น้อง ๆ คนไหนยังงง ๆ อยู่บ้าง ไม่รู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เหมาะกับชีวิตแบบไหน? ถ้ายังไม่รู้ วันนี้พี่ TCASter มีวิธีค้นหาตัวตนถึง 8 วิธี มาฝากกัน ลองเอาไปเล่นกันได้เลย แล้วเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้นแน่นอน
1. IKIGAI แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจากญี่ปุ่น
คำว่า อิคิ (Iki) หมายถึง “ชีวิต” และคำว่า ไก (Kai) หมายถึง “คุณค่า” ทั้ง 2 คำจึงมีความหมายว่า “คุณค่าของการมีชีวิต” เป็นปรัชญาชีวิตที่มีมานานมาก ๆ ของชาวญี่ปุ่น ที่ช่วยให้เราหาคำตอบให้กับตัวเองได้ว่า ชีวิตในแต่ละวันของเรามีความหมายอย่างไร เป้าหมายของเราวันนี้คืออะไร และเราจะใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมและสมดุลได้ด้วยวิธีการไหนบ้าง เมื่อเราพบความหมายนั้น เราก็จะมีชีวิตอย่างมีความสุข และมีความหมาย
ซึ่งการทำ IKIGAI ก็ไม่ยาก โดยจะมีวงกลมหน้าตาแบบรูปข้างล่างมาให้
จากนั้นให้เราโฟกัสที่ 4 หัวข้อหลัก ๆ และลองเขียนลงไปว่าอะไรคือ สิ่งที่เรารัก (Love) สิ่งที่โลกต้องการ (Needs) สิ่งที่ทำแล้วได้เงิน (Money) และสิ่งที่เราทำได้ดี (Skills) จากนั้นช่องสิ่งที่ซ้ำกันจะเป็นตัวบอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญด้านต่าง ๆ ในชีวิตเรา เช่น สิ่งที่เราทั้งรักและถนัด คือ สิ่งที่เราหลงไหลและเต็มใจทำ (Passion) ส่วนสิ่งที่เรารักและเป็นสิ่งที่โลกต้องการด้วย ก็จะเป็น พันธกิจ (Mission) ของเรา และสิ่งที่โลกต้องการและทำเงินให้ราได้ด้วยจะเป็น งานที่เราทำเพื่อสังคมได้ (Vocation) และสุดท้ายสิ่งที่เราถนัดและทำเงินให้เราได้ จะเป็นอาชีพของเรา (Profession) ซึ่งถ้าเราสามารถหาสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างสิ่งพวกนี้ได้ สิ่งนั้นจะเป็นคุณค่าของชีวิตเรา (Ikigai)
2. 16 Personality Types
16 Personality Types หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “MBTI” คือ แบบทดสอบที่ช่วยทำให้เข้าใจลักษณะบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน โดยผลลัพธ์จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ จาก 8 ตัวอักษร คือ
E – ชอบเข้าสังคม
I – เก็บตัว
S – อยู่กับความเป็นจริง
N – มีวิสัยทัศน์
T – ใช้ความคิด
F – ใช้ความรู้สึก
J – มีระเบียบแบบแผน
P – ยืดหยุ่น
MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) คือ เครื่องมือทางบุคลิกภาพที่ช่วยบ่งชี้ลักษณะบุคลิกภาพ จุดแข็ง กระบวนการทางด้านจิตใจที่โดดเด่นของแต่ละคนเช่น การตัดสินใจ การรับรู้ข้อมูล ซึ่งความถนัดของกระบวนการทางด้านจิตใจนี้จะมีอยู่ทั้งหมด 4 ด้าน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปเป็นบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ โดยแสดงออกเป็นตัวอักษร 4 ตัว คือ ISTJ, ISTP, ISFJ, ISFP, INFJ, INFP, INTJ, INTP, ESTP, ESTJ, ESFP, ESFJ, ENFP, ENFJ, ENTP, ENTJ
ซึ่งทำให้เราสามารถเกิดพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ ได้ รู้จักวิธีการทำงานและการพักผ่อนที่เหมาะกับตัวเอง รู้จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง
ถ้าสนใจอยากรู้ MBTI ของตัวเอง ลองเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่นี่เลย คลิก
3. แบบทดสอบคณะที่ชอบ อาชีพที่ใช่ ตามแบบ MBTI โดย TCASter
ถ้าน้อง ๆ คนไหนรู้สึกว่าการทำ 16 Personality Types หรือ MBTI แบบปกติมันยังดูไกลตัว และอยากได้แบบทดสอบที่ทำให้เราได้รู้ว่าเราเหมาะกับคณะหรืออาชีพไหนมากกว่ากัน ก็มาลองทำแบบทดสอบ MBTI ที่พี่ ๆ TCASter เอามาปรับให้เหมาะกับน้อง ๆ วัยเรียนได้เลย โดยแบบทดสอบนี้จะอิงตาม MTBI ปกติเลย แต่ที่พิเศษคือ พี่ TCASter จะแปลงผลลัพธ์ที่ได้ให้เหมาะกับวัยเรียนมากขึ้น จะได้รู้ว่าบุคลิกภาพแบบไหน เหมาะกับคณะอะไรนั่นเอง
อยากลองทำแบบทดสอบ MBTI จากพี่ ๆ TCASter ที่นี่เลย คลิก
4. Holland Code (RIASEC)
แบบทดสอบบุคลิกภาพ การเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพผ่านความสนใจและสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคล แบ่งออกเป็น 6 แบบ
Holland Code (RIASEC) เป็นทฤษฏีเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ โดยจอห์น แอล. ฮอลแลนด์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยแบ่งอาชีพต่าง ๆ ตามความบุคลิกภาพและความสนใจออกเป็น 6 แบบ คือ
Realistic (รูปธรรม จับต้องได้)
Investigative (นักวิชาการ)
Artistic (ศิลปิน)
Social (นักสังคม)
Enterprising (กล้าได้กล้าเสีย)
Conventional (มีระเบียบแบบแผน)
สำหรับใครที่สนใจ ก็ลองเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่นี่เลย คลิก
5. Multiple Intellingences หรือ พหุปัญญา
คือการตามหาสิ่งที่เราถนัดทั้ง 8 ด้าน ว่าเราถนัดด้านไหน และเหมาะกับงานแบบไหน
“ ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) เกิดขึ้นโดย ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้
- ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence) คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ เช่น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
- ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ เช่น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
- ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence) คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะเป็นได้ทั้งอาชีพในสายวิทย์ และสายศิลป์ เช่น นักประดิษฐ์ วิศวกร หรือเป็นศิลปินในด้านต่างๆ
- ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence) คือ ความสามารถในการควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความสามารถในการใช้ประดิษฐ์ คล่องแคล่ว แข็งแรง รวดเร็ว ยืดหยุ่น ประณีต และไวทางประสาทสัมผัส เช่น นักกีฬา หรือศิลปิน พวกนักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
- ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง เช่น ดนตรี นักประพันธ์เพลง นักร้อง
- ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เช่น ครู ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต พนักงานขาย พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
- ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence) คือ ความสามารถในการรู้จักตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมได้ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้จุดอ่อน และจุดแข็งของตัวเอง เช่น นักปรัชญา นักวิจัย
- ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ เช่น นักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักสำรวจ
6. บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ
เป็นรูปแบบหนึ่งในการจัดกลุ่มของบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมจากนักจิตวิทยาว่าสามารถช่วยอธิบายถึงโครงสร้างของบุคลิกภาพของบุคคลในระดับสากลได้
แบ่งเป็น 5 มิติใหญ่ๆ ดังนี้
- Neuroticism – ความไม่มั่นคงทางอารมณ์
เป็นคนที่ปรับตัวทางอารมณ์ยาก เครียดง่าย วิตกกังวล ไม่มั่นคง ประหม่า ขี้กลัว ซึมเศร้า โกรธง่าย
บุคลิกประเภทนี้มักจะขาดเหตุผล ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เสี่ยงต่อการเกิดปัญกหาทางจิตบางอย่างได้ แต่หากมีบุคลิกภาพทางด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนสงบ ไม่ค่อยมีอารมณ์ทางลบ - Extraversion – การเปิดตัว
ลักษณะของคนชอบเข้าสังคม ชอบคุยกับคนอื่น เปิดเผย มีแนวโน้มเป็นคนร่าเริง กล้าแสดงความเห็นของตัวเอง มองโลกในแง่ดี ในด้านตรงข้าม คนที่มีบุคลิกทางด้านนี้ต่ำจะค่อนข้างเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว ทำใหดูไม่ค่อยเป็นมิตร - Openness to Experience – การเปิดรับประสบการณ์
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง จะเป็นคนที่ค่อนข้างมีจินตนาการ ไวต่อความรู้สึก รับรู้ความงามของศิลปะ ไวต่อความงาม ชอบใช้สติปัญญา รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดี
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ มักมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ชอบคิดตามกรอบประเพณีดั้งเดิม ชอบสิ่งที่เรียบ ๆ ไม่ซับซ้อน - Agreeableness – ความเป็นมิตร
คนที่ยอมตามคนอื่น ชอบที่ร่วมมือ เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นก่อนเสมอ มีความซื่อสัตย์ จิตใจดี มีความเป็นกันเอง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบความปรองดอง
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ มักสนใจในผลประโยชร์ของตัวเองเป็นหลัก และไม่ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น - Conscientiousness – การมีจิตสำนึก
คนที่มีวินัยในตนเอง รู้จักหน้าที่ มีจุดมุ่งหมาย มักชอบวางแผนล่วงหน้า เป็นคนฉลาด เชื่อถือได้ แต่ก็อาจจะกลายเป็นคนทำงานหนักเกินไปเพราะต้องการความสมบูรณ์แบบ จริงจังกับทุกเรื่อง
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความทะเยอทะยาน ไม่ทำตามแบบแผน ข้อดีคือจะไม่เครียดเครียดกับสิ่งต่างๆ มากเกินไป
7. Enneagram หรือลักษณะบุคลิกภาพแบบนพลักษณ์
รูปแบบของบุคลิกภาพ 9 แบบ นำมาใช้ในด้านการจัดการทางธุรกิจและการพัฒนาทางด้านจิตใจ
นพลักษณ์หรือเอ็นเนียแกรม (Enneagram) คือ ศาสตร์เกี่ยวกับการเข้าใจผู้คนและบุคลิกภาพ โดยจะแบ่งคนออกเป็น 9 แบบ โดยที่แต่ละประเภทนั้นจะมีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต พฤติกรรม และมุมมองที่มีต่อโลกแตกต่างกันออกไป นพลักษณ์จะช่วยทำให้ผู้คนได้รู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร การพัฒนาภาวะผู้นำ และการสร้างทีมเวิร์ค
ลักษณ์ทั้ง 9 มีดังนี้
- ลักษณ์ 1 ผู้แสวงหาความสมบูรณ์แบบ มีกฎระเบียบอยู่เสมอ จะวิจารณ์สิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา
- ลักษณ์ 2 ผู้ให้ ชอบช่วยเหลือคนอื่น ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ เห็นแแก่ผู้อื่นมากกว่าตัวเอง
- ลักษณ์ 3 นักแสดง ต้องการประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายและต้องไปให้ถึง ชอบการแข่งขัน ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์
- ลักษณ์ 4 ผู้โศกซึ้ง คนที่มีอารมณ์หลากหลายโดยเฉพาะอารมณ์เศร้า ไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
- ลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์ ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง มักมีระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนอื่น รู้สึกหมดพลังได้ง่ายเมื่ออยู่กับคนอื่น
- ลักษณ์ 6 นักปุจฉา คนที่มีคำถามกับสิ่งรอบตัว และอาจเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย เตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับมือหรือปะทะกับสิ่งที่อาจมาคุกคามได้ตลอดเวลา
- ลักษณ์ 7 ผู้เสพสุข มองโลกในแง่ดี ร่าเริง สนุกสนาน ชอบอะไรใหม่ๆ ชอบสิ่งที่ไม่เหมือนใคร
- ลักษณ์ 8 เจ้านาย ให้ความสำคัญกับการควบคุมและอำนาจ โกรธง่ายหายเร็ว ปกป้องผู้อ่อนแอ มีความยุติธรรม แต่บางครั้งก็เกินตัว
- ลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี ชอบความสงบ สามัคคี ชอบช่วยเหลือคนอื่น ไม่ชอบความขัดแย้ง เข้าใจผู้คนในมุมมองต่างๆ ชอบทำตามคนอื่นและหลงลืมความต้องการของตัวเอง
ทำแบบทดสอบเพื่อหานพลักษณ์ของตัวเองได้ที่นี่เลย คลิก
8. DISC
แบบทดสอบที่ทำให้เห็นพฤติกรรม ลักษณะของเราและเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น แบ่งบุคลิกภาพ 4 ประเภท
ลักษณะต่าง ๆ ของ DISC
- D – ผู้นำ (Dominance)
ลักษณะเด่น : มุ่งมั่น ชัดเจน ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม มีความมั่นใจเ ตัดสินใจได้รวดเร็วและเด็ดขาด มีความเป็นผู้นำทีมได้ - I – ผู้มีอิทธิพล (Influence)
ลักษณะเด่น : มีภาพลักษณ์ที่ดี ใคร ๆ สร้างประทับใจตั้งแต่แรกเห็น คอยส่งพลังบวก ๆ ให้คนรอบข้าง มองโลกในแง่ดีและมีความคิดสร้างสรรค์ และมีมนุษยสัมพันธ์ดี โน้มน้าวเก่ง - S – ผู้รักความสงบ (Steadiness)
ลักษณะเด่น : ใจเย็น สุขุม รอบคอบ คอยประนีประนอมกับคนรอบข้าง เก็บรายละเอียดเก่ง ชอบช่วยเหลือทุกคน ชอบทำตามกฎระเบียบ เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งกับใคร มักจะเป็นคนกลางมากกว่า - C – นักวิเคราะห์ (Conscientiousness)
ลักษณะเด่น : เป็นนักวางแผน คิดล่วงหน้า ชอบทำอะไรเป็นระบบ มีขั้นตอน รอบคอบ ช่างสังเกต
ลองทำแบบทดสอบ DISC ที่นี่เลย คลิก
เป็นยังไงกันบ้างกับการค้นหาตัวตนทั้ง 8 แบบ น้อง ๆ คนไหนยังงง ๆ กับตัวเอง ก็ค่อย ๆ ลองทำ เพื่อหาตัวตนของเราให้เจอได้เลย พี่ ๆ TCASter เชื่อว่าน้อง ๆ จะต้องรู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น และหาคณะกับอาชีพที่ถูกใจเจอแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง