Follow us on

7 ข้อต้องรู้! ก่อนทำพอร์ตฟอลิโอ (Portfolio)

วันที่โพสต์

ก่อนทำพอร์ต (Portfolio) DEK66 ต้องรู้บ้าง ไปดูกันครับ

1. รู้จักตัวเองดีพอหรือยัง

“พอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) เป็นเหมือนทุกอย่างของเรา สิ่งนี้คือเรา คือความเป็นเรา” – พี่กล่อม GSSE TU

สิ่งที่สำคัญที่สุดอันดับแรกในการทำพอร์ต (Portfolio) คือการรู้จักตัวเอง ลองมองตัวเองให้รอบด้าน เราเจอคณะที่ใช่สำหรับเราหรือยัง เรามีคุณสมบัติอย่างไร นิสัยอย่างไร ที่ผ่านมาเราชอบทำอะไร มีความสนใจด้านไหน หากเรารู้จักตัวเองดีพอ เราจะมองเห็นว่าคณะไหนใช่ หรือไม่ใช่สำหรับเรา เราจะมองเห็นว่าคณะไหนเหมาะสมและคณะไหนไม่เหมาะสมกับเรา อาจลองลิสต์คุณสมบัติความสามารถของตัวเองในแต่ละด้าน แล้วลองเปรียบเทียบกับคุณสมบัติความสามารถหรือสไตล์ที่คณะต้องการ  เพื่อที่เราจะได้สร้างพอร์ตที่ใช่ให้กับคณะที่ใช่แล้วจริงๆ

2. เอาเป้าหมายของเรามาเป็นธีม เป็นตัวเดินเรื่อง

“ทำพอร์ตให้เป็นพอร์ต ไม่ใช่โฟโต้บุครวมคอลเลคชั่นรูปถ่าย – อาจารย์ Pongsakorn Samorban

พอร์ต 1 พอร์ต ไม่ควรเป็นพอร์ตสำหรับทุกที่ทุกคณะ เราจะยื่นคณะไหน สถาบันใด ให้นำเป้าหมายนั้นมาเป็นธีม เป็นโจทย์หลักในการทำพอร์ตฟอลิโอเล่มหนึ่ง และเราต้องหาข้อมูล อ่านระเบียบการให้ดีว่า สถาบันต้องการคนแบบไหน คณะนี้ต้องการคุณสมบัติอะไร โครงการนี้ควรนำความสามารถด้านไหนมาใส่ ไม่ใช่ใส่หมดทุกอย่างที่มี ให้เลือกเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่จะเข้าตากรรมการจริงๆ

.

3. คำนำพอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) ไม่ใช่คำนำเล่มรายงาน

“คำนำ ควรทำให้พอร์ตเล่มนี้น่าค้นหา จนต้องเปิดไปหน้าถัดไป  – ครู Tik Phornthip

รูปแบบคำนำที่เรารู้จักกันในการทำรายงาน ที่ต้องเขียนวัตถุประสงค์ จัดทำขึ้นเพื่อใคร เพื่ออะไร และหวังว่าผู้อ่านจะได้อะไร เป็นคำอธิบายที่ดีไม่ได้ผิดอะไร แต่การเขียนด้วยรูปแบบลักษณะรายงานนี้ส่งผลให้พอร์ตแต่ละเล่ม เหมือนกันไปเสียหมด กลายเป็นว่า 1 หน้ากระดาษที่เสียค่าปรินท์ไป ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะแค่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนคำนิดหน่อย ก็กลายเป็นของคนนั้นแล้ว ลองเปลี่ยนเป็นเกริ่นนำเหมือนคำนำหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เราชอบอ่านมากๆ ดูไหม เวลาเราอ่านคำเกริ่นเรื่องที่ปก แล้วทำให้เราอยากอ่านข้างใน จงทำคำนำของพอร์ตให้เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ลองเขียนคำนำแบบเล่าบรรยาย ใช้คำที่เป็นตัวเอง เล่าที่มาที่ไป เล่าแรงบันดาลใจที่เป็นของเรา ดึงความเป็นเราออกมาเกริ่นนำในรูปแบบที่น่าสนใจ จนคณะกรรมการอยากจะดูผลงานในพอร์ตไปจนจบเล่ม

.

4. ทำพอร์ตภาษาอังกฤษไว้อีกสักเล่ม

“ลองทำพอร์ตเป็น 2 ภาษา ไม่เสียหาย – พี่เหลิม วิศวะจุฬาฯ  chokchaitutor

หากเราพอทำได้ ให้ลองทำดู โดยเฉพาะคณะที่ให้ความสำคัญกับภาษา ถึงแม้ว่าทางคณะหรือสถาบันจะไม่ได้กำหนดมาว่าต้องทำพอร์ตเป็นพิเศษในภาษาอื่น แต่หากเราทำได้ จะแสดงถึงความใส่ใจความตั้งใจในการยื่นพอร์ต และอาจสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการ รวมถึงได้มีเรื่องราวไปเล่าพูดคุยในห้องสัมภาษณ์ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เก่งภาษาถึงขั้นที่จะทำพอร์ตภาษาอื่นออกมาได้ดี แต่นี่คือสิ่งที่เราพยายาม ตั้งใจทำออกมาอย่างดีที่สุด และความผิดพลาด การลองทำสิ่งใหม่ๆ จะทำให้เราได้เรียนรู้เสมอ

.

5. ผลงานไม่จำเป็นต้องเป็นอดีตเสมอไป เริ่มตอนนี้ยังทัน

“น้องๆ ครับ คณะหรือสถาบันที่เราอยากเข้า เขามีกิจกรรมอะไร ลงได้ให้ลง ทำได้ให้ทำ เก็บเรียบให้หมด – พี่ Buddy TCASter

หากมัวแต่ท้อว่าที่ผ่านมาเราไม่มีผลงานอะไรเลย เราก็จะไม่มีผลงานต่อไป ลองกลับมานั่งทบทวนตัวเอง ความสามารถอะไรที่เราจะสามารถแสดงออกได้บ้าง การแข่งขัน ค่าย กิจกรรมอะไรที่กำลังเปิดอยู่ในตอนนี้ หากมีความเกี่ยวข้องกับคณะหรือมหาวิทยาลัยที่เราอยากเข้า ให้รีบสมัครเข้าร่วม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้โดดเด่นหรือได้รับรางวัลอะไรกลับมา แต่การที่น้องสนใจและให้ความสำคัญนั่นคือส่วนสำคัญมากเสียยิ่งกว่า เพราะมันจะเป็นประสบการณ์ติดตัวน้อง ที่อะไรก็แทนกันไม่ได้ หรือหากไม่มีกิจกรรม ลองเข้าทดสอบการสอบวัดผลทักษะด้านต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ให้ลองตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อการสอบเหล่านี้ดูสักตั้ง คะแนนที่ออกมาจะเป็นผลแห่งความพยายามของเรา และสามารถเป็นผลงานในพอร์ตได้อย่างแน่นอน

.

6. แคร์ผู้ชมพอร์ต

“นึกถึงคนดูว่าเค้าจะได้ประสบการณ์ที่ดีจากการดูพอร์ทโฟลิโอเราไหม – Dreamaction

พอร์ตที่สวยงาม มีความอลังการงานสร้าง แต่ไม่สนใจในสิ่งที่คณะกรรมการต้องการ ก็อาจตกม้าตายเช่นกัน เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากที่สุด นึกถึงอยู่เสมอระหว่างทำพอร์ตว่าคนที่จะมาดูพอร์ตของเราเขาต้องการอะไร ต้องการข้อมูลแบบไหน ต้องการฟอนต์ขนาดไหน สีแบบใด ควรทำให้อ่านง่ายเข้าใจง่ายหรือไม่ ลองให้เวลากับการศึกษาการจัดวางหน้ากระดาษ การใช้ฟอนต์สักหน่อย จงทำออกมาให้ตอบรับกับผู้ที่จะชมพอร์ตของเรา ไม่ใช่ทำตามใจตนเองจนไม่สนอะไร

.

7. จ้างเขาทำ หรือทำเอง

“พอร์ตฟอลิโอที่แสดงถึงความเป็นตัวน้องเอง จะพอให้เวลาลองทำดูสักตั้งได้หรือไม่ – พี่ Buddy Tcaster

อาจดูยากและดูหนักหนาสำหรับน้องที่ไม่ได้เก่งทางศิลปะ แต่พี่อยากให้น้องมั่นใจในตัวเอง ลองให้เวลานั่งศึกษาสักนิดหน่อย และตั้งใจทำออกมาในแบบของเรา หากจ้างคนอื่นทำให้ก็จะได้เหมือนๆ คนอื่น หากทำเองจะได้สิ่งที่เป็นตัวตนของเราแสดงออกมาจริงๆ และน้องจะพูดกับคณะกรรมการได้อย่างมั่นใจว่า ถึงแม้ผม(หนู)จะไม่ค่อยถนัดทางด้านศิลปะ แต่ผม(หนู)ก็ตั้งใจทำพอร์ตฟอลิโอชิ้นนี้ด้วยตัวเองอย่างดีที่สุด และพอร์ตชิ้นนี้จะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ให้น้องได้ย้อนกลับมามองตัวเองอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

#อัปเดต TCAS68 กสพท คืออะไร ต้องสอบอะไรบ้าง ? – TCASter

16,154 views

#อัปเดต TCAS68 ข้อสอบ TGAT/TPAT, A-Level คืออะไร? เกี่ยวอะไรกับการยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS68

6,312 views

#อัปเดต TCAS68 ทำความรู้จัก mytcas คืออะไร? ทำไม DEK68 ทุกคนต้องลงทะเบียน

2,212 views

ทำความรู้จัก กยศ. กองทุนให้ยืมเพื่อการศึกษา คืออะไร กู้ยังไง มาดู! – TCASter

863 views

อัปเดต TCAS68 เกณฑ์ใหม่ นิติ มธ. หลังยกเลิกสอบวิชาเฉพาะ – TCASter

744 views

ม.กรุงเทพ ร่วมกับ Berkeley SkyDeck Fund  จัดกิจกรรม Hackathon 2024

4,008 views