ผิดด้วยหรอ ที่ยังไม่รู้ตัวว่าอยากเข้าคณะอะไร? จริง ๆ ไม่ใช่ความผิดน้อง ๆ เลย ที่เรายังไม่รู้ตัวว่าจะเข้าคณะอะไรกันแน่ แต่การที่เราได้รู้ตัวเร็ว เราก็จะสามารถวางแผนรับมือกับการเรียนต่อในอนาคตได้นั่นเอง วันนี้น้อง ๆ คนไหนที่กำลังกังวล หรือกำลังปวดหัวกับคำถามจากคนรอบตัวในเรื่องการเรียนต่อ ต้องห้ามพลาดบทความนี้เลย ในวันนี้พี่มีวิธีมาเสนอให้น้อง ๆ ได้ค้นพบตัวตนที่ใช่! คณะที่ชอบ! โดยมีทั้งหมด 5 วิธีด้วยกัน ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มทำพร้อมกันเลย!!
.
แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่า ก่อนที่น้อง ๆ จะเริ่มทำ 5 ขั้นตอนนี้ พี่อยากให้น้อง ๆ หาพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวในการทำนิดนึง เพื่อที่จะช่วยให้น้อง ๆ มีสมาธิ และจริงจังกับการทำตามขั้นตอนที่พี่กำลังจะแนะนำในตอนนี้ เอาหล่ะ มาเริ่มที่ขั้นแรกกันเลย
.
ขั้นที่ 1 ก่อนทำโจทย์ อย่าลืมเช็กตัวเลือก
ในขั้นตอนนี้ ตัวเลือกที่พี่หมายถึง คือ พี่อยากให้น้อง ๆ ลองลิสต์รายชื่อคณะทั้งหมด โดยเป็นคณะที่มีการเปิดสอนอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง อาจเริ่มไล่จากข้อกำหนดที่เราต้องการก่อน เช่น มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน มหาวิทยาลัยในกรุงเทพ หรือในภาคต่าง ๆ การกำหนดจะช่วยให้น้อง ๆ หาคณะได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างคณะที่มีการเปิดสอน
- คณะกายภาพบำบัด
- คณะการท่องเที่ยวและการบริการ
- คณะการแพทย์แผนไทย
- คณะเกษตรศาสตร์
- คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- คณะเทคนิคการแพทย์
- คณะเทคโนโลยี
- คณะทันตแพทยศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
- คณะนิเทศศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี
- คณะประมง
- คณะพยาบาลศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์
- คณะเภสัชศาสตร์
- คณะมนุษยศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะเศรษฐศาสตร์
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- คณะสหเวชศาสตร์
- คณะสังคมศาสตร์
- คณะสัตวแพทยศาสตร์
- คณะสาธารณสุขศาสตร์
- คณะสิ่งแวดล้อม
.
ขั้นที่ 2 หาสิ่งที่ชอบ และเป็นเรามากที่สุด
หลังจากที่น้อง ๆ ได้ลิสต์รายชื่อคณะทั้งหมดแล้ว ให้น้อง ๆ ตัดคณะที่ชอบน้อยที่สุดทิ้งไป เน้นว่าอันไหนที่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ชอบ ไม่ถนัด ก็ตัดทิ้งไปเลย ห้ามเสียดายนะ แล้วค่อย ๆ ไล่จากคณะที่ชอบน้อย ไปจนถึงเหลือคณะที่เราชอบ หรือสนใจมาก แนะนำว่าอยากให้ตัดทิ้งจนเหลือไม่เกิน 5 คณะ เพราะการที่เราเริ่มไล่จากที่ชอบน้อยแล้วค่อย ๆ ไล่ไปหาชอบมาก จะทำให้น้อง ๆ เห็นแนวความชอบตัวเองง่ายขึ้น ว่าจริง ๆ แล้วเราชอบ หรือสนใจคณะแบบไหนนั่นเอง
.
ขั้นที่ 3 เช็กข้อมูลโดยละเอียด
ลองมาดูกันว่าเราเหลือคณะอะไรบ้าง! หลังจากที่ในลิสต์ของน้อง ๆ เหลือแต่คณะที่ชอบ หรือสนใจแล้ว ในเรื่องของจำนวน พี่ไม่อยากกำหนดแบบตายตัว แต่อย่างที่บอก คือ แนะนำว่าไม่ควรเหลือเกิน 5 คณะ เพราะ จะช่วยให้น้อง ๆ ตัดสินใจง่ายขึ้น และที่สำคัญ จะได้ลดงานในขั้นตอนนี้ด้วย บอกเลยว่าขั้นตอนนี้ค่อนข้างหนักหน่วง และเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะในขั้นตอนนี้ น้อง ๆ จะต้องเอาคณะที่เหลือเหล่านั้นมาหาข้อมูลอย่างละเอียด ขอเน้นว่าแบบละเอียด เพราะยิ่งน้อง ๆ หาข้อมูลได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เราเข้าถึงคณะได้มากขึ้นเท่านั้น เช่น มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอนบ้าง คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร แต่ละปีต้องเจอกับวิชาแนวไหน สายงานแบบไหน หรือถ้ามีการแนะแนวจากรุ่นพี่ในคณะนั้น ๆ อยากให้น้อง ๆ ลองเข้าไปอ่านดู เพราะสิ่งเหล่านี้คือการแชร์ข้อมูลแบบประสบการณ์ตรงของผู้เรียนคณะนั้น ๆ เลย ดังนั้น ในขั้นตอนนี้จึงสำคัญอย่างมาก น้อง ๆ คนไหนที่อยากลองอ่านประสบการณ์ตรงสำหรับรุ่นพี่คณะต่าง ๆ สามารถตามมาที่นี่ได้เลย รุ่นพี่รีวิว
.
ขั้นตอนที่ 4 ลองกลับมาถามตัวเอง
ก่อนเริ่มอยากให้น้อง ๆ เอาสิ่งที่สามารถเขียนได้มาเตรียมไว้ก่อน เช่น กระดาษ, ปากกา เพื่อที่น้อง ๆ จะเห็นภาพ และเข้าใจมากขึ้น ในขั้นตอนนี้ อยากให้น้อง ๆ ลองถามตัวเองว่าเราอยากทำอะไร ต้องการ หรือมีความฝันอะไรบ้าง ลองคิดแบบเร็ว ๆ ดู ไม่ต้องคิดเยอะ หรือกังวลถึงความเป็นไปได้เลย ลองถามตัวเองแล้วดูว่าอะไรคือความคิดแรกที่ขึ้นมา ก็สามารถเขียนออกมาได้เลย เช่น อยากเที่ยวรอบโลก อยากเลี้ยงสัตว์ อยากพูดภาษาต่างประเทศได้ อยากช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่เราอยากทำ คิดอะไรได้เขียนไปเลย
.
ขั้นตอนที่ 5 ถ้าไปด้วยกันได้ก็อย่าลังเล
ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ในขั้นตอนนี้ให้น้อง ๆ ดูว่าเราเหลือคณะอะไรบ้างที่ไม่ได้ตัดทิ้ง หลังจากนั้นให้เขียนรายชื่อคณะที่เหลือไปที่กระดาษอีกแผ่นแบบเรียงเป็นข้อลงมา แล้วเอาเหล่าความฝันต่าง ๆ ที่เราเพิ่งเขียนไปมาเทียบกันว่าคณะไหนบ้าง ที่สามารถตอบโจทย์ความฝันแต่ละอย่างของเราได้บ้าง ให้น้อง ๆ เอาความฝันไปเติมต่อท้ายคณะนั้น ๆ ได้เลย เช่น คณะมนุษยศาสตร์ = ท่องเที่ยวรอบโลก, เก่งภาษา หลังจากนั้นน้อง ๆ ก็จะสังเกตได้ว่าคณะไหนเป็นคณะที่จะตอบโจทย์มากที่สุดนั่นเอง
.
เป็นยังไงกันบ้างสำหรับ 5 ขั้นตอนที่พี่แนะนำ บอกเลยว่าถึงขั้นตอนจะน้อย แต่รายละเอียดข้างในเยอะ และต้องใช้เวลาในการทำค่อนข้างมากเลยดีเดียว พี่เชื่อว่าถ้าน้อง ๆ คนไหนได้ลองทำตามขั้นตอนเหล่านี้แล้ว น้อง ๆ จะเห็นภาพความต้องการของตัวเองชัดขึ้นได้อย่างแน่นอน อย่าลืมว่าการที่เรารู้ตัวช้า หรือยังหาทางของตัวเองไม่เจอ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่จะผิดถ้าเราไม่พยายามหา หรือพยายามลงมือทำนะ หลังจากที่เรารู้เป้าหมายของตัวเองแล้ว อย่าลืมที่จะวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายของตัวเองล่ะ