“TCAS คือ ระบบที่จะคัดเลือกน้องๆ เพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย”
“รูปแบบของ TCAS แต่ละปี อาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกำหนดของทปอ.”
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “ระบบ TCAS” ต้องห้ามพลาดบทความนี้ เพราะวันนี้เราจะมาช่วยสรุปประเด็นสำคัญ ตั้งแต่ TCAS คืออะไร รวมไปถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่น้อง ๆ ควรรู้! ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย
TCAS คืออะไร?
คือ ระบบการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยการศึกษาไทยเริ่มใช้ระบบ TCAS ตั้งแต่ปี 2561 ระบบ TCAS ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. นั่นเอง
จุดประสงค์ของทปอ. ที่สร้างระบบนี้มาเพื่อช่วยลดที่นั่งว่างเนื่องจากการสละสิทธิ์ของคนที่ติดแล้ว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสมัคร รวมถึงการจัดระเบียบการรับสมัครของแต่ละสถาบัน
TCAS มีการสอบอะไรเกี่ยวข้องบ้าง?
- การสอบ GAT/PAT จัดสอบโดย สทศ.
- การสอบ วิชาสามัญ จัดสอบโดย สทศ.
- การสอบ O-NET จัดสอบโดย สทศ.
- การสอบ วิชาเฉพาะแพทย์ จัดสอบโดย กสพท.
- การสอบ วิชาเฉพาะอื่นๆ ที่จัดสอบโดย คณะ/สถาบันนั้นๆ
อยากเข้าคณะ … ต้องสอบอะไรบ้าง? : คลิก
TCAS 64 ปีล่าสุด มีกี่รูปแบบ?
รอบที่ 1 รูปแบบ แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เปิดรับถึง 27 ก.พ. 64
เป็นการรับสมัคร และคัดเลือกตามข้อกำหนดที่มหาวิทยาลัยกำหนด ขึ้นอยู่กับระเบียบการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย เน้นการดูผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะเป็นหลัก บางคณะอาจมีการสอบวัดระดับความสามารถเพิ่มเติมจากการยื่นพอร์ตด้วย
รอบที่ 2 รูปแบบโควตา (Quota) เปิดรับถึง 15 พ.ค. 64
เป็นเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกพิเศษให้กับโรงเรียน หรือในพื้นที่นั้น ๆ โดยอาจขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ / ความสามารถ / หรือข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น โครงการเรียนดี หรือโครงการเด็กพื้นที่ นั่นเอง
รอบที่ 3 แอดมิชชั่น (Admission) เปิดรับช่วง 7 พ.ค. – 10 มิ.ย. 64
เป็นรอบที่เปิดรับสมัครพร้อมกัน แต่มีเกณฑ์การคัดเลือกที่ต่างกัน โดยสามารถเลือกสูงสุดได้ถึง 10 อันดับ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
- รูปแบบ Admission 1 เน้นคะแนนสอบ และมหาวิทยาลัยจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกเอง โดยใช้คะแนน GAT/PAT ONET วิชาสามัญ หรือวิชาเฉพาะต่าง ๆ น้อง ๆ คนไหนที่ไม่มั่นใจในเกรดของโรงเรียน การเลือกรูปแบบนี้อาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์
- รูปแบบ Admission 2 เน้นเกรดจากโรงเรียน ใช้เกณฑ์กลางในการคัดเลือก โดยแต่ละเกณฑ์จะขึ้นอยู่กับคณะ ในส่วนนี้น้อง ๆ สามารถโหลดแอป TCASter เพื่อดูเกณฑ์ในคณะที่สนใจได้เลย คลิก
รอบที่ 4 รับตรงอิสระ (Direct Admission) เปิดรับช่วง 3 – 15 มิ.ย. 64
ในรอบนี้จะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยไหนเปิดรับบ้าง รวมถึงเกณฑ์การคัดเลือก และจำนวนที่จะเปิดรับด้วย
การไม่ใช้สิทธิ์ และการสละสิทธิ์ ในระบบ TCAS คืออะไร?
- การไม่ใช้สิทธิ์ กรณีผู้ผ่านการคัดเลือก แต่ไม่ได้ทำการยืนยันสิทธิ์เพื่อเข้าศึกษา
- การสละสิทธิ์ กรณีผู้ผ่านการคัดเลือกกดยืนยันสิทธิ์เพื่อเข้าศึกษาในระบบ TCAS เรียบร้อย แต่เกิดเปลี่ยนใจ จึงต้องกดเพื่อยืนยันการสละสิทธิ์
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการสละสิทธิ์
- การสละสิทธิ์สามารถทำได้เพียงครั้งเดียวเท่าน้ัน จากการคัดเลือกทุกรอบของ TCAS
- การสละสิทธิ์จะทำได้ก็ต่อเมื่อเคยยืนยันสิทธิ์ 1 คณะ / สาขา / สถาบัน ไปก่อนหน้านี้แล้ว
- การสละสิทธิ์จะทำได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น
- สามารถสละสิทธิ์ได้จากทาง www.mytcas.com
การเปลี่ยนแปลงข้อสอบที่เกิดขึ้นในปี 64
- GAT/PAT
– PAT2 ลดจาก 100 ข้อ เหลือ 60 ข้อ
– ปรับเนื้อหาที่ออกสอบวิชา PAT1, 2
– มีเวลาในการทำข้อสอบ วิชาละ 3 ชม.
– เนื้อหาที่ออกสอบ / รูปแบบ และจำนวนข้อสอบ
ดูรายละเอียดข้อสอบ - วิชาสามัญ
– ปรับเนื้อหาวิชาคณิต1 ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
– วิชาฟิสิกส์ ปรับเพิ่ม 5 ข้อ
– วิชาเคมี ปรับลด 5 ข้อ
– วิชาชีวะ ปรับลด 30 ข้อ
– เพิ่มรูปแบบให้ระบายคำตอบที่เป็นค่าตัวเลขในวิชาคณิต1 ฟิสิกส์และวิชาเคมี
– มีเวลาในการทำข้อสอบวิชาละ 1 ชม. 30 นาที
เนื้อหาที่ออกสอบ
รูปแบบและจำนวนข้อสอบ
และทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่น้อง ๆ ควรรู้เกี่ยวกับระบบ TCAS ถ้าน้อง ๆ คนไหนต้องการที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้ระบบนี้ ข้อมูลเหล่านี้ที่พี่ได้รวบรวมมาเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น โดยในแต่ละมหาวิทยาลัย หรือแต่ละรอบการรับก็จะมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ต่างกัน น้อง ๆ สามารถดูได้จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยโดยตรงได้เลย หรืออีกหนึ่งวิธีคือสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่ต้องการ พร้อมลองคำนวณคะแนนแบบง่าย ๆ ได้ที่แอป TCASter โหลดเลย!