโรงเรียน จัดกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ หรือการมี Connection จากการได้รู้จักเพื่อนต่างคณะ
.
ให้กำลังใจน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้ 🙂
– ขอให้น้อง ๆ โชคดีกับการเตรียมสอบครับ พี่เองก็เคยเป็นเหมือนน้องที่กังวลว่าตัวเองจะสอบติดมั้ย แต่พี่บอกเลยว่าถ้าเรามีความตั้งใจ ความมุ่งมั่นมากพอ ยังไงเราก็ทำได้ครับ ไว้เจอกันที่ลานเกียร์น้าาา
.
สำหรับใครที่สนใจข้อมูลดี ๆ แบบนี้อีกก็อย่าลืมติดตามผ่านเว็บไซต์ TCASter รวมถึงใครที่ต้องการทราบข้อมูลหรือคอนเทนต์น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถติดตามผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ของ TCASter ได้เลย
Facebook, Youtube, Instagram, Twitter, Tiktok