ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2566
Geaw TCASter
ถ้าพี่ถามน้อง ๆ ว่า วิชาไหนที่ยากและไม่อยากเรียนมากที่สุด พี่เชื่อว่าต้องมีวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นคำตอบเยอะระดับนึงอย่างแน่นอน ก็วิชาอะไรยิ่งเรียนยิ่งมึน คำนวณก็เยอะ ยิ่งพอมาช่วงมัธยมปลายก็ยิ่งมึนเข้าไปใหญ่ และพี่เชื่อว่าต้องมีหลายคนแน่ ๆ ที่ไม่อยากเจอวิชาคณิตศาสตร์เยอะ ๆ เหมือนตอนเรียนมัธยมอีกแล้ว วันนี้พี่เลยจะมาเอาใจน้อง ๆ ที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์กันในหัวข้อ ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เข้าคณะอะไรดี มาถึงตอนนี้น้อง ๆ คนไหนที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์คงตาลุกกันแล้วแน่ ๆ งั้นเราไปดูกันเลยดีกว่าว่า คณะไหนที่คนไม่ชอบคณิตศาสตร์เรียนได้บ้าง ไปดูกันเลย
.
1.คณะนิติศาสตร์
คณะนี้จะเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ทำความเข้าใจข้อบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ศึกษาเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์ ความประพฤติ ของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม โดยจะเน้นการท่องจำพวกมาตรากฎหมายต่าง ๆ และวิชาภาษาอังกฤษเป็นหลัก
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
2.คณะนิเทศศาสตร์
คณะนี้จะเรียนรู้เกี่ยวกับการทำสื่อเป็นหลัก ว่าจะทำสื่อยังไง ให้ออกมาแล้วผู้รับสารเข้าใจ รวมถึงเรียนวิธีการนำเสนอสื่อผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ และทำให้สื่อได้รับการตอบรับที่ดีกลับมา โดยคณะนี้จะเน้นใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำสื่อเป็นหลัก
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
3.คณะศิลปกรรมศาสตร์
คณะนี้จะเรียนเกี่ยวกับศิลปะและการประยุกต์ศิลป์ โดยจะเน้นศึกษาทฤษฎีประวัติ เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพ การออกแบบปั้น การพิมพ์ การเล่นดนตรี และการรำ เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และอนุรักษ์ศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติเอาไว้
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
4.คณะมนุษยศาสตร์
คณะนี้จะศึกษาเกี่ยวกับสภาวะของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย โดนจะเน้นการเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ และการปรับตัวของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมไปถึงการศึกษาวัฒนธรรมและภาษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
5.คณะศิลปศาสตร์
คณะนี้จะศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปและการใช้ทักษะเชิงปัญญา โดยจะผสมผสานศิลปวิทยาการต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีการนำศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วยเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยคณะนี้จะมีการนำศาสตร์เกี่ยวกับคณิตมาใช้บ้างนิดหน่อยแต่จะเป็นแค่พื้นฐาน ไม่ได้ลงลึกมาก
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล)
6.คณะอักษรศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์จะเน้นศาสตร์ที่เกี่ยวกับอักษรหรือภาษา และนำมาผสานกับเรื่องของวัฒนธรรมในแต่ละภาษาอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านของประวัติศาสตร์และวรรณคดี เพื่อศึกษาค่านิยมด้านความคิดของแต่ละชาติที่ใช้ภาษานั้น ๆ
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร)
7.คณะรัฐศาสตร์
คณะนี้จะศึกษาเกี่ยวกับการบริการรัฐ การเมืองการปกครอง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งการศึกษาวิชารัฐศาสตร์นั้น จะต้องอาศัยศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์เข้ามาประกอบการศึกษา อธิบายภาวะต่าง ๆ ทางสังคม ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงได้
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
8.คณะครุศาสตร์ / คณะศึกษาศาสตร์
คณะนี้จะศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการศึกษาและวิชาชีพครู เพื่อการดำเนินการและแสวงหาวิธีการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น ๆ ให้ออกอย่างมีประสิทธิภาพ
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
9.คณะดุริยางคศิลป์
คณะนี้จะศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของวิชาทฤษฎีการดนตรี, ประวัติศาสตร์ด้านดนตรี, การฝึกโสตทักษะ, คีย์บอร์ดพื้นฐาน, กษะคีย์บอร์ดสำหรับนักเปียโน, การขับร้อง, เครื่องเอก, การรวมวง, ออร์เคสเตสชั่น และการรวมวงเชมเบอร์
(ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน มหาวิทยาลัยมหิดล)
.
ก็จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการพูดถึงคณะที่คนไม่ชอบวิชาคณิตเรียนได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วก็ยังมีอีกหลากหลายคณะที่ไม่ค่อยมีเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ แต่คณะที่พี่ยกตัวอย่างมาในวันนี้จะเป็นคณะที่มีวิชาคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องน้อยมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การสอบเข้า การเรียนจริงในคณะ หรือไปจนถึงการทำงาน ทำให้สายอาชีพที่จบจากคณะเหล่านี้ไปจะเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์น้อยมาก ๆ
.
แต่จริง ๆ การที่เราไม่เก่งคณิตศาสตร์ มันไม่ได้หมายความว่าเราด้อยกว่าคนที่เก่งคณิตศาสตร์ เราทุกคนมีสิ่งที่ถนัดแตกต่างกันออกไป ทุกคนมีทั้งสิ่งที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดีปะปนกันอยู่เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นพี่ก็อยากให้น้อง ๆ ทุกคนได้ไปอยู่ในคณะที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงดึงศักยภาพของน้อง ๆ ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียนในคณะที่เราเลือก
.
สำหรับใครที่สนใจข้อมูลดี ๆ แบบนี้อีกก็อย่าลืมติดตามผ่านเว็บไซต์ TCASter รวมถึงใครที่ต้องการทราบข้อมูลหรือคอนเทนต์น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถติดตามผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ของ TCASter ได้เลย
Facebook, Youtube, Instagram, Twitter, Tiktok