“อยากเป็นหมอ!! แต่เป็นหมออะไรดีนะ?” เช็กความต่างของคณะแพทย์ ทันตะ เภสัช สัตวแพทย์
อยากเป็นหมอ แต่กำลังสับสนว่าจะเลือกเรียนหมอคณะไหนดีนะ…หมอ vs หมอฟัน vs หมอยา vs หมอหมา ดูเหมือนจะคล้าย แต่จริง ๆ ไม่คล้ายกันเลย! วันนี้พี่เลยจะมาเปรียบเทียบ 4 คณะสายหมอ ให้ (แพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์, เภสัชศาสตร์) ว่าจริง ๆ แล้วแต่ละคณะเรียนเกี่ยวกับอะไร และต่างกันยังไง ลองมาดูกันเลย!!!
คณะแพทยศาสตร์
“แพทย์ไม่ได้มีตารางเรียนแบบทั่วไป แต่เราเรียนทีละวิชา ต้องจบวิชาแรกก่อนถึงจะต่อวิชาต่อไปได้”
นิยามของอาชีพหมอ
หมอ คือ ผู้ดูแล ช่วยบริการบำบัดฟื้นฟู ช่วยให้คำปรึกษาสุขภาพอย่างถูกต้อง และรอบคอบทั้งด้านการวินิจฉัยโรค และการักษาอาการเจ็บป่วย หรือการรักษาโรคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากอาการผิดปกติของร่างกาย
เรียนเกี่ยวกับ
การเรียน ปี 1 จะเป็นการปรับพื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ทางการแพทย์) แต่จะเป็นพื้นฐานที่ลงลึกมากกว่าช่วงม.ปลาย ปี 2 เริ่มเข้าบทเรียนทางการแพทย์ ในเรื่องของโครงสร้างทางร่างกาย และระบบต่าง ๆ ในปี 3 จะเรียนเรื่องสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ รวมถึงมีการสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 1 พอขึ้นปี 4 จะไม่ได้มีแค่การเรียน แต่จะเริ่มเข้าวอร์ดและในแต่ละวอร์ดจะมีเนื้อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของปี 5 จะคล้ายปี 4 ในเรื่องของการวนวอร์ด สลับไปเรื่อย ๆ แต่จะเป็นวอร์ดที่ไม่มีในปี 4 และยากขึ้น ได้อยู่ในสถานการณ์กับคนไข้จริง ๆ รวมถึงเป็นผู้ช่วยอาจารย์หมอเพิ่มขึ้น เช่น การเย็บแผลทำคลอด แต่ที่สำคัญ…หลังเรียนจบปี 5 ช่วงนี้ยังต้องเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 2 ด้วย เป็นการสอบความรู้ในชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่ได้เรียนมา ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ และในปีสุดท้าย ปี 6 เป็นปีที่จะได้ทำทุกอย่างเหมือนแพทย์แต่จะมีอาจารย์หมอดูแล และเมื่อเรียนจบต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ขั้นที่ 3 (ขั้นสุดท้าย) แต่เป็นการสอบแบบออสกี้ (OSCE) ซึ่งเป็นการสอบปฏิบัติแบบมีเสียงกริ๊งกำหนดเวลา มีทั้งหมด 30 ฐาน
คณะทันตแพทยศาสตร์
“ใครว่าทันตะเน้นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ศิลป์เราก็ต้องได้นะ”
นิยามของอาชีพหมอฟัน
หมอฟัน คือ ผู้ที่ตรวจ รักษาโรค และคอยให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับช่องปากด้านศัลยกรรม มีทั้งด้านศิลปะและด้านการแพทย์ควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากความทรมานในช่องปาก
เรียนเกี่ยวกับ
ทันตแพทย์ไม่ได้เรียนเฉพาะอวัยวะในช่องปาก แต่ต้องเรียนพื้นฐานของวิชาแพทย์ให้จบก่อน จึงจะสามารถเรียนในเรื่องของทันตแพทย์ได้
การเรียนปี 1 จะเรียนพื้นฐานด้านวิทย์ คณิต และสังคมทั่วไป อาจต้องเรียนรวมกับคณะอื่น ๆ เพื่อเป็นการปรับพื้นฐานด้านวิชาการที่ลงลึกกว่าช่วยม.ปลาย แต่จะมีบางวิชาที่เริ่มแทรกเนื้อหาของทันตแพทย์เข้ามาด้วย เช่น เรื่อง wave length แรงตึงผิวก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสตร์ของทันตแพทย์ ขึ้นปี 2 จะเข้าวิชาด้านการแพทย์มากขึ้น เริ่มมีวิชาวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ และทันตแพทย์ ในปี 3 จะได้เรียนวิชาคลินิก ก่อนฝึกปฏิบัติจริง เน้นการฟังบรรยายและปฏิบัติ เพื่อฝึกก่อนทำจริง ปี 4 เริ่มมีการรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น ลงคลินิกภาคสนามในส่วนของชุมชน ปี 5 ได้เข้าสู่การทำงานจริงในคลินิก รวมถึงอาจได้ลงภาคสนามในงานทันตกรรมโรงเรียน และมีการทำโครงงานด้านทันตกรรมด้วย ขึ้นอยู่กับการเก็บหน่วยกิตของทางมหาวิทยาลัย และปีสุดท้าย ปี 6 เทอมแรกส่วนใหญ่จะได้อยู่ในคลืนิก ฝึกงานด้านการดูแลผู้ป่วย และในด้านต่าง ๆ ในเทอมสุดท้าย จะได้เข้าสู่โรงพยาบาลหรือเข้าชุมชนอย่างจริงจัง
คณะเภสัชศาสตร์
“เภสัชเป็นด่านแรกของการให้คำปรึกษาผู้ป่วย นอกจากยาที่ต้องรู้แล้ว การให้คำปรึกษาเราก็ต้องได้”
นิยามของหมอยา
ด้านการผลิด เป็นผู้คอยศึกษาค้นคว้า และควบคุม ในการผลิตยา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน
ด้านคลินิก เป็นเหมือนด่านแรกที่จะคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่มาซื้อยา จะต้องวินิจฉันโรคจากอาการพื้นฐานเพื่อแนะนำตัวยาที่เหมาะสมกับอาการผู้ป่วย และคอยให้คำแนะนำด้านวิธีใช้อย่างถูกต้อง
การเรียน
จะแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายการผลิต (สาขาวิชาเภสัชศาสตร์) และสายคลินิก (สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม) จะต่างกัน ดังนี้
- สายการผลิต (สาขาวิชาเภสัชศาสตร์) เน้นการผลิตยา การศึกษาตัวยา การควบคุมคุณภาพ และการค้นคว้าหาตัวยาใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะทำในโรงงานอุตสาหกรรม หรือศูนย์วิจัย
- สายคลินิก (สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม) เน้นการใช้ตัวยาอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับผู้ป่วย การให้คำปรึกษาในการทานและใช้ยา เป็นเสมือนด่านแรกของการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย
ปี 1 – 2 เป็นการเรียนเพื่อเตรียมเข้าเนื้อหาด้านเภสัชศาสตร์ จะเน้นพื้นฐานทั่วไปที่ลงลึกกว่าตอนม.ปลาย ไม่ว่าะเป็นด้านวิทย์พื้นฐาน วิทย์ชีวภาพ คณิต สังคม ภาษา ปี 3 – 4 เข้าสู่เนื้อหาของเภสัชศาสตร์มากขึ้น โดยจะต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ชีวเภสัชศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา สาธารณสุข หลักในการเกิดโรค และจุลชีววิทยา นอกจากการเรียนทฤษฎี และปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีการฝึกงานด้วย และในปี 5 – 6 จะมีการเรียนการสอนที่เน้นปฏิบัติลงลึกมากขึ้น เพื่อนำความรู้ไปใช้ปฎิบัติงานจริง
คณะสัตวแพทย์
“สัตวแพทย์ ไม่ได้ดูแค่เรื่องของน้องหมากับน้องแมว แต่เราต้องรู้เรื่องของน้องทุกชนิด ”
นิยามของหมอสัตว์
เป็นผู้ตรวจ วินิจฉัยโรค รวมถึงการรักษาอาการบาดเจ็บของสัตว์ต่าง ๆ ที่มีความผิดปกติของร่างกายอย่างสุดความสามารถ ทั้งในด้านของการใช้ยา ผ่าตัด การค้นหาข้อมูล รวมถึงการป้องกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
การเรียน
ปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐานวิชาทั่วไปที่ลงลึกกว่าตอนม.ปลาย ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษที่ใช้กับสัตวแพทย์ ปี 2 และ ปี 3 จะเข้าสู่วิชาสัตวแพทย์มากขึ้น การเรียนสัตวแพทย์ที่ต้องดูแลสัตว์ได้ทุกรูปแบบ เช่น ม้า วัว หมู ปลา งู แต่เราจะเน้นศึกษาของหมาและแมวมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งเจอเคสได้ยาก และจะมีวิชาที่ลงลึกมากขึ้น เช่น จุลกายวิภาควิทยา, หลักสัตวบาล ในปี 4 – 5 จะก้าวเข้าสู่วิชาสัตวแพทย์อย่างเต็มตัว มีการเรียนทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ ในด้านการดูแลรักษาเคสต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การทำงานจริง ในช่วงปี 6 จะได้รับเคสในสถานการณ์จริง การรับมือจากการฝึกงานในการรักษา และวินิจฉัยอาการของจริง
หลังจากอ่านแล้วน้อง ๆ มีความคิดเห็นยังไงกันบ้างกับความต่างของ 4 อาชีพหมอ ทั้งด้านอาชีพและการเรียนที่มีความเหมือน และแตกต่างกัน แต่อย่าลืมความ พื้นฐานของความเป็นหมอคือ น้อง ๆ จะต้องมีใจรักในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีปัญหา รวมถึงต้องมีทักษะที่ไม่หยุดพัฒนาและศึกษาความรู้เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอน รวมถึงหน่วยกิตอาจขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยกำหนดหลักสูตรในการเรียน เพื่อความถูกต้อง น้อง ๆ ควรเช็กรายละเอียดด้านหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ สนใจ อย่าลืมล่ะ!!!
สุดท้าย..ถ้าน้อง ๆ อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมแบบแน่น ๆ กว่านี้..ต้องมางาน TCASter Talk กับทีมบ้านสายหมอ งานมหกรรมแนะแนวครั้งใหญ่ พี่แชร์ให้ไม่มีกั๊ก!! น้อง ๆ จะได้ร่วมพูดคุย แชร์หลักสูตร การเรียน การทำงานที่เป็นปัจจุบัน กับผู้พูดที่ทำงานสายนี้โดยตรง!! อย่าพลาดที่จะมาแลกเปลี่ยนความรู้ ไขข้อสงสัยต่าง ๆ ที่น้อง ๆ มีกับคณะที่สนใจ มาเจอกันได้ที่งาน TCASter Talk !!!
สามารถติดตามข่าวสาร
และสำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ลองมาเตรียมความพร้อมไปพร้อม ๆ กันได้จากที่นี่เลย เตรียมสอบ TCAS65 หรืออยากหาโจทย์เก่า ๆ ทำเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ก็เข้ามาที่นี่ได้เลยน้าา คลังข้อสอบ แล้วมาฝึกทำข้อสอบไปพร้อม ๆ กันนะ