Follow us on

7 วิธีทดสอบรักแท้ คณะที่เลือก ใช่คณะที่ใช่ !! จริงเหรอ?

วันที่โพสต์

การเข้ามหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจสำคัญในช่วงชีวิตวัยรุ่นของน้องๆ ครับ ก่อนที่น้องจะตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ไป แน่ใจกันดีหรือยังครับว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องจริงๆ ลองรับภารกิจจากพี่ไปดูกันก่อนครับ ไปทำให้ได้ครบทั้ง 7 ข้อ อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ของน้อง จะกำหนดชะตาชีวิตน้องในอนาคต หากจะให้เวลาค้นหาให้แน่ใจ คงไม่เป็นการเสียเวลาเกินไปใช่ไหมครับ

1. ได้ไปค่าย หรืองาน Open House หรือยัง

ค่ายหรืองานเปิดบ้าน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดีมากๆ ที่จะทำให้น้องๆ ได้รู้จักคณะในมุมมองที่น้องอาจไม่เคยรู้มาก่อน หากน้องยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกคณะอะไร ลองไปค่าย หรือ Open house ดูหลายๆ ที่ หลายๆ คณะเลยครับ แต่หากตัดสินใจไปแล้วว่าจะเลือกคณะนั้น คณะนี้พยายามลองไปค่ายให้ได้หลายๆ สถาบัน เพื่อเปิดมุมมองของเราครับ

หลังจากได้ไปค่ายหรือ Open House มา ลองกลับมานั่งทบทวนตัวเองครับ หากระดาษมาสักแผ่น แล้วเขียนตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้เยอะที่สุด 1. อะไรที่เราชอบในตัวคณะนี้ 2. มีอะไรที่เราไม่ชอบบ้าง 3.หากเราเลือกคณะนี้ ชีวิตในอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร

พยายามเขียนไปให้ได้เยอะที่สุด และยิ่งน้องๆ ไปมาหลายคณะ หลายสถาบัน การเขียนบันทึกไว้ จะทำให้น้องกลับมาตรวจสอบได้เป็นอย่างดี ว่าคณะหรือสถาบันไหนที่น้องควรเลือกจริงๆ ไม่ใช่เลือกเพียงแค่ใช่ความรู้สึกครับ

บางทีอาจลองไปค่ายในคณะที่เราคิดว่าไม่ชอบดูสักครั้งก็ได้นะครับ เพื่อให้คำตอบในใจ มันชัดเจนมากขึ้นไปอีก

ดูข่าวค่ายที่กำลังเปิดรับสมัคร

2. รู้จักนิสัยตัวเองดีแค่ไหน

น้องรู้จักนิสัยตัวเองดีแค่ไหนครับ น้องเป็นคนยังไง หลงใหลหรือให้ความสำคัญ ความชอบไปกับเรื่องอะไร เรื่องนี้ก็เขียนใส่กระดาษอีกเช่นเคยครับ มองเห็นตัวเองด้วยความเป็นจริง เขียนนิสัยของตัวเองที่เป็นออกมาทั้งหมด เขียนความชอบของตัวเองออกมาทั้งหมด แล้วนำมาเทียบกับคณะที่น้องอยากเข้า

คนที่จะเข้าคณะเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร น้องต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นหรือไม่ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในเรื่องใดหรือเปล่า หรือต้องปรับเปลี่ยนมากเกินไปจนสิ่งนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่น้องต้องการจริงๆ หรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น หากน้องต้องการเข้าคณะครุศาสตร์ เพื่อเป็นครูในอนาคต ให้น้องเขียนคุณสมบัติหรือนิสัยของครูคนนี้ที่น้องอยากเป็นในอนาคตลงอีก 1 แผ่น และเปรียบเทียบกับตัวเองในตอนนี้ เช่น หากเป็นครูในโรงเรียน น้องจะชอบที่จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปสอนหรือไม่ หรือการตื่นแต่เช้าเป็นความทรมานของน้อง และในทางกลับกันคือ หรือน้องจะตั้งใจเปลี่ยนตัวเองตื่นเช้าให้ได้ อีกคุณสมบัติคือต้องใจเย็น น้องจะใจเย็นรับมือกับเด็กๆ แสนวุ่นไหวหรือเปล่า หากปกติเป็นคนอารมณ์ร้อน ไม่ชอบให้ใครขัดใจ น้องอาจต้องเปลี่ยนเป็นตัวเลือกอื่นหรือไม่ ลองจดใส่กระดาษแล้วนั่งวิเคราะห์ตัวเองกันดูครับ

รู้จักตัวเองที่แท้จริง รู้จักเป้าหมายอย่างหมดเปลือก เพื่อเส้นทางที่ใช่ ไม่ใช่หลงกลางทาง

3. Passion ของน้องอยู่ที่ไหน

หากน้องได้เลือกคณะ หรือสาขาไว้แล้ว น้องมี Passion ให้กับมันมากน้อยแค่ไหน เข้าเพราะแค่ที่บ้านเสนอแนะให้เข้า เลือกแค่ตามเพื่อนหรือเปล่า Passion ในที่นี้คือแรงผลักดันที่จะพาน้องไปสู่จุดที่น้องฝันไว้ เปรียบเหมือนไฟแห่งแรงบันดาลใจ ที่ไม่มีวันดับ หากน้องยังหา Passion ของตัวเองไม่เจอ อย่าเพิ่งตัดสินใจใดๆ ไปเชียวครับ

ส่วนวิธีหา Passion ที่แท้จริงของน้อง น้องอาจมีไอดอลในดวงใจ เช่น หากเป็นอาชีพหมอ เราอยากจะเป็นเหมือนหมอภากย์ที่เข้าไปช่วยน้องๆ ติดถ้ำหลวงไหม หรือหากอยากเป็นวิศวกร เรามีแรงบันดาลใจกับการสรรสร้างสิ่งต่างๆ รอบตัวหรือเปล่า หรือหากอยากเป็นทันตแพทย์ น้องจะมีแรงบันดาลใจที่จะทำให้เกิดรอยยิ้มสวยๆ บนใบหน้าของคนไข้เราหรือไม่ Passion ของน้องอยู่จุดไหน จงหาให้เจอ ก่อนที่อะไรๆ มันจะสายเกินไปครับ

หาแรงผลักของเราก่อน เราเกิดมาเพื่อเป็นใคร ความหมายชีวิตของเรา เราเป็นผู้กำหนดเอง หาสิ่งๆ นี้ให้เจอ

4. ทำแบบทดสอบเพิ่มความชัวร์

เดี๋ยวนี้มีแบบทดสอบทางจิตวิทยาให้น้องๆ ได้ลองทำค้นหาตัวตนมากมายหลายขนาน ลองหยิบขึ้นมาทำสัก 2-3 บททดสอบดูครับ แล้วดูว่าผลลัพธ์ของบททดสอบ ขัดกับเป้าหมายหรือตัวตนที่เรามองเห็นหรือไม่ และในบางครั้ง แบบทดสอบเหล่านี้อาจทำให้น้องมองเห็นตัวตนของน้องเองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้

ทั้งนี้ ทางพี่ๆ ได้ทำแบบทดสอบไว้ง่ายๆ อันนึง ให้น้องๆ ได้ลองทดสอบตัวเองในเบื้องต้น เป็นแบบค้นหาตัวตนที่ชื่อว่า MBTI เพื่อรู้จักบุคลิกที่น้องเป็นจริงๆ กับคณะที่เหมาะสมกับบุคลิกของน้อง ลองไปทำแบบทดสอบกันดูครับ

ทำแบบทดสอบ MBTI คลิกที่นี่

5. สร้างภารกิจท้าทาย ทดสอบตัวเอง

ข้อนี้ให้น้องๆ ลองจำลองชีวิตตัวเองเป็นอาชีพที่น้องอยากเป็น เอาแบบจริงๆ จังๆ กันเลยครับ เช่นหากน้องๆ เป็นหมอ ลองหาภารกิจท้าทายที่คนเป็นหมอต้องทำ เช่นลองตื่นตีห้าติดต่อกันหลายๆ วันเหมือนตอนที่พี่หมอต้องตื่นมาราวน์วอร์ด ลองอดหลับอดนอน ตั้งโจทย์ให้ตัวเองวาดรูปหรือออกแบบ เหมือนพี่ที่เรียนสถาปัตย์ ลองหาเวลาไปเป็นอาสาสมัครเป็นคุณครูสอนเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล หาภารกิจที่ท้าทายตัวเอง มาลองทำดูสักตั้งครับ

แล้วให้คำตอบกับตัวเองหลังจากทำภารกิจท้าทายเหล่านั้นว่า ภารกิจไหน ที่ต่อให้เราต้องทำถึงขนาดนั้น เราก็ยอมเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับภารกิจที่แสนเหนื่อยนี้อย่างไม่ลังเล หรือหลังจากลองทำแล้ว ต้องขอถอยดีกว่า ลองให้โอกาสตัวเองได้ลองทำภารกิจหลายๆ อย่างดูนะครับ

ลองทำภารกิจหลากหลายอย่างดูก่อน แล้วค่อยว่ากัน ว่าจะเลือกทางไหน

6. ดูหนังสะท้อนความจริง

ข้อนี้ให้น้องๆ หาหนังที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่น้องอยากเป็นมานั่งดู หนังหลายๆ เรื่อง สะท้อนความเป็นจริงได้ดีครับ ตรงนี้พี่อยากให้น้องนั่งลิสต์ข้อเสียทั้งหมด ไม่ดูหนังเพื่อหาแรงบันดาลใจนะครับ เพราะชีวิตจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เช่น ลิสต์ว่าอาชีพนี้ ต้องรับแรงกดดันนะ ต้องรับมือกับคนหลากหลายนะ ต้องอดหลับอดนอน ต้องเครียด หรือต้องอยู่ห่างไกลครอบครัว ไม่มีเวลาให้ที่บ้านนะ

น้องรับข้อเสียเหล่านี้ไหวมั้ย เราอาจลองไปนั่งพูดคุยกับคนในครอบครัวของเราด้วยก็ได้ ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ว่า อาชีพเนี่ย มันเป็นแบบในหนังจริงมั้ย ถ้าน้องต้องทำงานนี้จริงๆ ที่บ้านจะรับได้ไหม เห็นด้วยกับน้องไหม ถ้าไม่เห็นด้วย น้องควรจะเลือกทางไหนดีที่ลงตัวกับชีวิตของเรา เมื่อได้แนวอาชีพใหม่มา ก็ลองมาหาหนังนั่งดูอีก ก่อนที่จะตัดสินใจจริงๆ จังๆ ไป

หนังอาจทำให้เราเห็นอีกมุมนึง ที่เราไม่เคยเห็น และไม่คิดว่ามันจะเป็น ลองหาดูและวิเคราะห์หนังไปพร้อมกับความจริงดูครับ

7. ตอบคำถามแห่งการเสียสละ

ถ้าอาชีพ สายงานที่น้องเลือก น้องไม่ได้รับเงินแม้แต่แดงเดียว น้องยังจะเลือกอาชีพนี้หรือไม่ ถ้าอาชีพนี้ ไม่ได้มีคนนับหน้าถือตา ไม่มีเกียรติยศศักดิ์ศรี น้องจะยังคงเลือกไหม

ถอดเปลือกของอาชีพออกให้หมด สุดท้ายแล้วเราจะได้เส้นทางที่เรารักและพร้อมจะทุ่มเทสุดชีวิตจริงๆ แล้วนี่จะเป็นการตัดสินใจ ครั้งที่มั่นคงที่สุดของน้องๆ ครับ

ได้เดินไปในทางที่รักจริงๆ จะมีอะไรดีมากไปกว่านี้อีก

หลังจากลองทำทั้ง 7 ภารกิจแล้ว พี่คิดว่าน้องน่าจะได้มุมมองที่กว้างขึ้นมากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจครั้งสำคัญไปครับ เรียกว่ามองให้รอบด้าน มองทั้งตัวเอง มองทั้งเส้นทางที่ตั้งใจเลือก และทดสอบตัวเอง เพื่อสุดท้ายจะเป็นการตัดสินใจในเส้นทาง ที่น้องพร้อมที่จะทุ่มเทสุดชีวิตจริงๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลักสูตรใหม่ TCAS68 ม.ทักษิณ

705 views

มาแล้ว!! ม.เกษตร รอบ1/2 โครงการช้างเผือก

2,392 views

มศว รอบ 1 Portfolio เปิดรับ 5 โครงการ!

2,619 views

ลงทะเบียน TCAS68 ระบบ MyTCAS วันไหน ต้องทำยังไง และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

91,925 views

ปฏิทิน TCAS68 มศว มาแล้ว เตรียมยื่นพอร์ต เดือนพฤศจิกายนนี้ – TCASter

5,616 views

ม. ธรรมศาสตร์ เปิดเกณฑ์รับรอบ 1 แล้ว! มีคณะอะไรบ้าง ไปดูได้เลย – TCASter

4,076 views