fbpx

CHECKLIST 5 ข้อ! ที่น้องๆต้องรู้ก่อนเลือกคณะ/สถาบัน

 CHECKLIST 5 ข้อ! ที่น้องๆต้องรู้ก่อนเลือกคณะ/สถาบัน

น้องๆคงทราบกันดีว่า ”ถ้าเราทำคะแนนได้มาก ยิ่งมีโอกาสสอบติดมากขึ้น” แต่สำหรับการเลือกคณะ/สถาบัน ดูแค่ผลคะแนนที่เราทำได้อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ อาจต้องพิจารณาข้อมูลในส่วนอื่นเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบติดมากขึ้น ข้อมูลที่เป็นตัวช่วยชั้นดีที่ช่วยน้องๆตัดสินใจได้ดีขึ้น มีอะไรบ้าง? มาดูกันครับ

1. คุณสมบัติในการสมัคร

ถ้าขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งไม่ครบตามที่สถาบัน กำหนดก็สมัครไม่ได้นะครับหรือถ้าต่อให้น้องสมัครและยื่นคะแนนไปได้ในช่วงแรก พอไปถึงขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ พบว่ามีคุณสมบัติไม่ครบตามที่ ม. กำหนด อาจตกสัมภาษณ์ชนิดแบบไม่ได้สอบด้วยซ้ำ

ตัวอย่างคุณสมบัติที่สถาบันกำหนดให้เห็นกันบ่อยๆเช่น ระดับวุฒิ , แผนการเรียน , ผลการตรวจร่างกายหรือทักษะพิเศษอื่นๆ ถ้าไม่มั่นใจในการสมัครควรโทรไปสอบถามจากสถาบันโดยตรงนะครับ

2. จำนวนที่เปิดรับสมัคร 

จำนวนที่เปิดรับ (ที่นั่ง) สามารถทราบได้จากระเบียบการที่สถาบันประกาศ ถ้ารู้จำนวนผู้สมัครได้ด้วยยิ่งดี (แต่หลายสถาบันอาจไม่ประกาศ) ถ้าคณะที่เราสนใจเปิดรับ (ที่นั่ง) มากกว่าปีที่แล้วก็เป็นเรื่องดีครับ (โอกาสที่จะติดมีมากขึ้น) แต่ถ้ามองในอีกแง่ เพื่อนๆคนอื่นก็อาจทราบข้อมูลเช่นเดียวกันทำให้สุดท้ายแล้วอาจมีคนสนใจสมัครมากกว่าปีก่อน

อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆหลายคนคงอยากถามว่าแล้วจะทำยังไงดี? แนะนำว่าควรพิจารณาข้อมูลส่วนอื่นเพิ่มเติมจากข้อนี้ จะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นครับ

3. ผลคะแนนที่ใช้คัดเลือก

ควรทราบว่าใช้วิชาไหนบ้างและกำหนดค่าน้ำหนักคะแนนเท่าไหร่?  เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกของปีที่แล้วกับปีนี้ เหมือนหรือต่างกันไหม? ถ้าใช้คะแนนต่างจากปีที่แล้ว มันมีความยากขึ้นหรือง่ายกว่าเดิม

เช่น เดิมปีที่แล้ว คณะ A ใช้ PAT1 20% และ GAT 80% แต่ปีนี้ปรับเป็นใช้ PAT1 40% และ GAT 60% ถ้าเป็นดังตัวอย่างนี้ ผลคะแนนเฉลี่ยรวมอาจลดลงจากปีก่อน (เพราะ PAT1 ยาก) เป็นต้น

อีกข้อที่สำคัญหลายคณะอาจ ”กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ” ในวิชานั้นๆไว้ด้วย ถ้าทำคะแนนได้ไม่ถึง ขาดไปเพียงคะแนนเดียวก็หมดสิทธิ์ยื่นครับ ต่อให้ยื่นได้ยังไงก็ไม่ผ่านการคัดเลือกอยู่ดีเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

4. สถิติผลคะแนนสอบย้อนหลัง

สามารถบอกถึงภาพรวมของคะแนนสอบในสนามนั้นๆได้ เช่น คะแนนเฉลี่ย, ช่วงคะแนน, คะแนนต่ำสุดและสูงสุดในรายวิชานั้นๆ เป็นต้นอย่างที่ทราบว่า TCAS ใช้ของ GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญกันมาก ควรศึกษาย้อนหลัง 1 – 2 ปี ข้อมูลในส่วนนี้ก็อาจพอจะช่วยเราได้บ้างครับ

5. สถิติคะแนนสูงสุด – ต่ำสุดของย้อนหลัง 

‘‘พิจารณาที่ค่าคะแนนต่ำสุดเป็นหลัก’’ (โดยเฉพาะรอบที่ 4 Admission) เพราะเป็นค่าที่บอกเราได้อย่างคร่าวๆว่า จะต้องทำคะแนนให้ได้อย่างน้อยที่สุดเท่าไหร่จึงจะสอบติด แต่น้องๆต้องศึกษาให้ดีนะครับ เพราะถ้าปีนี้เปลี่ยนแนวหรือเกณฑ์การคัดเลือกไปมาก ข้อมูลส่วนนี้อาจช่วยเราได้ไม่มากนัก

นำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกัน

ข้อมูลที่ยกตัวอย่างมาก็พอจะเป็นแนวทางให้ได้คิดประกอบการตัดสินใจในการเลือกได้ระดับหนึ่ง แต่น้องๆ ควรศึกษาข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมด้วยเพราะในแต่ละโครงการหรือรอบที่เปิดรับอาจมีปัจจัยอื่นๆที่แตกต่างกันออกไป นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าจะเลือกคณะอย่างไรให้ตัวเองมีโอกาสสอบติดในคณะที่เราคาดหวังมากที่สุด ถ้ามีการจัดอันดับในตัวเลือกด้วยแล้วยิ่งต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจ

แต่มีอยู่วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเลือกแล้วมีโอกาสใกล้เคียงกับการสอบติดมากที่สุด นั่นคือ ‘‘ต้องทำคะแนนให้ได้มากที่สุดเข้าไว้’’ ยิ่งมากยิ่งดีครับ เพราะปัจจัยอื่นๆเราไม่สามารถควบคุมมันได้เป็นเพียงการคาดเดาและวิเคราะห์เท่านั้น แต่การทำคะแนนสอบมันอยู่ในกำมือของเราและเราเท่านั้นครับที่จะกำหนดมันได้ครับ

#DEK62 #เด็กซิ่ว #TCAS62 #เลือกคณะ

Chill Chills

Chill Chills

Related post