รีวิวหมดเปลือก แพทยศาสตร์ มธ.
“คณะแพทย์ก็เหมือนคณะอื่น ที่รวมคนทุกแบบเอาไว้ มีทั้งเด็กเรียน เด็กกิจกรรมอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาเพื่อนเลย”
“การเข้ามาเรียนแพทย์ต้องปรับตัวให้ได้ เรียนหนัก อ่านหนังสืออยู่ตลอด เพราะน้องจะเจอกับการสอบตลอด”
“มีวิธีการเรียนที่หลากหลาย ทั้งproblem-based learning และ self-directed learning ทำให้ได้เรียนรู้อย่างรอบด้านมากขึ้น”
และแล้วก็มาถึงคณะแพทย์อีกที่หนึ่งนะคะ ที่ขอพูดตรงนี้เลยว่า ไม่พูดถึงไม่ได้เลย กับคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยที่เรียกได้ว่า มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว กับคณะแพทยศาสตร์ มธ. แห่งนี้นี่เอง!! ถึงแม้ว่าจะเพิ่งครบรอบ 30 ปีไปหมาดๆ แต่ก็ได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมมากมายไม่แพ้ใครเลยทีเดียว ถ้าพร้อมแล้ว ไปทำความรู้จักกับรุ่นพี่ของเราในวันนี้กันเลยดีกว่าจ้า
แนะนำตัวให้น้อง ๆ ฟังหน่อยค่า เป็นรุ่นพี่จากคณะไหน มหาวิทยาลัยอะไรคะ
.
สวัสดีครับน้อง ๆ พี่ชื่อณภัทร รัตนเอกกวิน เรียกกันสั้น ๆ ก็พี่ริวเนอะ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตนะครับ หรือที่เรียกกันก็ แพทย์ มธ. นั่นแหละ
.
ลองแนะนำคณะของตัวเองให้ฟังหน่อยว่าต้องเรียนอะไรบ้าง เจออะไรบ้าง
คือตอนแรกน้องจากอาจจะคิดในใจว่า มธ. มีคณะแพทย์ด้วยหรอ มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่ต้องตกใจนะ ไม่ใช่แค่น้องคนเดียวที่ไม่รู้ พี่เองก็เพิ่งรู้ว่ามี ตอนพี่จะสอบเข้านี่แหละ แถมรู้จากเพื่อนด้วย 5555
คือสิ่งที่น้อง ๆ จะต้องเจอในคณะนี้เอาจริง ๆ ก็คล้าย ๆ กับคณะแพทย์สถาบันอื่นครับ พูดง่าย ๆ ก็คือเรียนเพื่อจะเป็นแพทย์นั่นแหละ ปี 1 น้องก็จะได้เรียนวิชาของมหาลัยเป็นหลัก วิชามหาลัยก็คือพวกวิชาทั่วไป ที่ทางมหาลัยให้บังคับเราเรียน (พูดง่าย ๆ คือไม่เกี่ยวอะไรกับหมอเลย) ยกตัวอย่างเช่น วิชาที่ต้องลงชุมชนแล้วไปคิดโครงการแก้ปัญหาให้กับชุมชนของเขา วิชาเกี่ยวกับความรู้รอบตัวทั่วไป นอกจากนี้ก็มีวิชาที่คณะให้ลง เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แคลคูลัส โดยตอนปี 1 เนี่ย มีการเข้าคณะแทบนับครั้งได้ แต่พอปี 2 เป็นชั้นพรีคลินิกที่ต้องเริ่มเข้าคณะจริง ๆ น้องก็จะมีวงจรชีวิตที่อยู่คณะเกือบตลอดทั้งวัน และก็เรียนวิชาของแพทย์จริง ๆ ซึ่งสำหรับพี่ถือว่าหนักพอสมควรครับ เพราะอาจจะยังไม่ชินกับการที่ต้องเรียนและอ่านหนังสือเยอะ ๆ แต่พอปรับตัวได้แล้ว มันก็ถือเป็นชีวิตปกติที่ต้องเจอไม่ใช่แค่คณะแพทย์นะ แต่ละคณะก็มีความหนักในแบบของตัวเอง ที่น้องเห็นว่าต้องอ่านหนังสือตลอดเวลา ไม่ใช่พวกพี่อยากอ่านกันนะ แต่พวกพี่สอบกันตลอดเวลาต่างหาก5555555 (ล้อเล่นปนความจริงนิดหน่อย) คือชั้นพรีคลินิก(ปี2-3) ที่นี่จะเรียนเป็นบล็อก เช่นกระดูกและกล้ามเนื้อบล็อกนึง สมองบล็อกนึง พอจบ 1 บล็อกก็สอบทีนึง บอกลาไฟนอลกับมิดเทอมได้เลย เราสอบกันถี่กว่านั้นเยอะครับ (หัวเราะ)
.
พี่ริวคิดว่าอะไรถือว่าเป็น Signature ของมหาวิทยาลัย/คณะเราคะ?
.
.
พี่ว่าจุดเด่นของมหาวิทยาลัยนี้คงไม่ต้องพูดเยอะ น้องน่าจะรู้กันดี เพราะที่นี่คือ ดินแดนแห่งเสรีภาพ!! คือที่นี่ให้อิสระมาก ๆ ๆ ๆ อย่างตอนปี1 บางวิชาที่ไม่ได้จำกัดการแต่งตัว น้องสามารถใส่อะไรไปเรียนก็ได้ ไม่จำกัดแค่ชุดนักศึกษา ขอแค่ความสุภาพในระดับนึงก็เพียงพอครับ ส่วนข้อด้านบนพี่เขียนสิ่งที่ต้องเรียนซึ่งอาจจะเหมือนกับที่อื่นไปแล้ว ข้อนี้พี่ขอเขียนสิ่งที่ต่างละกัน คือคณะเราเน้นการเรียนแบบ PBL หรือ problem-based learning ซึ่งเป็นการเรียนจาก case ของคนไข้ โดยจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยกัน แต่ละกลุ่มจะมีโจทย์ปัญหาของคนไข้มา เช่น มาบอกหมอว่ามีอาการอะไรบ้าง หมอตรวจพบอะไรบ้าง ผลแลปบอกอะไรบ้าง จากนั้นจะให้เราลองคิดวิเคราะห์กันในกลุ่ม เพื่อหาข้อสรุปว่าคนไข้คนนี้น่าจะเป็นอะไรซึ่งพี่ว่าน่าสนใจกว่า lecture นอกจากนี้ยังมี self-directed learning (ก็คือช่วงที่ไม่มีทั้ง PBL กับ lecture) เป็นการเรียนวิธีหนึ่งคือการไปศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเองด้วยครับ
.
ทำไมถึงอยากเข้าคณะนี้ รู้ตัวตอนไหน
จริงๆจบตอนม.5 พี่ตั้งใจว่าจะเข้าทันตะ แต่พอผ่านไปแล้ว พี่รู้สึกว่าไม่ใช่ เราน่าจะไปทางหมอมากกว่า คือตอนที่น้องสอบ น้องอาจจะมีปณิธานในการช่วยเหลือชีวิตคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นพี่ขอนำเสนออีกด้านละกันว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ตกงานยาก และมีความมั่งคงที่ค่อนข้างสูงในระดับนึงด้วยครับ
.
มหาวิทยาลัยกับคณะมีกิจกรรมให้เข้าร่วมเยอะมั้ยคะ
.
.
เยอะมาก ๆ ๆ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่น้อง ๆ จะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงปี 1 นั่นแหละครับ รับน้อง แข่งกีฬา ทำค่าย อย่างทำค่ายเนี่ย คณะเราจะมีค่ายที่เรียกว่า “ค่ายสร้าง” ตามชื่อเลยน้อง สร้างหลายอย่างนะ เช่นห้องสมุดตามโรงเรียนในต่างจังหวัด อะไรแบบนี้ ในค่ายก็จะมีหลายฝ่ายให้เลือกทำ เช่นฝ่ายครัวก็ทำอาหาร ฝ่ายสอน ก็จะได้สอนน้อง ๆ ในโรงเรียนในพื้นที่ ฝ่ายสร้าง ก็จะเป็นคนสร้างบ้านดิอเนกประสงค์นั่นเอง
ส่วนกีฬาก็มี 2 ครั้งมีเฟรชชี่เกมส์ที่เราจะแบ่งน้องปี1ตามคณะเป็นสี ๆ แต่ละสีมีประมาณ 3-4 คณะ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีนะ ที่เราจะได้รู้จักเพื่อน ๆ จากต่างคณะ งานกีฬาอีกงานก็คือกีฬา7 เส้า ซึ่งจะแข่งกันเฉพาะสายสุขศาสตร์เท่านั้น มีกีฬาให้เลือกเล่นเยอะเลย เช่น ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล แต่พอน้องขึ้นปีที่สูงขึ้น กิจกรรมก็จะลดลง เพราะต้องแบ่งเวลามาเรียนด้วย แต่ยังมีกิจกรรมให้ทำเหมือนเดิมนะ ซึ่งถ้าให้พิมพ์กิจกรรมทั้งหมด กลัวน้องจะเบื่อซะก่อน เอาเป็นว่าถ้าอยากรู้น้องต้องเข้ามาลองดูเองครับ! 5555
.
พี่ริวมีวิธีการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนกับการทำกิจกรรมยังไงคะ?
มันแล้วแต่เทคนิคกับการคาดหวังของแต่ละคนด้วย ถ้าหวังสูงแล้วก็อาจจะต้องอ่านกันหนักหน่อย ส่วนวิธีการพี่แนะนำได้แค่ว่าเราต้องจริงจัง เล่นก็คือเล่นไปสนุกให้เต็มที่ เรียนก็คือเรียนต้องตั้งใจ โดยเราอาจจะวางแผนก่อนว่าจะจัดสรรเวลายังไงให้เราไม่เครียดจนเกินไป เช่นวันนี้อ่านหนังสือทั้งวัน อ่านอีกก็ไม่เข้าหัวแล้ว ก็ไปพักผ่อนบ้าง หาอะไรอย่างอื่นทำบ้าง
.
ความรู้สึกที่คิดในตอนแรก กับ หลังจากที่ได้เรียนแล้วต่างกันมั้ยคะ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องบรรยากาศในคณะ
.
.
ต่างกับที่คิดไว้มากกกกกก ภาพในหัวตอนแรกคือคณะแพทย์ ทุกคนต้องใส่แว่นหนา ๆ ถือหนังสือ พูดภาษาอะไรไม่รู้เรื่องตลอด แต่ผิดถนัดเลย ทุกอย่างคือเหมือนน้องอยู่คณะอื่น ๆ ปกติ มันก็จะมีคนที่เรียนเก่ง มีคนเป็นนักกิจกรรม มีคนแทบทุกแบบ ตอนแรกพี่คิดว่าพี่จะหาเพื่อนยากแล้ว แต่เอาเข้าจริง ๆ มันก็เหมือนการย้ายโรงเรียนเลย เจอคนใหม่เฉย ๆ ส่วนเรื่องเรียนก็ตามสภาพครับน้อง555 หนักหน่วงอยู่นะ ไม่มีง่าย ๆ สบาย ๆ ที่แบบไม่ต้องอ่านเยอะก็สอบผ่าน ต่างจากตอนอยู่โรงเรียนแล้วก็ปี1 แน่นอน แต่ก็ตามแบบฉบับของแพทย์แหละไม่ว่าที่ไหนก็หนักทั้งนั้น ถ้าถามว่าต่างจากที่คิดไว้มั้ย ก็ประมาณนึงแต่ไม่มากเท่าไหร่ เพราะตอนที่ฟังจากรุ่นพี่มาก็มีเตรียมใจมาบ้างแล้ว55555555 ส่วนความเครียดก็มีบ้างเป็นธรรมดาครับ
.
เรามองอนาคตไว้ยังไงบ้าง อยากเรียนต่อไหม หรือว่ามองด้านอาชีพเลย
ก็น่าจะเรียนต่อเฉพาะทางให้จบแต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิดไว้เลย ว่าจะต่อเฉพาะทางด้านไหน ตอนนี้ต้องเอาเป้าหมายระยะสั้นคือเรียนให้จบก่อน การไปเรียนเฉพาะทางค่อยคิดเมื่อเราเจอทางที่ชอบในอนาคตครับ
.
มีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจอยากเข้ามาเรียนคณะเดียวกับเรามั้ยคะ
ขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ พี่อยากบอกว่าแม้ว่าสอบเข้ามันจะหนักขนาดไหน เมื่อเราเข้ามามันจะหนักขึ้น แต่อยากให้ทุกคนสู้ ๆ อย่ายอมแพ้ ไม่อยากให้คิดว่ามันหนักแล้ว ไม่อยากเรียน อย่างที่บอกไปว่าทุกคณะมันก็หนักในแบบของตัวเองอยู่แล้ว สุดท้ายพี่ก็ขอฝากคณะนี้ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจน้อง ๆ ด้วย ขอให้น้องทุกคนโชคดีครับ