ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566
Geaw TCASter
ต้องบอกก่อนเลยว่าเด็กยุคใหม่มีทั้งความสามารถ และมีผลงานกันเยอะมาก ทำให้หลายคนที่กำลังทำพอร์ตสำหรับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย สับสนว่าจะเรียงลำดับผลงานยังไงดี หรือจะเอาผลงานไหนใส่เข้าไปดี เพราะเราก็อยากจะเสนอผลงานที่เราทำให้ครบทุกอัน เพื่อที่กรรมการจะได้เห็นถึงศักยภาพของเราให้มากที่สุด แต่สุดท้ายบางคนใส่เยอะเกินไป ตรวจเช็กข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะทำให้กรรมการเห็นว่าเราใส่ใจในการทำพอร์ตไม่มากพอได้ ดังนั้นวันนี้พี่จะพาน้อง ๆ ที่ทำพอร์ตเสร็จเรียบร้อยแล้วมาตรวจเช็กความเรียบร้อยไปพร้อม ๆ กันว่าเรามีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้าง ถ้าพร้อมแล้วหยิบพอร์ตของน้อง ๆ ขึ้นมาแล้วไปเช็กกันเลย
วันนี้พี่รวบรวม 5 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในรอบพอร์ตมาให้น้อง ๆ ได้เช็กให้ชัวร์ก่อนที่จะยื่น จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย
- ผลงานไม่สอดคล้องกับคณะ
ถ้าผลงานที่เราใส่ไป มีเยอะแต่ไม่ตรงกับคณะที่เราจะยื่น มันจะกลายเป็นพอร์ตที่มีแต่น้ำไม่น่าสนใจ ไม่สื่อให้กรรมการเห็นชัดเจนว่าเราอยากจะเข้าคณะไหนกันแน่ ดังนั้นคัดแต่ผลงานเด่น ๆ และตรงกับคณะใส่ลงไปเท่านั้น ใครที่ยังใส่ผลงานไปเยอะ ๆ แล้วไม่ตรงกับคณะที่จะยื่นเลย รีบคัดออกด่วน
- เรียงเนื้อหาไม่เป็นระเบียบ
บางผลงานที่ต้องใช้คำอธิบาย หรือมีรายละเอียดเยอะ เราจะต้องระวังในการจัดวางเป็นพิเศษ โดยการจัดวางของน้อง ๆ จะต้องมีย่อหน้าหรือลำดับกับการไว้เลยว่าเราจะให้กรรมการเริ่มอ่านจากส่วนไหน และในส่วนที่เป็นหัวข้อก็ควรทำให้มันเด่นกว่าส่วนของเนื้อหาเช่น การทำตัวหนา หรือทำให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ลดเวลาและความสับสนในช่วงที่กรรมการตรวจพอร์ตของเรา
- ดีไซน์เยอะเกินไป จนดูยาก
ในส่วนของสีพี่แนะนำว่าพอร์ตของน้อง ๆ ควรจะใช้เฉพาะ 3 สี โดยแบ่งเป็นสีหลัก สีรอง และสีเน้น เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมสีในพอร์ตของเรา ต่อมาจะเป็นในเรื่องของฟอนต์ ฟอนต์ในพอร์ตของเราควรจะมี 1 – 2 ฟอนต์เท่านั้นถ้าน้อง ๆ ใช้ฟอนต์หลายอันเกินไปนอกจากจะทำให้ดูยากแล้ว ยังดูไม่เป็นระเบียบอีกด้วย
- ขาดรายละเอียดตามที่คณะต้องการ
หัวข้อนี้สำคัญมาก เพราะว่ากรรมการจะมองว่าถ้าแค่รายละเอียดที่คณะขอเรายังใส่มาให้ไม่ครบ มันก็เท่ากับว่าเราไม่มีความใส่ใจในการทำพอร์ตเลย และข้อผิดพลาดนี้ก็เป็นข้อที่ทำให้หลาย ๆ คนโดนคัดออกมาแล้ว ดังนั้นเช็กให้ดี ๆ ว่าคณะที่เราจะยื่นขอข้อมูลอะไรบ้างหรือมีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมไหม เพื่อแสดงถึงความใส่ใจในการทำพอร์ตของเรา
- ใช้พอร์ตเล่มเดียวยื่นทุกที่
จำไว้ว่าทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัยมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน การที่เราจะนำพอร์ตของเราไปยื่นในคณะอื่น ๆ เราก็ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบพอร์ตของเราให้ตรงกับเอกลักษณ์ของที่นั้น ๆ เช่นการเปลี่ยนสีให้ตรงกับสีประจำคณะ หรือสีประจำมหาวิทยาลัยที่เราจะยื่น เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บ่งบอกถึงความใส่ใจของเราได้อย่างดี
.
และสุดท้ายน้อง ๆ อย่าลืมตรวจทานคำผิดให้ดี ๆ ระวังการเขียนที่ไม่ถูกต้อง หรือการใส่ข้อมูลที่ผิด เพราะว่าถ้าน้อง ๆ สามารถทำพอร์ตออกมาให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยได้ เราจะสามารถสร้างความประทับใจให้กับกรรมการได้ตั้งแต่รอบคัดเลือกพอร์ต และเป็นส่วนช่วยที่จะทำให้กรรมการเรียกน้อง ๆ ให้เข้าไปสู่รอบสอบสัมภาษณ์อีกด้วย
.
แต่จริง ๆ การที่เราไม่เก่งคณิตศาสตร์ มันไม่ได้หมายความว่าเราด้อยกว่าคนที่เก่งคณิตศาสตร์ เราทุกคนมีสิ่งที่ถนัดแตกต่างกันออกไป ทุกคนมีทั้งสิ่งที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดีปะปนกันอยู่เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นพี่ก็อยากให้น้อง ๆ ทุกคนได้ไปอยู่ในคณะที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงดึงศักยภาพของน้อง ๆ ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียนในคณะที่เราเลือก
.
สำหรับใครที่สนใจข้อมูลดี ๆ แบบนี้อีกก็อย่าลืมติดตามผ่านเว็บไซต์ TCASter รวมถึงใครที่ต้องการทราบข้อมูลหรือคอนเทนต์น่าสนใจเกี่ยวกับการเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถติดตามผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ของ TCASter ได้เลย
Facebook, Youtube, Instagram, Twitter, Tiktok