“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
ที่ก่อตั้งหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบันฑิตสองสถาบัน ที่เป็นนานาชาติ”
…
“โครงการ TEP-TEPE ที่เป็นหลักสูตรนานาชาติของ TSE
โดยเฉพาะหลักสูตร TEP (Twinning Engineering Programmes)
จะเรียน 2 ปีที่ไทย และไปเรียนต่อที่ต่างประเทศใน 2 ปีสุดท้าย
มีให้เลือก 3 ประเทศ คือ อังกฤษ ออสเตรเลีย และเบลเยียม
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ TOP 100 ของโลก”
…
-พี่ชิตะ รุ่นพี่โครงการ TEP-TEPE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-
เรียนวิศวะฯ ยังไงให้ได้ประสบการณ์มากกว่าที่อื่น?! จะมีมหาวิทยาลัยไหนตอบโจทย์ความฝันเราได้บ้างนะ…เชื่อว่าตอนนี้การไปต่างประเทศน่าจะเป็นความต้องการของใครหลาย ๆ คน วันนี้ทาง TCASter เลยชวนรุ่นพี่ดีกรีอนาคตวิศวะฯ ที่เขาไปต่างประเทศบ่อยมากกก มาช่วยแชร์ประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ทั้งเรื่องการเรียน และการใช้ชีวิตปรับตัวในต่างประเทศ น้อง ๆ คนไหนที่กำลังมองหาช่องทางในการทำตามความฝันต้องห้ามพลาดบทความนี้เด็ดขาด ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลย!!
- ลองแนะนำตัวก่อนได้เลย ชื่ออะไร จบมาจากโรงเรียนอะไร สายการเรียนอะไร แล้วตอนนี้เรียนที่ไหนอยู่
สวัสดีครับก่อนอื่นต้องขอบคุณ TSE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้ผมได้มีโอกาศแชร์ประสบการณ์ที่อาจจะเป็นประโยชน์แก่น้อง ๆ ที่จะเตรียมตัวสอบ TCAS65 ในปีนี้
ผมชื่อ ชิตะ เอี่ยมพิกุล จบการศึกษาจาก MONTFORT College , Science-Math English Programme ปัจจุบันเป็นนักศึกษาใหม่ปี 1 โครงการ TEP-TEPE หลักสูตร TEP (Twinning Engineering Programmes) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2564 ครับ
- ตอนนั้นเรารู้ตัวว่าอยากเข้าคณะนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราเลือกมาเรียนที่นี่
เริ่มแรกผมเริ่มสนใจวิศวะตั้งแต่ ม.ต้น เพราะผมไม่ค่อยถนัดวิชาท่องจำครับ และเริ่มตัดสินใจว่าจะเข้าคณะนี้ตั้งแต่ ม.4 จากนั้นก็หาข้อมูลแต่ละมหาลัย และทราบข้อมูลของ TSE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบันฑิตสองสถาบัน ที่เป็นนานาชาติครับ อีกทั้งได้มีโอกาสมางาน open house ของคณะฯ มีความประทับใจรุ่นพี่รู้สึกว่าเป็นกันเอง ตึกทันสมัย ที่เล่นกีฬามากมาย สภาพแวดล้อมทั่วไปคือดีครับ
รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย และที่ผมแปลกใจอีกสิ่งหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งของรัฐที่มีนโยบายเก็บค่าเทอมของ นักศึกษาปี 1 ก่อนเปิดเรียนแค่ไม่กี่วัน ทั้งที่ประกาศชื่อรอบ PORTFOLIO TCAS1 ตั้งแต่กุมภาพันธ์แล้ว ซึ่งผมมองว่าตรงนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้เร่งเก็บค่าเทอม หรือพยายามผูกมัดนักศึกษาจนเกินไป และเข้าใจในสถานะการณเศรษฐกิจเป็นอย่างดี มีความเห็นใจนักศึกษาและผู้ปกครอง
- อะไรเป็นจุดเด่นที่ทำให้เราเลือกเรียนวิศวะ ที่ TSE คิดว่าอะไรที่ TSE มัดใจเราได้
ผมสนใจในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว TSE มีหลักสูตรทั้งภาคปกติ และนานาชาติ ผมสนใจในโครงการ TEP-TEPE ที่เป็นหลักสูตรนานาชาติของ TSE โดยเฉพาะหลักสูตร TEP (Twinning Engineering Programmes) จะเรียน 2 ปีที่ไทย และไปเรียนต่อที่ต่างประเทศใน 2 ปีสุดท้าย มีให้เลือก 3 ประเทศ คือ อังกฤษ ออสเตรเลีย และเบลเยียม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ TOP 100 ของโลก จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผมสนใจครับ
- ย้อนกลับไปตอนเตรียมตัวสอบตอนนั้นเรามีการเตรียมตัวยังไงบ้างสำหรับการสอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัย
ตอนนั้นยังไม่มีเรื่อง Covid-19 ผมเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสมัครสอบการสอบวัดระดับมาตราฐานสากล SAT, IELTS ตั้งแต่ ม.5 เพราะคะแนนมีอายุ 2 ปี และลงสอบบ่อย ๆ ถ้าคะแนนไม่ถึงก็ยังพอมีเวลาสอบตอน ม.6 ครับ นอกจากนี้การทำเกรดในห้องก็สำคัญ และผมก็เรียนพิเศษด้วยครับ เพื่อเพิ่มเทคนิคการทำคะแนน
- มีเทคนิคพอจะแชร์ให้น้อง ๆ ได้มั้ย
สำหรับเทคนิคที่อยากจะแชร์คือ การเตรียมตัวครับ ยิ่งเตรียมตัวเร็วเท่าไห่รก็จะทำให้โอกาสสอบได้คะแนนตามเป้ามีมากขึ้น จะส่งผลไปถึงโอกาสได้เข้ามหาลัยที่เราต้องการมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ทำการบ้านของโรงเรียน การทำข้อสอบเยอะ ๆ และแก้ข้อผิดประจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญ หมั่นทบทวนเนี้อหาในห้องเรียนซึ่งเป็นฐานของ SAT, IELTS จะช่วยได้มาก วิชาที่ผมจะเน้นเป็นพิเศษตอนเรียนม.ปลาย คือ Mathematics Physics English Chemistry
- ทำกิจกรรมอะไรระหว่างเรียนม.ปลายมาบ้าง และรับมือกับกิจกรรม การบ้าน หรืองานกลุ่มของโรงเรียนช่วงม.6 ยังไงให้ไม่กระทบกับการสอบเข้ามหาลัย
กิจกรรมที่ผมทำในระหว่างเรียน ม.ปลาย และไม่ให้กระทบกับการเรียน หลัก ๆ เราต้องแบ่งเวลาให้เป็นครับ ในส่วนของกิจกรรมนอกโรงเรียนผมจะทำผสมกันไปรวมเป็น 2 อย่างเช่น
– กีฬารวมกับภาษาอังกฤษ ผมชอบเล่นบาสเก็ตบอล และมีเพื่อนเป็นนานาชาติหลายคน เราใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันครับทำให้ได้ฝึกภาษา ร่างกายแข็งแรงครับ
– จิตอาสารวมกับภาษาอังกฤษ ผมได้สมัครไปเป็นผู้ช่วยตำรวจท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หาข้อมูลเพิ่มเติมที่สนามบินเชียงใหม่ รวมทั้งได้เป็นอาสาสมัครแนะนำนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันสงกรานต์ ที่วัดพระสิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ด้วยครับ
ส่วนงานกลุ่มหรือ Project ของโรงเรียน เช่น Physics ผมจะหาหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับวิศวะ น่าสนใจ และสามารถนำมายื่นรวมใน portfolio ได้ เช่น ตอนนั้นผมทำเรื่อง Fidget spinner pushed by an electromagnetic coil นอกจากจะได้ความรู้เพิ่มเติมแล้ว เราสามารถเอามาใส่ใน portfolio เป็นผลงานของเราได้ครับ
- ทราบมาว่าน้องมีประสบการณ์เดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก เล่าให้ฟังหน่อยว่าชอบประเทศไหนที่สุด เพราะอะไร (เพิ่มแรงบันดาลใจที่เลือก TEP-NU ค่ะ) ตอนนั้นอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เราลองไปต่างประเทศ
ผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่เด็ก ๆ ครับ ไปหลายประเทศเลย ส่วนประเทศที่ผมชอบตอนเด็ก ๆ คือ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งไปบ่อยที่สุด ผมชอบไปดูของเล่นที่มีเยอะมาก ราคาถูกกว่าเมืองไทย บ้านเมืองสะอาด คนมีระเบียบวินัย อาหารอร่อย มีรถไฟฟ้าทันสมัย ไม่ไกลจากเมืองไทย พอตอนมัธยมผมได้มีโอกาสไปอังกฤษ ได้ไปดูมหาวิทยาลัยที่นั่น ได้เห็นเมืองมหาวิทยาลัย เช่น OXFORD บรรยากาศดีมาก เกือบทั้งเมืองมีหลาย college อยู่ด้วยกัน มีนักศึกษาต่างชาติมากมาย ผมจึงชอบและมาลงตัวที่เลือกเรียนหลักสูตร TEP (Twinning Engineering Programmes) โดยเลือกไปศึกษาต่อ 2 ปีหลังที่ University of Notthingham ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของอังกฤษ ครับ
- แล้วคิดว่าการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศกับที่ไทยต่างกันมากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไรอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้น้อง ๆ ที่อยากไปต่างประเทศฟังบ้าง
การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศกับไทยต่างกันหลายเรื่อง เช่น วัฒนธรรม อาหาร การเดินทาง อย่างการเดินทางเขาจะใช้รถไฟฟ้าเป็น main public transportation ส่วนการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ญี่ปุ่นจะมีวินัยมาก อย่างการทิ้งขยะเราแทบจะหาถังขยะไม่เจอเลยตามที่สาธารณะ ต้องไปเก็บไปทิ้งที่พัก และแยกประเภทขยะจะมีบอกชัดเจนเลย ดังนั้นก่อนไปประเทศไหนควรจะศึกษาเรื่องชีวิตประจำวันเขาให้ดีครับ
- สำหรับเหตุการณ์ช่วงนี้ เรามีวิธีรับมือกับเตรียมเรียนออนไลน์ การอ่านหนังสือ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางออนไลน์ยังไงบ้าง อยากให้แชร์วิธีให้กับน้อง ๆ ฟังสักหน่อย
เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทุกคนต้องเรียน online และเราต้องปรับตัวให้ทันตามสถานการณ์ ถ้าเวลาเราไม่เข้าใจในบทเรียน เราสามารถหาตัวช่วยใน Youtube ในหัวข้อที่สนใจซึ่งมีทั้งไทย และภาษาอังกฤษ หรือหาซื้อหนังสือมาอ่านตามร้านหนังสือ หรือถามอาจารย์ และรุ่นพี่ได้ ส่วนกิจกรรม outdoor activity จะไม่มี เราสามารถใช้ application zoom คุยกันครับ
- สุดท้ายแล้ว มีอะไรอยากฝากน้อง ๆ ที่กำลังสนใจอยากเข้าคณะนี้ไหม
สุดท้ายอยากบอกว่าถ้าใครสนใจอยากเข้าเรียนที่นี่ ให้เน้นการสอบวัดระดับมาตราฐานสากล เช่น SAT, IELTS เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญส่วนหนึ่งในการยื่นเข้า TSE รอบ portfolio พยายามฝึก และทำคะแนนสองอย่างนี้ เพราะคะแนนสอบแต่ละรอบมีขี้นมีลงและอีกทั้งคะแนนสามารถเก็บไว้ใช้ได้ 2 ปี ส่วนทักษะ Speaking ควรจะฝึกเป็นระยะเพราะจะต้องใช้ตอน interview เมื่อมีชื่อผ่านเกณฑ์ในขั้นตอนแรกของการยื่น portfolio ครับ
น้อง ๆ ที่สนใจสามารถติดตามข่าวการรับสมัครได้ที่ http://www.tep.engr.tu.ac.th/ หรือ https://www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
เป็นยังไงกันบ้าง สำหรับการแชร์ประสบการณ์ของพี่ชิตะในครั้งนี้ เชื่อว่าน้อง ๆ หลาย ๆ คนน่าจะได้จดเทคนิค หรือเก็บข้อมูลสำหรับการเตรียมตัว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่คณะในฝันแน่นอน เชื่อว่าด้วยสถานการณ์ตอนนี้อาจทำให้น้อง ๆ หลาย ๆ คนอาจจะเริ่มท้อ หรือหมดกำลังใจกับการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยมาก ๆ พี่ ๆ TCASter เลยอยากเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับน้อง ๆ ทุกคน แน่นอนว่าทั้งน้อง ๆ มัธยม และน้อง ๆ ที่เป็นเด็กซิ่วด้วย อยากให้ทุกคนเข้มแข็ง และดูแลตัวเองไปพร้อม ๆ กัน อย่าลืมความฝันของตัวเอง อย่าเพิ่งท้อนะ เชื่อว่ามันอาจจะหนักหน่วงมาก ๆ แต่อยากให้ผ่านแล้วได้เข้าคณะในฝันไปพร้อม ๆ กันแบบพี่ชิตะ ฮึ้บไว้นะ!! และสำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากได้โจทย์เก่าไว้ใช้ทำข้อสอบแบบพี่ชิตะ สามารถดูได้จากที่นี่เลย คลังข้อสอบ แล้วมาฝึกทำข้อสอบไปพร้อม ๆ กันนะ