Follow us on

Learn to be กรุณา บัวคำศรี สื่อ ผู้เชื่อมต่อผู้คนผ่านเรื่องราวทั่วโลก

วันที่โพสต์

มากกว่า 20 ปีที่เราได้ยินเสียงและชื่อของเธอผ่านสื่อมากมาย ตั้งแต่บทบาทนักข่าวบนจอโทรทัศน์จนมาสู่ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อออนไลน์ทั้งยูทูบและพอดแคสต์ ด้วยความฝันวัยเด็กที่อยากท่องไปในโลกกว้างประกอบกับความพยายามของเธอที่ไม่หยุดอยู่กับที่ จึงทำให้เธอได้ท่องไปทำข่าวเกือบทั่วทุกมุมโลกในวันนี้ และเธอยังช่วยนำพาโลกที่ดูเหมือนจะไกลให้เข้ามาใกล้ผู้คนมากขึ้นอีกด้วย

กว่าจะมาเป็น กรุณา ในวันนี้ น้อง ๆ เคยสงสัยกันไหมว่า เขาเรียนด้านไหน? ทำอะไรมา? แล้วเราจะเรียนหรือทำอย่างเขาได้บ้างไหมนะ? ถ้าอยากเป็น “สื่อที่ท่องไปรอบโลก” ตามไปอ่านกันได้เลย

Learn to be_กรุณา บัวคำศรี
อ้างอิง: https://soundcloud.com/karunabuakamsri

กรุณา บัวคำศรี (นา) เด็กผู้หญิงที่เคยอาศัยอยู่ในอรัญประเทศท่ามกลางวิกฤติการเมืองของกัมพูชา ภาพที่ประดังเข้ามาสู่สายตาเธอจึงมีแต่การหลบหนีและการปะทะของผู้คน สิ่งที่จะช่วยให้โลกของเธอกว้างขึ้นได้ก็คงมีเพียงแต่ตัวอักษรในหนังสือที่พ่อหยิบยื่นให้เธออ่าน

แรงบันดาลใจจากหนังสือชุด “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ที่เล่าถึงการผจญภัยและการเผชิญโลกจริงของครอบครัวอเมริกันยุคสร้างชาติ ทำให้เธออยากออกไปดูโลกกว้างด้วยตาตัวเองอย่างที่ตัวอักษรในหนังสือได้เสกสร้างให้เธอเห็น 

 

ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวในวัยเด็กที่ไม่ได้ร่ำรวย เธอจึงล้มเลิกความคิดที่จะเข้ามหาวิทยาลัยและตั้งใจที่จะสอบเข้าเรียนพยาบาลเพราะเห็นว่าเป็นวิชาชีพที่มั่นคง แต่ก็ไม่สำเร็จ เธอจึงหันไปเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งด้วยแรงบันดาลใจจากการไปเห็นชีวิตมหาวิทยาลัยของพี่ชาย เธอจึงมุ่งมั่นสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนสำเร็จ และเข้าเรียนในเอกประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ทั้งยังมีวิชาโทเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย

เอาเข้าจริงชีวิตมหาวิทยาลัยของนั้นเต็มไปด้วยประสบการณ์และผู้คนจากนอกมหาวิทยาลัย เธอไม่ได้ชอบวิชาการเท่าไหร่นัก เธอจึงออกไปทำกิจกรรมและในช่วงนั้นเองก็มีวิกฤติการเมืองไทยอย่างเหตุการณ์รัฐประหารและพฤษภาทมิฬ การเข้าไปทำงานใน อบจ. (องค์การบริหารสโมรนิสิตจุฬาฯ) ในขณะนั้นจึงทำให้เธอเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองเรื่อยมา 

Learn to be_กรุณา บัวคำศรี1
อ้างอิง: https://www.sanook.com/campus/1398715/

ตั้งแต่สมัยเรียนที่อักษรฯ เธอรู้ตัวเองว่า เธอมีความฝันที่อยากจะเป็นนักข่าวหรือนักสื่อสารมวลชน เพราะเธอเป็นคนไม่ชอบอยู่กับที่ ประกอบกับในช่วงที่เธอได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกก็ทำให้เธอได้รู้จักกับผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมือง และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เธอจึงอยากพัฒนาตัวเองไปให้มากกว่านี้ หลังจากเรียนจบป.ตรี เธอจึงได้เข้าทำงานเป็นนักข่าวที่บางกอกโพสต์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเธอให้แข็งแรงขึ้น

หลังจากนั้นไม่นาน เธอได้ทุนจากรัฐบาลอังกฤษไปเรียนต่อป.โท เธอได้เลือกเรียนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ University of Sussex สหราชอาณาจักร เพราะพี่ชายของเธอสนใจด้านนี้ ประกอบกับเธอรู้จักและได้แรงบันดาลใจจากคุณสืบ นาคะเสถียร จึงทำให้เธอตัดสินใจเรียนในด้านนี้และกลับมาทำข่าวสิ่งแวดล้อมที่บางกอกโพสต์

Learn to be_กรุณา บัวคำศรี2
อ้างอิง: https://www.sanook.com/women/51323/

ต่อมาเธอได้เข้าทำงานที่สำนักข่าวใหญ่ของออสเตรเลียอย่าง ABC และย้ายไปทำข่าวเศรษฐกิจที่ไอทีวี แต่ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงทำให้ชีวิตของเธอพลิกผันถูกให้ออกจากงานด้วยความไม่แฟร์ เธอกลายมาเป็นฟรีแลนซ์ทำข่าวให้กับ ABC และ Al Jazeera ซึ่งเป็นสำนักข่าวต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่นานเธอก็ได้กลับมาทำข่าวต่างประเทศที่ช่อง 11 จนมาสู่เป็นช่องไทยพีบีเอส หลังจากนั้นเธอก็ถูกโจมตีด้วยกระแสทางการเมืองอีกครั้ง จนนำมาสู่การเป็นผู้ประกาศข่าวที่ช่อง 3 ถึง 6 ปี กระทั่งเธอรู้สึกอิ่มตัว

 

เธออยากกลับไปลงลึกทำข่าวสารคดีครึ่งชั่วโมงอย่างที่เธอเคยทำที่สำนักข่าวต่างประเทศ และอยากออกไปภาคสนามมากกว่าที่ทำอยู่ ซึ่งช่องพีพีทีวีก็ตอบรับความต้องการของเธอทันที จนเกิดเป็นรายการ “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ที่ทุกคนรู้จักกันในวันนี้ ในฐานะที่เธอเป็น “สื่อ” ผู้เชื่อมประสบการณ์ระหว่างผู้คนผ่านการนำเสนอประเด็นที่ซุกซ่อนอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่างเรื่องอาหารที่ปรุงจากขยะในฟิลิปปินส์ หรือเรื่องโสเภณีในสิงคโปร์ และในปัจจุบัน หน้าจอโทรทัศน์ไม่ใช่พื้นที่ผูกขาดความฝันของเธอ เธอยังขยับขยายการตีแผ่เรื่องราวไปสู่โลกออนไลน์ผ่านช่อง “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอบนยูทูบและพอดแคสต์ในสปอติฟายอีกด้วย

Learn to be_กรุณา บัวคำศรี3
อ้างอิง: https://pantip.com/topic/39927253

ด้วยความตั้งใจที่อยากทำให้สื่อไทยทัดเทียมสื่อต่างประเทศทั้งในเรื่องเสรีภาพสื่อและการทำข่าวเพื่อขยายความคิดของผู้คน เธอจึงออกเดินทางไปเกือบทั่วทุกมุมโลกเพื่อหยิบยกเรื่องราวจากแดนไกลมาสรรค์สร้างเป็นสารคดีที่มีชีวิต เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติ และทำให้เรื่องเหล่านี้ดูใกล้ตัวผู้คนมากกว่าที่เขาคิด เพื่อพวกเขาจะได้สนใจและเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในฐานะผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ 

 

แม้ว่าแนวงานของเธอจะดูค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เสพสื่อเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่สื่อเช่นนี้ยังจำเป็นต่อผู้คนเสมอ งานของเธอคือผลลัพธ์จากการหลอมรวมประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เธอสะสมมาตลอดชีวิต ตลอดจนความรักที่อยากจะทำงานนี้ และเธอยังเชื่อเสมอว่า “เรื่อง-เปลี่ยน-โลก” ได้ ในโลกที่หมุนไปอย่างไม่หยุดยั้งนี้เอง เราไม่อาจเสพสื่อที่มีแต่เรื่องของเราได้อีกต่อไป ในวันที่เราเข้าใจความเป็นไปในโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ เมื่อนั้นเราก็จะเข้าใจความเป็นไปของตัวเราเองได้อย่างชัดเจนขึ้น

หากน้อง ๆ คนไหนมี กรุณา เป็นไอดอลในดวงใจ และอยากเป็น “ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” อย่าง กรุณา

TCASter ขอแนะนำ 3 กลุ่มคณะต่อไปนี้ ทั้งคณะที่ กรุณา เรียนจบมา รวมไปถึงคณะที่ตอบโจทย์กับอาชีพที่ กรุณา กำลังเป็นอยู่ด้วย มาพร้อมกับเช็กลิสต์คุณลักษณะว่า น้อง ๆ จะเหมาะกับคณะนั้น ๆ หรือไม่ ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปดูกันเลย

Learn to be_กรุณา บัวคำศรี5

คณะอักษรศาสตร์ / คณะมนุษยศาสตร์ / คณะศิลปศาสตร์

  • สนใจภาษา วรรณกรรม ปรัชญา หรือประวัติศาสตร์ 
  • ชอบตีความและเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ กับมนุษย์
  • ชอบถกเถียงและวิจารณ์อย่างมีเหตุผล

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน 

อักษรศาสตร์: จุฬาฯ ศิลปากร

ศิลปศาสตร์: มธ. มหิดล มอ แม่โจ้ ม.อุบล

มนุษยศาสตร์: เกษตร มช มศว ม.บู มข

คณะนิเทศศาสตร์ / คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน / คณะการสื่อสารมวลชน / วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม 

  • กล้าคิดและกล้าแสดงออก
  • ชอบการสื่อสารกับผู้คนและสังคม
  • ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

นิเทศศาสตร์: จุฬา ราชภัฏ ม.กรุงเทพ ม.รังสิต 

วารสารฯ : มธ. 

สื่อสารมวลชน: มช.

นวัตฯ : มศว 

 

  • คณะวิทยาศาสตร์ / คณะสิ่งแวดล้อม / คณะเกษตรศาสตร์ / คณะวนศาสตร์
  • สนใจในประเด็นปัญหาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี
  • ชอบเดินทางและกล้าลุยไปทุกที่

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

วิทยาศาสตร์: เกษตร จุฬา ศิลปากร มธ. มข.

สิ่งแวดล้อม: เกษตร มหิดล มหาสารคม

เกษตรศาสตร์: เกษตร

วนศาสตร์: เกษตร 

* ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำบางส่วนเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

หากน้อง ๆ มีใจรักและทำมันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าคณะไหน น้อง ๆ ก็สามารถเรียนได้ดีแน่นอน พี่ ๆ TCASter จะอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้น้องทุกคนเสมอ

อ้างอิงเนื้อหา

https://www.manoottangwai.com/read/view/read-interview-karuna-buakumsri/

https://www.thepeople.co/read/interview/4480

https://women.mthai.com/amazing-women/228549.html

https://www.sanook.com/campus/1398715/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

664 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

2,252 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

2,512 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

91,672 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

5,362 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

3,952 views