#TCASterชวนน้องรีวิว (เพชร) วิศวกรรมเคมีจุฬาฯ ติดรอบ 3
กว่าพี่เพชรจะสอบติดวิศวะจุฬาได้ เค้าทำอย่างไรบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร ไปอ่านบทสัมภาษณ์นี้กันเลยครับ
1. แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อยซิ
“ผมนายสุชน วิศวะเคมีจุฬาฯ ครับผม”
สวัสดีครับ ชื่อ นายสุชน ตันบรรจง ชื่อเล่น เพชร จบการศึกษาจากโรงเรียมเตรียมอุดมศึกษา สายวิทย์-คณิต(บริหาร) ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 ภาควิศวกรรมเคมี ในการสอบเข้าติดภาคภาษาไทยรอบการรับตรงร่วมกัน TCAS รอบ 3 และติดภาคอินเตอร์ (NANO) TCAS รอบ 2
2. รู้ตัวได้ยังไง ว่าอยากเรียนวิศวะ (อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจ/สิ่งที่ทำให้ค้นพบตัวตน)
“ลองมาดูงานวิศวะก่อน ให้ได้รู้จริงๆว่า วิศวะเขาทำอะไร
แล้วถึงได้รู้ใจตัวเอง”
OPEN HOUSE คือคำตอบครับ ตอนนั้น ม.4 ได้ลองมาดูงาน OPEN HOUSE ของจุฬา พบเจอกับรุ่นพี่วิศวะ ฟังพี่ๆพูดแนะนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเรียน อย่างต้องเรียนอะไรบ้าง หรือเกี่ยวกับอาชีพว่าจบไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง สำหรับเราตอนนั้นทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิศวะดูน่าสนใจมากๆ ไม่มีอะไรที่ทำให้เราเบื่อได้เลย กิจกรรมที่ให้ลองทำก็ประทับใจเรา จุดนี้ ทำให้รู้ตัวเลยว่า เนี่ยแหละ วิศวะ คือสิ่งที่เราชอบ เราชอบความการทำงานเป็นระบบ มีขั้นตอนแบบแผน วิชาที่ต้องเรียนก็ไม่น่าเบื่อ ดูน่าสนุก และต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอด เราจึงตัดสินใจจะเข้าวิศวะตั้งแต่ตอน ม.4
3. ทำไมต้องเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์
“วิศวะไม่ใช่ว่าต้องชอบเลข ฟิสิกส์ ถึงจะเรียนได้
ต้องมีใจรัก รักในความเป็นวิศวะมากกว่า”
วิศวะตอบโจทย์ความเป็นตัวตนของเรา 4 อย่าง คือ เราเป็นคนชอบเทคโนโลยี เราชอบการสร้างการพัฒนาของต่างๆ เราชอบการทำงานอย่างเป็นระบบ และชอบการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีที่ง่ายแต่ชาญฉลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ล่ะ ที่ทำให้วิศวะตอบโจทย์ความเป็นเรา และที่สำคัญ วิศวฯ ไม่ได้สอนแค่วิชาความรู้เท่านั้น แต่ยังสอนไปถึงการใช้ชีวิตและการทำงานที่หาจากที่อื่นไม่ได้อีกด้วย และการเรียนวิศวะไม่ใช่ว่าคนที่ชอบเลขชอบฟิสิกส์ถึงจะเรียนได้ หรือคนเรียนวิศวะต้องชอบวิชาคำนวณเสมอไป หากมีใจชอบความเป็นวิศวะจริงๆก็สามารถเรียนได้ ไม่เกี่ยวกับตัววิชา
4. เล่าประสบการณ์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาซิ!
“เตรียมตัวไม่มาก แค่ทำโจทย์อย่างดุเดือดแค่นั้นเอง”
เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัว เราใช้เวลาเตรียมตัวรวมๆ ประมาณ 1 ปีเต็มๆ ในช่วงแรกๆ อาจจะมีบ้างที่อ่านบ้างเล่นบ้าง ไม่ได้รีบร้อนเท่าไหร่ ค่อยๆ อ่านทบทวนเนื้อหาไป แต่พอเหลือเวลาประมาณ 6 เดือน เราก็เริ่มอ่านหนังสือหนักขึ้นมากๆ ทำโจทย์แบบดุเดือด ส่วนที่ทบทวนเนื้อหาก็ค่อนข้างครบแล้ว และโดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้าย อ่านหนังสือแทบจะตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ ทำโจทย์เยอะมากๆๆ หยิบเอาข้อสอบเก่ามาฝึกทำ และจับเวลาทำจริงด้วย
5. ระหว่างทางเตรียมตัวสอบ ช่วงเวลาไหนยากที่สุด! ลองเล่าอุปสรรคที่เจอมาให้ฟังหน่อย
“ดูแลอารมณ์ความรู้สึกตัวเองให้ดี สติ สมาธิ สำคัญ!”
ยากสุดคือช่วงก่อนสอบประมาณ 1 อาทิตย์ ตอนนั้นใกล้สอบมากๆ แล้ว เป็นช่วงเวลาที่กดดันสุดๆ เพราะปีที่สอบก็เป็นปีที่มี TCAS ปีแรก และมีการสอบ GAT-PAT แค่ครั้งเดียวไม่มีรอบแก้ตัว บางครั้งทำโจทย์ไม่ได้ก็จะรู้สึกเซ็งๆ รวมถึงในตอนนั้นทุกคนก็เครียดและเตรียมตัวกันหนักมากด้วย แต่ต้องมีสติและสมาธิ สุดท้ายก็ผ่านช่วงนั้นมาได้
6.เพื่อน กิจกรรม การใช้ชีวิต ในรั้วมหาลัยเป็นยังไง
“ชีวิตมหาลัย ชีวิตอิสระ คิดให้รอบคอบ แบ่งเวลาให้เป็น เรื่องพวกนี้ไม่ง่ายเลย”
ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ เยอะมาก เจอเพื่อนหลากหลาย แต่ทุกคนเฟรนลี่และเข้ากันได้ด้วยดี กิจกรรมก็มีเยอะมากขึ้นมาก เมื่อเทียบกันตอนม.ปลาย ซึ่งเราก็ทำเยอะมากๆเหมือนกัน ต้องแบ่งเวลาให้เป็น เดือนนึงทำกิจกรรมอีกเดือนนึงต้องอ่านหนังสือ การใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยค่อนข้างอิสระ จะทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ดีเหมือนกัน ต้องคิดให้ดีให้รอบคอบก่อนการทำอะไรสักอย่าง เพราะเวลาจะทำอะไร ต้องใช้เวลาเยอะ จึงไม่ง่ายเลยสำหรับกิจกรรมและการเรียนในมหาลัย
7. ขึ้นชื่อว่าคณะวิศวะ เรียนหนักมาก! เคยเจอประสบการณ์การเรียนแบบหนักหน่วงบ้างมั้ย และข้ามผ่านมันมาได้ยังไง?
“ที่ผ่านมาทำได้ไม่ดี ให้ถือเป็นประสบการณ์ ทุ่มเท เริ่มใหม่ เก็บทุกจุด สุดท้ายผลเกินคาด”
เรียนหนักจริง เพราะมหาลัยเป็นการสอบ 100% แบ่งเป็นกลางภาค 50 ปลายภาค 50 ซึ่งในตอนนั้นวิชาฟิสิกส์ขึ้นชื่อเรื่องความยากอยู่แล้ว เราทำได้ไม่ดีในกลางภาค ซึ่งหลายคนก็ตัดสินใจถอนกันไป แต่เราสู้ต่อโดยอย่าไปยึดติดกับอดีต อย่ากลัวว่าในอนาคตจะทำไม่ได้ ตอนนั้นอาจทำได้ไม่ดีก็ถือเป็นประสบการณ์ ก็มาแก้มือใหม่ปลายภาค ไม่ยอมแพ้และทุ่มเทอ่านหนังสือหนักขึ้น ฝึกโจทย์ให้มากขึ้น ตรงไหนไม่เข้าใจต้องไม่ปล่อยผ่าน สุดท้ายตอนปลายภาคก็ทำได้ และได้คะแนนออกมาดีมาก
8. เส้นทางอาชีพหลังเรียนจบจะเป็นอย่างไร?
“ทางของวิศวะ ไปได้หลากหลาย เลือกเองได้เต็มที่!”
สามารถทำงานได้หลากหลายมากๆ ทั้งการทำงานทางตรงเป็นวิศวะ ซึ่งต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ หรือจะเรียนต่อด้านวิศวะต่อก็ทำได้ หรือจะต่อทางด้านการบริหาร รวมถึงการทำธุรกิจก็ทำได้
9.มีอะไรอยากฝากถึงน้องๆ บ้าง?
“เนื้อหาม.ปลายต้องใช้ คณิต ฟิสิกส์ อังกฤษ สำคัญ!”
พยายามใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด สำหรับการเตรียมตัวและอ่านหนังสือเพราะสอบรอบนี้มีแค่โอกาสเดียวพลาดแล้วพลาดเลย ตอนเตรียมตัวให้เน้นไปทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์และภาษาอังกฤษ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งในช่วงที่มีเวลาจำกัด ต้องฝึกอยู่กับความกดดันได้โดยที่ยังทำงานออกมาได้ดี รวมถึงความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเรียนวิศวะ ลองฝึกคิดให้นอกกรอบและน่าสนใจ
และที่สำคัญในช่วงแรกๆ ของการเรียนวิศวะ ต้องใช้เนื้อหาม.ปลายเป็นพื้นฐานอยู่มาก ทั้งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ทิ้งไม่ได้เลยครับ