เนื่องจากนโยบายของประเทศไทยที่คาดหวังจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) สถาบันการศึกษาในประเทศยังผลิตวิศวกรในแต่ละปีได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมมือกับ โรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ เปิดสาขาวิศวกรรมอากาศยาน หลักสูตรนานาชาติขึ้น วิศวะฯ ที่นี่น้องๆ จะได้เรียนเน้นในเรื่องของการออกแบบ การวิเคราะห์ รวมไปถึงกระบวนการผลิตเครื่องบิน
ในปีแรก นักศึกษาจะได้เรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อเป็นการปูพื้นให้แน่น พอขึ้นปีสอง จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมอากาศยาน เช่น โครงสร้างและการทำงานของเครื่องบิน ทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ การออกแบบเครื่องบินผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบเครื่องยนต์ ไฮดรอลิกส์ และไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนในปี 3 และปี 4 จะเน้นการออกแบบพร้อมศึกษารายละเอียดเครื่องบินจริงๆ รวมถึงทำโครงงานวิศวกรรม และออกสหกิจศึกษา นักศึกษาจะมีโอกาสไปเรียนที่โรงเรียนนายเรืออากาศซึ่งมีชื่อเสียงด้าน การสร้างนักบินและการผลิตช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งที่นี่มีอุปกรณ์ เครื่องมือในการเรียนการสอนที่ครบครัน นอกจากโรงเรียนนายเรืออากาศแล้ว จุฬาฯ ยังมีความร่วมมือกับองค์กรระดับโลกอย่างนาซ่า (NASA) ซึ่งจะส่งวิทยากรมาให้ความรู้แก่นักศึกษาด้วย ขณะเดียวกันนักศึกษาก็จะได้ไปดูงานต่างประเทศอย่างอินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้วิธีการจัดการในหลายรูปแบบ