fbpx

เจาะลึกคณะวิทยา เอกชีววิทยา มศว ที่ไม่ได้มีดีแค่ในห้องแล็บ

 เจาะลึกคณะวิทยา เอกชีววิทยา มศว ที่ไม่ได้มีดีแค่ในห้องแล็บ

” คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา ของมศว จะแบ่งสายการเรียนหลัก ๆ เป็น 2 สาย คือ สายพืชและสัตว์ ซึ่งเมื่อน้อง ๆ เข้ามาก็จะต้องเรียนพื้นฐานเหมือนกันหมด ก่อนจะลงลึกในแต่ละสายที่เราได้เลือกไว้ในชั้นปีถัดไป “

” จุดเด่นของคณะวิทย์ฯ ที่มศว คือจะมี 2 หลักสูตร ทั้งวิทยาศาสตร์บัณฑิต และ หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต “

” คณะวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องแล็บ สาขาชีววิทยาของ มศว เมื่อน้อง ๆ ได้เข้ามาเรียนจะมีการออกไปเก็บตัวอย่างนอกสถานที่ บางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมการเรียนนอกสถานที่ “

 

น้อง ๆ คนไหนที่ยังคงสับสนในเส้นทางของตัวเอง ยังไม่กล้าตัดสินใจว่าจะเข้าคณะไหน หรือมีคำถามสงสัยว่า คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรนะ?  วันนี้ทาง TCASter จึงได้ชวนรุ่นพี่ในคณะต่าง ๆ มารีวิวเจาะลึก เพื่อช่วยให้น้อง ๆ ได้เห็นภาพคณะต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเราจะเชิญรุ่นพี่ตัวจริง มาแชร์เรื่องราวกันแบบกันแบบ Exclusive

โดยวันนี้ เราจะเริ่มจาก “คณะวิทยาศาสตร์” คณะที่อาจกำลังเป็นเป้าหมายของใครหลาย ๆ คน โดยรุ่นพี่คนแรกที่เราจะสัมภาษณ์กันวันนี้ มีดีกรีเป็นถึงเดือนคณะ! ถ้าน้อง ๆ อยากรู้แล้วว่าเขาเป็นใคร มาฟังบทสัมภาษณ์ของพี่เขากันเลยดีกว่า!

 

อยากให้แนะนำตัวกับน้อง ๆ สักหน่อย

สวัสดีครับ พี่ชื่อ ท็อป เรียนอยู่คณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ครับ

ถ้าย้อนกลับไปช่วงม.ปลาย เรารู้ตัวเมื่อไหร่ว่าอยากเข้าคณะนี้

เอาจริง ๆ คือ เพิ่งรู้ตัวตอนม.6 เพราะ ก่อนหน้านี้เราก็อยากเรียนหลายอย่างมาก เปลี่ยนใจจริง ๆ ก็แทบปีสุดท้าย จนสุดท้ายก็เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะเราก็เรียนสายวิทย์ ฯ มาก่อน ยังไม่อยากทิ้งความรู้ไป แล้วที่สำคัญเลย ตอนเรียนมัธยมเราก็ชอบวิชาชีววิทยาอยู่แล้ว เลยอยากเรียนที่ลงลึกมากขึ้น เพราะ โลกเราถือว่ามีสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจอยู่อีกมาก 

สาขาชีววิทยา เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

สาขาชีววิทยาจะเรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต คือ เรียนตั้งแต่โครงสร้างของเซลล์จนถึงอวัยวะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงระบบการทำงาน และคุณสมบัติต่าง ๆ ทั้งหมด ซึ่งสาขาชีววิทยาของมศว จะแบ่งสายในสาขาอีก โดยจะแบ่งหลัก ๆ เป็น 2 สาย คือ สายพืช และสายสัตว์ หรือถ้าจะแบ่งย่อยจากสาย ๆ ก็แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาสัตววิทยา กลุ่มวิชาพฤกษศาสตร์ กลุ่มวิชานิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิชาพันธุศาสตร์และชีววิทยาโมเลกุล และพอน้อง ๆ เข้ามา ในปีแรกทุกคนจะเรียนพื้นฐานด้วยกันก่อน หลังจากนั้นก็สามารถเลือกเรียนสาขาได้ตามความชอบ โดยจะมีอาจารย์คอยแนะนำอยู่ตลอด

ถ้าอยู่ในสาขาชีววิทยาต้องเรียนพวกฟิสิกส์ เคมี ไหม?

แน่นอนว่าอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ ถึงจะเรียนสาขาชีววิทยา ก็ต้องเรียนทั้งฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ เพราะ วิชาเหล่านี้เหมือนเป็นวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์…แต่ว่า ก็จะไม่ได้เรียนลงลึกเหมือนที่เรียนในสาขาวิชาของตัวเองขนาดนั้น เหมือนแค่ให้เราพอรู้เนื้อหาพื้นฐานของวิทยาศาสตร์แค่นั้นเลย

 

อยากให้พี่ท็อปช่วยยกตัวอย่างวิชาในสาขาชีววิทยาที่น้อง ๆ ต้องเจอจริง

วิชาที่น้อง ๆ ต้องเจอแน่ ๆ เลย คือ Microtechnique Anatomy and Physiology จะเรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่เซลล์จนถึงอวัยวะของสิ่งมีชีวิตเลย วิชานี้จะเจอทั้งเลคเชอร์ แล้วก็แล็บ เลคเชอร์เราจะเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต รวมถึงการเก็บตัวอย่างด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วค่อยเอาความรู้ที่ได้มาใช้ในแล็บคลาสต่อไป หรือในบางคลาส เราก็มีการออกไปเก็บตัวอย่างนอกสถานที่ด้วย เพื่อเอาไว้ใช้ในแล็บ 

คณะวิทย์ฯ นี่เห็นเขาบอกกันว่าต้องทำแล็บเยอะจริงไหม ยกตัวอย่างแล็ปที่ต้องทำให้ฟังหน่อย

แล็บจะเจอมากกว่าตอนม.ปลาย แต่ไม่ได้เยอะมาก ต่างตรงที่จะเรียนลึกกว่า เช่น แล็บ Microtechnique หลักจากเรียนเลคเชอร์แล้ว เราจะเอาเนื้อหาที่เรียนมาปรับใช้ในแล็บ หลังจากที่เราทำการเก็บตัวอย่างด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การดอง การตัดเนื้อเยื่อบางด้วยเครื่องไมโครโทม แล้วเราก็จะศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ เกี่ยวกับอวัยวะ และองค์ประกอบของเนื้อเยื่อ

เห็นว่า..หลักสูตรของคณะวิทย์ ที่มศว เขาแบ่งเป็น 2 หลักสูตรด้วยใช่ไหม

ใช่ครับ..หลักสูตรของคณะเราจะไม่เหมือนที่อื่น คือ มี  2 หลักสูตรในคณะเดียวกัน ทั้งหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต หรือเราจะเข้าใจว่าเป็นคนที่เรียนครู โดยทั้งสองหลักสูตรนี้ จะเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยาด้วยกัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยอื่น ก็น่าจะมีคณะแยกออกไป แต่ที่นี่คนที่เรียนครูวิทยาศาสตร์ ก็มาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ด้วยกันเลย ซึ่งอาจทำให้สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นมากขึ้น

การที่เราเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ แล้วเป็นการเรียนแบบวิทย์ ฯ แบบเพียว ๆ เลยคิดว่าจะหางานทำยากไหม

จริงอยู่ที่การเรียนสาขาชีววิทยา จัดเป็นวิทยาศาสตร์แบบเพียว แต่จริง ๆ แล้วสามารถปรับใช้ได้หลายวิชาชีพ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราเลยว่าเราอยากทำแนวไหน ซึ่งหลัก ๆ ถ้าจบไปแล้วสามารถไปทำงานตามแลปของโรงพยาบาลได้ หรืออาจไปตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งก็มีเยอะ และหลากหลาย เช่น ช่างเทคนิคชีวภาพ นักชีวเคมี ผู้เชียวชาญด้านสุขภาพ ผู้ให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล 

พูดเรื่องเรียนกันมาเยอะแล้ว..คราวนี้เราอยากมาคุยถึงกิจกรรมของคณะ / มหาวิทยาลัยกันบ้าง ที่นี่มีกิจกรรมเยอะไหม แล้วเราได้เข้าร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมเยอะมาก เริ่มแรกทุกคนที่เข้ามาเป็นเฟรชชี่คงหนีไม่พ้นการรับน้อง ซึ่งมีทั้งรับน้องในสาขาวิชา รับน้องที่เป็นรวมคณะ และใหญ่สุดคงจะเป็นรับน้องทั้งมหาวิทยาลัย หรือเราจะเรียกว่าอัตลักษณ์ แล้วพอเปิดเทอมก็จะมีพวกกิจกรรมตามวันสำคัญ เช่น วันไหว้ครูที่ต้องทำพานประกวด วันลอยกระทง แต่บางกิจกรรมก็ขึ้้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคน

ได้ข่าวว่าตอนปี 1 เป็นเดือนคณะวิทยาศาสตร์ด้วย มีวิธีในการแบ่งเวลาระหว่างการเรียนกับกิจกรรมยังไงบ้าง

ใช่ครับ ซึ่งเป็นกิจกรรมก่อนเปิดเทอม เลยไม่ได้กระทบต่อการเรียนเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เรารู้จักเพื่อนต่างคณะ รวมถึงรู้จักรุ่นพี่มากขึ้นด้วย ในส่วนของกิจกรรมที่มีในช่วงเริ่มเรียนแล้ว ด้วยความที่เราเป็นคนแบ่งเวลาเรียนกับเวลากิจกรรมได้ชัดเจนอยู่แล้วด้วย แต่ถ้ามีกิจกรรมเข้ามาขัดการเรียน แน่นอนว่าเราก็ต้องเลือกแบ่งความสำคัญให้ถูกต้อง ต้องรู้จักจัดเวลาให้ดี

สุดท้ายมีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยาบ้าง?

อยากฝากถึงน้อง ๆ ว่าคณะนี้ถ้าเป็นคนที่สนใจจริง ๆ หรือถ้ามันเป็นความชอบของเรา มันก็ไม่ยากเกินความสามารถหรอก การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ คณะวิทยาศาสตร์จากสายตาคนภายนอกที่มองเข้ามาอาจคิดว่าเรียนจบแล้วหางานทำยาก แต่เมื่อเข้ามาเรียนจริง ๆ น้อง ๆ จะเห็นโอกาสมากมายจากรุ่นพี่ และอาจารย์ที่แนะนำมา ถึงแม้ว่าตอนนี้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ไทยอาจะยังไม่ได้รับการสนันสนุนที่ดีพอ แต่ในอนาคตพี่คิดว่าวิทยาศาสตร์ไมใช่เรื่องไกลตัวคงได้รับการสนันสนุกที่มากขึ้นแน่นอน

 

ขอบคุณภาพจาก
IG : Jewmaruay
IG : h15.jpeg

kat pari

pari

Related post