Follow us on

Mechanical Engineering TEP-TEPE #19 รีวิวการเรียนจากรุ่นพี่แบบเจาะลึก! “ตั้งแต่ป.ตรี จนถึง ป.เอก”

วันที่โพสต์

วันนี้น้อง ๆ สายวิศวะฯ ห้ามพลาดเด็ดขาด!! เพราะว่าการรีวิวในครั้งนี้ นอกจากปริญญาตรีแล้วเรายังมีช่วงของปริญญาโทแถมมาให้น้อง ๆ ด้วย เผื่อน้อง ๆ คนไหนที่กำลังสนใจวางแผนระยะยาวในสายวิศวะฯ ก็สามารถอ่านประสบการณ์จากรุ่นพี่คนนี้ได้เลย!!

โดยอย่างที่บอกไปเลย วันนี้เราจะมาแบ่งการรีวิวเป็น 2 ช่วง คือช่วงของปริญญาตรี และปริญญาโท ดังนั้นเรามาเริ่มที่ปริญญาตรีก่อนเลย

  1. อยากให้ลองลองแนะนำตัวกับน้อง ๆ ก่อนได้เลย

ชื่อบูมนะครับ สุกฤษฏิ์ ประสานเกลียว เป็นศิษย์เก่า ป.ตรี ของโครงการ TEP-TEPE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ (TSE)  รุ่นที่ 19 เป็นนักศึกษาทุน TEPE ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ( Mechanical Engineering)  ในส่วน  ป. โท และ ป.เอก นั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อที่ KU Leuven ประเทศเบลเยี่ยมครับ ตอนนี้พึ่งจบโทที่ KU Leuven สาขา Electromechanical Engineering Technology  กำลังจะต่อ ป. เอกที่มหาวิทยาลัยเดิม เรียนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทางการแพทย์โดยมีหัวข้อวิจัย คือ Flexible Robotic for Minimally Invasive Vocal Fold Surgery

Mechanical Engineering TEP-TEPE #19

.

  1. ทำไมตอนนั้นพี่บูมถึงรู้ตัวว่าอยากเข้าคณะนี้

คือ ตอน ม. ปลายพี่ชอบคณิตกับฟิสิกส์มาก ชอบอะไรที่เป็นสไตล์คำนวณ พอทำแล้วก็รู้สึกดี บวกกับชอบอะไรที่เป็นพวกหุ่นยนต์ และ Mechanic ด้วยครับ (อาจจะเป็นเพราะตอนเด็กๆ ชอบต่อโมเดล Gundam ละก็ชอบดู mechanic ของมันว่าข้อต่อมันขยับโดยใช้กลไลอะไร) เลยคิดไว้แล้วว่าจะเข้าคณะวิศวะฯ ตั้งแต่ ตอนช่วง ม.4 ครับ 

  1. ทำไมพี่บูมถึงเลือกที่นี่ เพราะวิศวะฯ จริง ๆ ถือว่ามีสถาบันเปิดสอนเยอะมาก อยากให้พี่บูมเล่าให้ฟังหน่อย

จริง ๆ โครงการ TEP TEPE ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ดังอยู่แล้ว เชื่อว่าถ้าน้อง ๆ ที่อยากมาสายนี้ต้องเคยได้ยินแน่ ๆ  แล้วก็เป็นการศึกษา International ได้ฝึกภาษาอังกฤษทุกวัน แล้วทางมหาลัยก็มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายรวมถึงมี opportunity ไปแลกเปลี่ยนมากมายด้วย (ถึงตอนนั้นพี่จะไม่ได้ไปแลกเปลี่ยน แต่ก็ได้ต่อโท – เอก ที่เมืองนอกแบบเต็มตัวเลย)

ตอนสอบเข้าก็มีเรื่องทุนด้วย พี่ก็มองที่ที่จะให้ทุนเต็มจำนวน และแน่นอนว่า TEP TEPE เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ ที่มีทุนเต็มจำนวนให้ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน (บางที่เช่น จุฬา ฯลฯ ต้องเข้าไปเรียนก่อน 1 ปีถึงสมัครขอทุนได้) แล้วตอนนั้นพี่ตั้งใจจะเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นที่แรกอยู่แล้วด้วย ก็คิดว่าถ้าเกิดได้ทุนหลายที่พร้อม ๆ กัน ก็คงเลือกธรรมศาสตร์ เพราะ สำหรับพี่ธรรมศาสตร์มีชื่อเสียงมากที่สุด แล้วก็คิดว่าที่นี่น่าจะให้ประสบการณ์การเรียน กับประสบการณ์ชีวิตที่ดีแน่นอน 

ตอนสอบเลยพยายามถึงที่สุดจนได้ทุนเต็มมา ตอนที่ได้ทุนก็รู้สึกดีใจแล้วโล่งใจมากครับ เพราะช่วยพ่อแม่ประหยัดค่าเทอมได้มากเลยครับ

  1. ตอนนั้นสอบเข้าพี่มีการเตรียมตัวยังไงบ้าง อยากให้ลองแชร์เทคนิคให้กับน้อง ๆ ที่กำลังอ่านอยู่ หรือกำลังเตรียมตัวฟิตกับการเข้ามหา’ลัย

ก็ตอนนั้นพี่อ่านหนังสือ กับทำโจทย์ปกติเลย แต่ขอย้ำว่าอยากให้ทำโจทย์ อย่าอ่านอย่างเดียว เพราะ จริง ๆ ตอนนั้นถึงเราเข้าใจเนื้อหาแต่ก็ใช่ว่าจะแก้โจทย์ได้ ดังนั้น การทำโจทย์จะช่วยน้อง ๆ เยอะมาก พยายามทำทุกวันให้เป็นนิสัย วันไหนไม่ว่าง หรือเหนื่อยก็ให้พยายามทำข้อง่าย ๆ สัก 5 นาทีก็ได้ มันจะได้ติดเป็นนิสัย แล้วพอวันไหนว่างเราก็ลุยมันทั้งวันได้เลยก็ได้ 

  1. หลังจากที่ติดแล้ว…ได้ลองเรียนแล้ว…อยากให้พี่บูมเล่าความรู้สึกก่อน และหลังเรียนให้ฟังหน่อยว่ามีความแตกต่างกันมากแค่ไหน

ตอนนั้นก่อนเรียนพี่รู้สึกว่าชีวิตมหาลัยต้องกดดันมากแน่ ๆ เหมือนการก้าวกระโดดความยากจาก ม ปลาย แต่พอเรียนจริง ๆ ก็ไม่ได้ขนาดนั้นนะ รุ่นพี่ใจดีมาก แนะนำอะไรได้หลายๆ อย่าง อาจารย์ก็ใจดีมีอะไรสงสัยก็ถามได้เรื่อย ๆ เลย ความยากในการเรียนก็พอเหมาะ ไม่ได้ยากจนเกินไปอย่างที่คิด ถ้าตั้งใจเรียนอย่างสม่ำเสมอ (แบ่งเวลาเล่นกับเรียนเป็น) ก็สามารถทำคะแนนดี ๆ ได้ครับ ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความสามารถเลย จริงอยู่ที่จะมีบางครั้งที่ได้โปรเจคยาก ๆ บ้างแต่รับรองว่าถ้าเราผ่านมันไปได้เราก็จะแข็งแกร่งขึ้นแน่นอน

  1. ต่อไปเราจะมาเจาะเรื่องการเรียนบ้าง อยากให้พี่บูมเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่าสาขานี้เขาเรียนเกี่ยวกับอะไร 

วิชาของภาควิศวกรรมเครื่องกลถ้าให้สรุปง่ายๆ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Mechanics กับ Energy (ผมแบ่งเองนะครับ ไม่ official 555)

Mechanics จะเป็นพวกจับต้องได้โดยตรงเช่น การออกแบบเครื่องจักร หรือกลไกต่าง ๆ, การรับแรงของเครื่องจักร, วิธีการขยับของเครื่องจักร, หุ่นยนต์

Energy จะเป็นพวกที่จับต้องไม่ได้ เช่นของไหล การถ่ายเทความร้อน ถ่ายเทพลังงาน ซึ่งเอาไปประยุกต์ใช้สร้างระบบต่างๆ เช่นระบบแอร์, ระบบทำความเย็น, ระบบ Power plant, ระบบสันดาปในรถยนต์

ซึ่งในปี 2 – 3 จะเรียนพวกทฤษฎีของแต่ละวิชาก่อน แล้ว ปี 3 (บางวิชา) กับปี 4 จะใช้ทฤษฎีที่เรียนมาจากปีก่อนๆ หลายๆ ตัวผสมกันในวิชาที่สามารถ Apply ใช้กับชีวิตจริงได้ เช่น Mechanical design กับ Refrigeration System

รีวิวการเรียนจากรุ่นพี่แบบเจาะลึก! “ตั้งแต่ป.ตรี จนถึง ป.เอก”

  1. แล้วของที่นี่มีการฝึกงานบ้างไหม

มีครับ ตอนจบปี 3 ทุกคนต้องฝึกงาน แต่ละคนก็เลือกที่ฝึกงานกันเองครับ ส่วนมากก็จะมีสมัครฝึกงานของแต่ละบริษัท (พอใกล้ ๆ เวลาแล้วต้องตามข่าวดี ๆว่ามีที่ไหนรับสมัครบ้าง)

  1. มาในด้านของการทำงานบ้าง วิศวะฯ สามารถทำได้หลายอย่างมาก แต่อยากให้พี่บูมลองเล่าหน่อยว่าถ้าจบไปสามารถทำแนวไหนได้บ้าง

วิศวะเครื่องกลสามารถทำได้หลายอย่างครับ เรียกได้ว่ากว้างมากๆ ส่วนมากจะทำเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องจักรกับการดูแลระบบที่เกี่ยวกับเครื่องจักรครับ เช่น ออกแบบกลไกต่าง ๆ, ออกแบบรถยนต์, เป็น Maintenance Engineer, คุมระบบในโรงงาน, คุม Powerplant, เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท 

  1. ได้ข่าวว่าช่วง ป. ตรี ที่นี่มีการทำ Project ด้วย แล้วตอนเรียนพี่บูมทำ Project แบบไหน

โปรเจคตอน ป. ตรีของพี่เป็นการออกแบบ Mimic Robot Arm ครับ ซึ่งเป็นแขนหุ่นยนต์ที่ขยับตามแขนของผู้ควบคุมเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ใช้ใน application ที่ไม่ต้องการให้คนควบคุมเข้าไป ณ จุดปฏิบัติการ เช่นการผสมสารเคมี กู้ภัย หรือช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่ง Project นี้ก็ได้รางวัลที่ 3 ของงาน Thailand Inventor’s Day มาด้วยครับ

รีวิวการเรียนจากรุ่นพี่แบบเจาะลึก! “ตั้งแต่ป.ตรี จนถึง ป.เอก”

  1. ถามเรื่องเรียนมาหนักหน่วงแล้ว เรามาถามเรื่องอื่นบ้างดีกว่าแล้วหลังจากที่ได้เรียน หรือทำกิจกรรมในคณะ พี่บูมมีอะไรประทับใจลองมาแชร์ให้น้อง ๆ ฟังหน่อย

ประทับใจรุ่นพี่ที่คอยแนะนำ และสนิทกับน้อง ๆ ดีมาก (เทียบกับต่างประเทศที่ผมเรียนอยู่ และจากการถามเพื่อนๆ ที่เรียนประเทศอื่นแล้ว ผมว่าสังคมที่ธรรมศาสตร์จะใกล้ชิดกันมากกว่าครับ)

อาจารย์ก็ใจดีครับ สามารถถามได้เรื่อยๆ แล้วถ้าใครมี Project ในใจหรือความชอบส่วนตัวพิเศษในการออกแบบที่อยากลองทำก็สามารถไปคุยกับอาจารย์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีแรกๆ ได้เลย ไม่ต้องรอถึงตอนทำ Project จบ อาจารย์อาจจะให้อะไรมาฝึกทำ หรือจับเราเข้า Lab ของแกเลยก็ได้ครับ ซึ่งจะได้ประสบการณ์เพิ่มเติมนอกเหนือการเรียนอย่างแน่นอน

  1. ต่อไปอยากเข้าเรื่องกิจกรรมบ้าง ได้ข่าวว่าช่วงเข้าใหม่ของธรรมศาสตร์มีกิจกรรมแน่นมากเลย  

แน่นอยู่นะครับ ตอนปี 1 มีกิจกรรมที่จัดเพื่อให้รุ่นพี่ใกล้ชิดกับน้องมากขึ้น เป็นกิจกรรม ชิวๆ ขำๆ ไม่มีความรุนแรงใดๆ ก็ถือเป็นโอกาศที่ดีเพื่อรู้จักเพื่อน ๆ และพี่ ๆ ด้วย

หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมอื่น ๆ เรื่อย ๆ และค่ายต่าง ๆ มากมาย รวมถึง Farewell party ที่เลี้ยงส่งเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ที่กำลังจะไปเรียนต่อนอก (โครงการ TEP) ซึ่งงานเหล่านี้นอกจากเราจะเป็นคนร่วมแล้วเรายังสามารถเป็นคนจัดได้ด้วยครับ ประสบการณ์จากการจัดงานเหล่านี้ก็มีประโยชน์เวลาทำงานเป็นทีมในการทำงานจริงด้วยครับ

แล้วก็ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนต่างๆ แบ่งตามวิชาไป แล้วเราก็สามารถเลือกเข้าชมรมได้ด้วยครับ บางชมรมก็เป็น Lab ที่มีอาจารย์คุมอยู่ (ตามที่พี่บอกไปในข้อ 10) ซึ่งเราก็จะได้ลองสร้างสิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่นพวกหุ่นยนต์ Mechatronic ต่าง ๆ แล้วอาจจะได้นำผลงานไปแข่งเวทีระดับประเทศด้วยครับ

  1. ต่อไปอยากเข้าช่วงของ ป.โท บ้าง ทำไมตอนนั้นพี่บูมถึงตัดสินใจเรียนต่อ ป.โท แล้วเพราะอะไรถึงเลือกเรียนต่อที่นี่

ตอนนั้นรู้ตัวว่าอยากเข้าโท คือช่วงท้าย ๆ ของปี 4 เลย ที่เลือกเรียนที่นี่ เพราะ ค่าเทอมไม่แพงถ้าเทียบกับที่อื่น แล้วในเรื่องของการเรียนการสอน คือ ดีมากๆ เลย และเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ TOP 100 ของโลกด้วย ด้วยความที่ตอนแรกยังไม่รู้ว่าได้ทุน พอได้ทุนก็โล่งใจเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง คือ การเรียนของที่นี่มีภาคปฏิบัติค่อนข้างเยอะ แสดงว่าเราก็จะได้ลงมือใช้อุปกรณ์จริง หรือได้ลองทำงานเป็นทีมด้วย

  1. แล้วในส่วนของการเตรียมตัวเรียนต่อ ป.โท พี่บูมต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง ต่างจากช่วง ป.ตรีไหม

จริง ๆ เรามีการเตรียมตัวเหมือนกัน แต่อาจจะน้อยกว่าตอน ป.ตรี เพราะสิ่งที่เค้าต้องการ เรามีเกือบหมดแล้ว ตอนนั้นจำได้ว่าตอนพี่ยื่นสมัคร เค้าจะขอดูผลการเรียน ดูคะแนนสอบ IELTS แล้วก็ให้เขียน Motivation Letter ด้วย เพราะถ้าดูเรื่องผลการเรียนของเราก็รักษาระดับอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาโดยตลอด รวมทั้งทางคณะต้องใช้คะแนน IELTS เพื่อยื่นจบอยู่แล้วด้วย ก็ถือว่าเรามีสิ่งที่เขาต้องการเกือบครบอยู่แล้วด้วย สิ่งที่ต้องทำใหม่มีแค่เขียน Motivation Letter ให้ดี ๆ แค่นั้นเลยครับ 

รีวิวการเรียนจากรุ่นพี่แบบเจาะลึก! “ตั้งแต่ป.ตรี จนถึง ป.เอก”

  1. หลังจากที่เรารู้เรื่องการเรียนของ ป.ตรี ไปแล้ว ต่อไปอยากให้พี่บูมเล่าของป.โท บ้าง

ก็ ป.โท พี่จะเรียนเกี่ยวกับวิศวรรมที่ใช้ในอุตสาหกรรม เน้นไปที่ Mechanical และ Electrical ตามชื่อที่เรียกว่า “Electromechanical” โดยในระดับ ป. โท จะมีแยกสาขาย่อยอีกที โดยพี่เลือก Clinical Engineering ครับ ซึ่งเป็นวิศวะที่เกี่ยวกับการแพทย์ สรุปการเรียน ป.โท ของพี่แบบง่าย ๆ คือ เรียนเครื่องกล + ไฟฟ้า แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ครับ 

  1. แล้ว Project ของ ป.โท กับ ป.ตรี ต่างกันแค่ไหน ตอนเรียน ป.โท พี่บูมได้ทำโปนเจคแบบไหนอยากให้ลองแชร์ให้ฟังสักหน่อย

โปรเจค ป. โท ก็จะคล้าย ๆ ป ตรีครับ แต่ว่าเวลาจะทำอะไรต้องมีข้อมูลที่แน่นกว่ามาก วางแผนการทดลองต้องละเอียด และสามารถอ้างอิงได้ว่าทำไมเราถึงอยากทำแบบนี้ แล้วก็ต้องอ่านงานวิจัย (paper) ของคนอื่นเยอะ ๆ ด้วยครับ เรียกได้ว่าจะเข้มข้นด้านวิชาการขึ้นครับ โปรเจคตอน ป โท ของผมเป็นการใช้ Vibrational Analysis แล้วก็ Finite Element Analysis เพื่อหา Stability ของ Hip Implant ครับ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์มาก ๆ จึงต้องหาข้อมูล ค้นคว้ากันละเอียดเลยทีเดียว สุดท้ายนี้ขอแถมหัวข้อ ตอน ป.เอกที่กำลังจะทำอีกนิดครับ ซึ่งก็เกี่ยวกับการแพทย์เหมือนกัน ทีนี้ก็ได้ใช้ความรู้ Robotic ผสมกับประสบการณ์วิจัยใน Clinical field ตอน ป โท มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบ พี่กำลังจะพัฒนา Flexible Robot for Minimally Invasive Vocal Fold Surgery ครับ ซึ่งจะเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัดขนาดเล็กสำหรับผ่าตัวกล่องเสียง 

  1. สุดท้ายแล้ว มีอะไรอยากฝากน้อง ๆ ที่จะเข้าคณะนี้มั้ย

ตั้งใจเรียนให้ดีครับ, Balance เวลาเล่นกับเรียนให้ดี ที่นี่ส่วนมากไม่บังคับเข้าคลาส (ยกเว้นพวก lab) ครับ บางวิชาตอน ป 1 ปี 2 จะเรียนอย่างเดียวไม่มีการบ้านด้วยเลยอาจจะทำให้เผลอขี้เกียจได้ ซึ่งจะลำบากช่วงสอบแน่ ๆ ครับ

วิชาปีแรกๆ ตั้งใจให้มาก ๆ ครับ แล้วจะสบายภายหลัง เพราะวิชาปีหลังๆ ใช้พึ้นฐานของวิชาปีแรก ๆ หมดเลย ถ้าไม่แม่นวิชาปีแรก ๆ นี่เรียกได้ว่าลำบากเลยทีเดียว

สุดท้าย เวลาทำอะไร อย่าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ครับ ให้ตั้งใจให้ถึงที่สุดเพื่อจะได้ไม่เสียดายในภายหลังว่าเราไม่ได้ทำเต็มที่กับมัน แต่ถ้าหากมีอะไรพลาดไป (ทุกคนสามารถพลาดได้อยู่แล้วครับถึงแม้เราจะพยายามที่สุดแล้ว ไม่ต้องกังวลครับ) อย่าจมปลักอยู่กับมัน แต่ก็อย่าละเลยมันและลืมมันง่าย ๆ ให้จำข้อผิดพลาดนั้นแล้วลองคิดแบบ Engineer ดูว่าวิธีที่เราทำมานั้นมันมีข้อเสียตรงไหน แล้วสามารถปรับปรุงอะไรได้บ้างเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

656 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

2,214 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

2,482 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

91,616 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

5,298 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

3,933 views